อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปิน ผู้หยิบเอาวัตถุไร้ค่าธรรมดาสามัญ มาทำงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอนที่ผ่านมา เราเล่าถึงนิทรรศการและอีเวนต์ทางศิลปะติดๆ กันมาแล้ว ตอนนี้ก็ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องราวของศิลปินคนสำคัญผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการศิลปะร่วมสมัยอีกคนกันบ้าง ตามกิจวัตร ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

มิเกลันเจโล พิสโตเล็ตโต (Michelangelo Pistoletto)

ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินคนสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera)* หรือ Poor Art (ศิลปะอนาถา) ผลงานของเขาส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการสะท้อนความเป็นมนุษย์ และหลอมรวมศิลปะเข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน

ถึงแม้เขาจะฝึกฝนเล่าเรียนเทคนิคการวาดภาพแบบคลาสสิคมาเป็นอย่างดีจากสถาบันศิลปะ แต่เขาก็มีความสนใจในแนวคิดเกี่ยวกับการใช้วัตถุแปลกใหม่ในการทำงานศิลปะเป็นอย่างมาก

ในช่วงแรกของอาชีพการทำงานศิลปะ เขาวาดภาพเหมือนของตัวเองและบุคคลต่างๆ ลงบนวัสดุพื้นผิวมันวาว ต่อมาเขาผสมผสานภาพถ่ายเข้ากับการวาดภาพ ด้วยการคอลลาจ (ปะติด) ภาพถ่ายของคน หรือใช้เทคนิคซิลก์สกรีน พิมพ์ภาพคนลงบนวัสดุผิวมันวาวจนสะท้อนเงาได้เหมือนกระจกเงา

หรือแม้แต่ใช้กระจกเงาจริงๆ มาทำงาน จนทำให้ผู้ชมที่ดูอยู่ รู้สึกราวกับว่าตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในผลงานศิลปะได้ก็ปาน

Tre ragazze alla balconata (Three Girls on a Balcony) (1962–1964), ภาพวาดคนบนแผ่นขัดผิวจนมีความเงาเหมือนกระจก, ภาพจาก https://goo.gl/iBia7Y

ด้วยการใช้กระจกเงาเป็นสื่อในการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพของร่างกายมนุษย์และผู้ชมที่จ้องมองมัน พิสโตเล็ตโตสร้างบทสนทนาระหว่างศิลปะและผู้ชมอย่างฉับพลัน โดยปราศจากอคติใดๆ

เขาไม่เพียงประสบความสำเร็จในการหลอมรวมภาพของผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะของเขา หากแต่ยังปล่อยงานศิลปะเหล่านั้นให้ปรากฏตัว และค่อยๆ มีชีวิตขึ้นมาจากความช่วยเหลือของผู้ชมและผู้คนรอบข้าง

หรือผลงาน Quadro da pranzo (Oggetti in meno) (Lunch painting [Minus objects]) (1965), ประติมากรรมที่ทำจากโครงสร้างไม้ที่ดูเหมือนไม้ขึงเฟรมผ้าใบวาดภาพ โดยต่อกันเป็นรูปโต๊ะและเก้าอี้สองตัวอย่างง่ายๆ และวางชิดติดผนังให้ดูเหมือนเป็นข้างหลังภาพวาดยังไงยังงั้น

Quadro da pranzo (Oggetti in meno) (Lunch painting [Minus objects]) (1965), ภาพจาก https://goo.gl/Psab5b
ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักที่สุดของพิสโตเล็ตโต คือ Venus of the Rags (1967, 1974) ประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยรูปสลักหินอ่อนเทพีวีนัสที่ยืนหันหลังให้ผู้ชมและจ้องมองไปยังกองผ้าขี้ริ้วและเสื้อผ้าเก่าเหลือใช้กองพะเนินเทินทึก

ความขัดแย้งระหว่างวัตถุสองประเภทที่ถูกจับมาวางด้วยกันนี้ กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามอย่างมากเกี่ยวกับการจับคู่ของสิ่งที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

Venus of the Rags (1967, 1974), ประติมากรรมหินอ่อน กับ ผ้าขี้ริ้ว และเสื้อผ้าเหลือใช้, ภาพจาก https://goo.gl/HQYgG9

ไม่ว่าจะเป็นความคลาสสิคกับความร่วมสมัย, รูปสลักวีนัสสีเดียวกับผ้าขี้ริ้วหลากสีสัน, วัสดุแข็งอย่างหินอ่อนกับวัสดุอ่อนนุ่มอย่างผ้าขี้ริ้ว, สิ่งของล้ำค่ากับของสิ่งไร้ค่า, รสนิยมอันเลิศล้ำกับความต้อยต่ำธรรมดา

ด้วยการใช้รูปสลักหินอ่อนของเทพีวีนัสที่สร้างขึ้นตามแบบแผนดั้งเดิม ที่อาจจะดูเป็นการแสดงคารวะต่อประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของโรมันโบราณ

แต่กลับถูกวางหันหน้าไปหากองผ้าขี้ริ้วธรรมดาที่ศิลปินใช้ในสตูดิโอ ด้วยการทำเช่นนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ชมมองไม่เห็นใบหน้าของเทพีวีนัส หากแต่ยังแสดงนัยยะถึงการที่ศิลปะชั้นสูงตามขนบถูกบดบังโดยสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่า

สีสันอันฉูดฉาดบาดตาของกองผ้าขี้ริ้วยังแสดงนัยยะถึงการแสดงการคารวะต่อการใช้แรงงานซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในกระบวนการสร้างสรรค์ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าเทพีวีนัสด้วยซ้ำไป

ผลงานของพิสโตเล็ตโตชิ้นนี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความพยายามในการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวิถีชีวิต

รวมถึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางวัฒนธรรมของรัฐ และพยายามในการทำลายความเป็นธุรกิจการค้าของศิลปะ ด้วยการใช้ส่วนผสมอันผิดแปลกจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ ในการสร้างงานศิลปะขึ้นมา

หรือผลงานที่หยิบเอาแรงบันดาลใจจากข้าวของธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างเตียง, ประตู, ชั้นหนังสือ ฯลฯ มาแปรสภาพให้กลายเป็นงานประติมากรรม และตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า Bed, Door, Bookcase เป็นอาทิ

Door (1976), ภาพจาก, https://goo.gl/e96cYo
Bed (1976), ภาพจาก, https://goo.gl/e96cYo

ในช่วงทศวรรษที่ 80s เขาหันมาทำงานศิลปะแสดงสด ที่เป็นการร่วมมือของคนในหลากหลายวงการ และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานเหล่านั้นตีความและมีส่วนในการสร้างสรรค์ฉากและการแสดงในแบบของตัวเองขึ้นมาได้ อาทิ ผลงาน Year One (1981) เป็นต้น

Year One (1981), ภาพจาก https://goo.gl/A1jJ4U

ในฐานะศิลปินในกระแสเคลื่อนไหว อาร์เต้ โพเวร่า พิสโตเล็ตโต ช่วยกำหนดเป้าหมายและวางรากฐานของแนวทางอันเฉพาะตัวของกลุ่ม ในการพยายามลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิต

เขาปฏิเสธวิธีการทำงานศิลปะตามขนบเดิมๆ ด้วยการสร้างผลงานศิลปะรูปแบบแปลกใหม่หลากหลาย และหลีกเลี่ยงการสร้างงานศิลปะจากวัตถุที่ตอบสนองความงามทางสายตาแต่เพียงอย่างเดียว

การนำเสนอวัสดุอันไร้ค่า ธรรมดาสามัญในงานจิตรกรรม, ประติมากรรม และงานศิลปะจัดวางของพิสโตเล็ตโตนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ไม่เพียงเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมของเขาเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับงานศิลปะของเขาได้อย่างง่ายดายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ศิลปะกับผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ด้วยการนำพาศิลปะเข้าไปหาชีวิต และนำพาชีวิตเข้าไปหาศิลปะนั่นเอง

เขาก้าวข้ามเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ และจับมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะจัดวาง (Installation), ดนตรี หรือแม้แต่การละคร เขายังออกแบบผลงานศิลปะให้ศิลปินคนอื่นเป็นคนทำขึ้นมาแทนตัวเขา หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงาน เพื่อต่อต้านขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของศิลปะ (และความเป็นอภิสิทธิ์ในการสร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวของศิลปิน)

อีกทั้งเขายังมุ่งเน้นในการแสดงงานนอกพื้นที่ทางศิลปะตามแบบแผน อย่างหอศิลป์, พิพิธภัณฑ์ หรือโรงละคร รวมถึงผลักดันให้ศิลปะเข้าไปมีบทบาทในสังคมโลก ผ่านโครงการต่างๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ, การเมือง รวมถึงสิ่งแวดล้อม

ดังเช่นในช่วงสหัสวรรษใหม่ ที่เขาทำโครงการศิลปะอันสุดแสนท้าทายอย่าง The Third Paradise โดยเป็นโครงการศิลปะในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่ดัดแปลงจากสัญลักษณ์อินฟินิตี้ ให้เป็นสามเกลียว ซึ่งเป็นตัวแทนของความเชื่อของเขาที่ว่า มนุษย์ได้ดำรงชีวิตผ่านสรวงสวรรค์มาแล้วสองยุค หนึ่ง คือยุคที่มนุษย์อาศัยอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และสอง คือยุคที่มนุษย์ใช้ธรรมชาติและเทคโนโลยีในการสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาใหม่ ในขณะที่สวรรค์แห่งที่สามของพิสโตเล็ตโต คือการที่มนุษย์หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสมดุลของตนกับธรรมชาติ

The Third Paradise in the woodland of Francesco di Assisi (2010) ภาพจาก https://goo.gl/YJ2q8a

เขาสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้อย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบหลากช่วงเวลา แต่ครั้งที่ใหญ่โตมโหฬารที่สุดคือ The Third Paradise in the woodland of Francesco di Assisi (2010) ซึ่งเป็นศิลปะแลนด์อาร์ตที่ประกอบด้วยต้นมะกอก 121 ต้น ปลูกเรียงกันเป็นสัญลักษณ์ที่ว่า

ผลงานชุดนี้ของเขากระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง และโครงการนี้ก็ยังคงถูกทำต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปัจจุบัน

มรดกทางความคิดของมิเกลันเจโล พิสโตเล็ตโต ขยายขอบเขตของศิลปะให้กว้างไกลยิ่งขึ้น และเปลี่ยนการรับรู้ของผู้ชมที่มีต่อศิลปะไปอย่างสิ้นเชิง

ผลงานของเขาส่งแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งในแง่ของการพลิกความคาดหมายและตั้งคำถามใหม่ๆ ต่อความเป็นศิลปะ

ไม่ใช่แค่เพียงคำถามที่ว่า ศิลปะคืออะไร?

หากแต่ยังถามต่อไปว่า ศิลปะสามารถอยู่ที่ไหน?

และใครสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะได้บ้าง?

รวมถึงคำถามที่ว่า ศิลปะจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิต, สังคม หรือแม้แต่โลกของเราได้หรือไม่?

ในปัจจุบันเขาก็ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องและเต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดหย่อน ถึงแม้ปัจจุบันเขาจะมีอายุ 84 ปีแล้วก็ตาม

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาร์เต้ โพเวร่า ได้ที่ https://goo.gl/HB6YE7