ฐากูร บุนปาน : กระแสออเจ้าไม่ใช่เป้าหมายหลัก ?

นำเอาประสบการณ์จากการเดินในงานงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก่อนจะขายของ

ข้อสังเกตประการหนึ่งสำหรับบู๊ธมติชนเองก็คือ อายุเฉลี่ยของท่านผู้เข้าชมหนังสือมติชนปีนี้ “ลดลง” กว่าปีที่ผ่านๆ มา

จากรุ่นราวคราวเดียวกันหรือ 60-50-40 ส่วนใหญ่ลงมาเหลือประมาณ 30 ต้นๆ 20 ปลายๆ

และไม่ได้เข้ามาชมหนังสือเพราะกระแส “ออเจ้า” ด้วย

แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่หนังสือวรรณกรรมแปล

ระดับ The Glass Palace ของ Amitav Gosh หรือ A strangeness in my mind ของออร์ฮาน ปามุข นั่นเลย

สอบถามเพื่อนฝูงที่ผลิตหนังสือที่คล้ายคลึงกันดู (แปลว่าไม่ได้ผลิตหนังสือวัยรุ่นน่ะนะครับ) ก็ได้รับคำสนองในทำนองเดียวกัน

ถามว่ารู้สึกอย่างไร

ก็ต้องบอกว่าดีใจสิครับ

มีลูกค้ารุ่นใหม่ มีคนสนใจหนังสือที่เป็นสาระ

คนทำหนังสือที่ไหนจะไม่ยินดี

ยืนดูพฤติกรรมของผู้ซื้ออยู่ครึ่งค่อนวัน แล้วก็เขินนิดๆ

เพราะตอนนี้ The Glass Palace ของ Amitav Gosh กับ A strangeness in my mind ของปามุข ยังกองอยู่บนโต๊ะข้างหัวเตียง

ไม่กล้าอ่าน เพราะต้องตั้งใจมากๆ

เลยหยิบ I don”t kill my husband นวนิยายจีนแปลในพากย์ไทยว่า “อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา” ขึ้นมาอ่านก่อน

ที่ไหนได้

อ่านไปแล้ววางไม่ลง

จากชื่อเรื่องที่นึกว่าจะเป็นนิยายรักๆ ใคร่ๆ

อ่านไปๆ กลายเป็นนิยายการเมือง นิยายเสียดสีสังคม นิยายยั่วล้อระบบ (โดยเฉพาะรัฐและราชการ ที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นสังคมจีน เพราะเรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้นที่ไหนๆ ก็ได้)

ทั้งจิกทั้งกัดอำนาจและสันดานมนุษย์ได้น่ารักมาก

อ่านไปอมยิ้มไป แล้วก็ค่อยๆ ขบประเด็นไป

สนุกครับ สนุกจริง

ที่กองอยู่ข้างวรรณกรรม คือชุดประวัติศาสตร์ที่คนสำนักพิมพ์เขาภูมิใจเสนอในงานนี้

สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (ช่วงรัชกาลที่ 6) ของท่านหญิงพูน นี่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

ยิ่งได้อ่านควบกับสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (ช่วงรัชกาลที่ 7) ของท่านเดียวกัน

และประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านเอง (รวมถึงเล่มที่เป็นคำอธิบายของคุณวรชาติ มีชูบท ด้วย)

ประวัติศาสตร์เลือนรางบางส่วนก็ชัดเจนขึ้น

และที่อ่านแล้วจะวางไม่ลงอีกเหมือนกัน คือ อยากลืมกลับจำ

บันทึกความทรงจำของคุณจีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรสาวคนโตของจอมพล ป.

จริงๆ แล้วเล่มนี้สำนักพิมพ์มติชนเขาตั้งใจทำเป็น “ไตรภาค”

คือเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าจากปากคำของทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทายาทพระยาพหลพลพยุหเสนา

และทายาทท่านปรีดี พนมยงค์

แค่ฟังแนวคิดก็ “ฟินเฟ่อร์” แล้ว

ออกมาจริงครบชุดเมื่อไหร่ 2475 คงกระจ่างขึ้นอีกหลายมุม

ส่วนแฟนเก่าเล่ายี่ห้ออย่าง อเมริกาเฟิร์สต์ รบเถิดอรชุน ภาคต่อเนื่องของ ในไวมาร์เยอรมัน ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ของคุณภาณุ ตรัยเวช นั้น แอบอ่านเจาะเป็นบทๆ ไปก่อนแล้ว

อ่านถึงภาค “บรอนแดง” แล้วก็นึกถึงหนังสือ “เพชฌฆาตติดปีก” สำนวนแปลของคุณยิ่งยศ มณฑลผลิน เมื่อสมัยสัก 40 กว่าปีมาแล้ว

เคยมีอยู่ แต่สาบสูญไปกับสายน้ำรอบไหนจำไม่ได้

ท่านผู้รู้ผู้รักหนังสือท่านไหนช่วยชี้ช่องให้ว่าจะไปหามาอ่านได้จากไหน ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

สำหรับ การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ที่ขอหยิบขอยืมเขามาอ่านเพื่อทบทวนความรู้เรื่องออเจ้า ก็จบเล่มไปแล้ว (เพราะเล่มเล็ก-ฮา)

ว่าจะไปหา การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เหมือนกันมาอ่านต่อ

จะได้ต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ

ที่จริงในงานเขายังมีหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย

บรรยายกันสามวันสามคืนไม่จบ

สรุปว่ารักชอบเรื่องไหนก็ไปค้นหากันได้ครับ

จะที่มติชนหรือที่สำนักพิมพ์อื่นไหนก็ได้ทั้งสิ้น

เริ่มที่อ่านนี่แหละดีหมด

จะได้ไม่ถูกคนหลอก (อยู่เรื่อย)

หึหึ