ศัลยา ประชาชาติ : อนุทิน แสง-เงา คสช. เกมเสี่ยงพรรคตัวแปรแรง ในปมรัฐสภาใหม่ร้อนไม่หยุด

กว่า 1 ทศวรรษ ที่พรรคภูมิใจไทยอยู่ในสมรภูมิการเมือง จากกลุ่มการเมืองจอม “พลิกขั้ว” ภายใต้ชื่อ “เพื่อนเนวิน” แยกตัวจากพรรคพลังประชาชน แล้วมาผนึกกำลังร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จุติพรรคภูมิใจไทยขึ้นมาในปี 2551

จากวันนั้นถึงวันนี้พรรคภูมิใจไทยยังคงเป็น “หมากสำคัญ” และ “ตัวแปร” ทางการเมือง

ตลอด 1 ทศวรรษ ภูมิใจไทยประกาศตัวเป็นมิตรกับทุกพรรค – ไม่เป็น “ศัตรู” กับพรรคไหน หากขั้ว-ข้างไหนได้พรรคภูมิใจไทยเป็นพันธมิตรในอนาคตย่อมหมายถึงเป็นรัฐบาลในภายภาคหน้า

 

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าภูมิใจไทยเอ่ยถึงอนาคต-ทศวรรษใหม่ของพรรค ว่า “ภูมิใจไทยตั้งมา 10 ปีแล้ว อยู่ในระบบการเมืองช่วงที่มีความขัดแย้ง ยังไม่มีความเสถียรในทางการเมือง แต่สามารถยืนหยัดเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยังมีความมั่นคงอยู่”

“เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎกติกาใหม่ ภูมิใจไทยไม่ได้รับความเสียหายหรือความเสียเปรียบอะไร จากกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำหากดูภาพรวมแล้วเป็นคุณต่อพรรคภูมิใจไทยด้วยซ้ำ เนื่องจากคะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนมาใช้สิทธิ์สามารถคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อได้ด้วย”

“เชื่อได้ว่าสู้อย่างเต็มที่ แต่หากมีบางจุดที่เราไม่สามารถชนะได้ แต่ยังได้คะแนนนิยมจากบุคคลคนนั้นเข้ามาคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อได้”

“ไม่ได้ที่ 1 ที่ 2 ก็ได้ที่ 5 ก็ได้ที่ 10 ก็ได้ ขอให้ได้มีคะแนน พรรคต้องส่งผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อม ไม่ใช่หัวหน้าพรรคอยากจะส่งใครลงก็ลง ผู้สมัครจะต้องผ่านการคัดเลือกในพื้นที่ในระบบไพรมารี ไม่ใช่เอาเฉพาะคนที่ใช้อิทธิพลในการบังคับเพื่อให้ได้คะแนนแล้วพรรคจะส่ง…ไม่ใช่ พรรคจะต้องดูคุณสมบัติทั้งหมด”

เขาถือคติเลือกคนที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎรของพรรคว่า ไม่เอาคนเลวเพราะปกครองยาก

“ผมมีเกียรติยศของผม ต้องเลือกคนที่มีประวัติที่ขาวสะอาด ไม่มีประวัติที่เป็นคนทำผิดกฎหมาย เอาเปรียบคน ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ทุจริตเข้ามาเป็น ส.ส. ของพรรคเป็นอันขาด ไม่ต้องกลัวว่าผมพูดเพราะๆ ให้ฟัง… ไม่ใช่ คนเลวๆ เข้ามาผมปกครองยาก ผมอยากอยู่กับคนดีๆ คนที่มีความตั้งใจทุ่มเทจริงๆ ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก”

 

“อนุทิน” นับนิ้วคะเนตัวเลข ส.ส. ที่พรรคพึงได้จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกราวหนึ่งปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่าจำนวนที่นั่งที่เคยได้เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 คือ มีตัวเลข 34 ที่นั่งเป็นตัวการันตีขั้นต่ำ

“การเลือกตั้งรอบนี้ไม่มีใครเดินตัวเปล่ากลับบ้าน ความขยันทุกเก้าเดินก็จะมีคะแนนเข้ามาในพรรค ถ้าไม่ชนะในเขตก็ยังได้คะแนนบัญชีรายชื่อ ดังนั้น ทุกคนมีความสำคัญหมด ถือว่าเป็นประโยชน์กับพรรคเมื่อเทียบกับกติกาในรัฐธรรมนูญ 2550” เขากล่าวด้วยความมั่นใจ

ท่ามกลางข่าวลือถึง คสช. ตั้งพรรคทหารสืบทอดอำนาจและลงเลือกตั้งแข่งกับพรรคการเมืองในระบบ พรรคภูมิใจไทยที่ถูกมองว่าเป็น “เด็กดี” ไม่มีประวัติทำตัวกระด้างกระเดื่องให้เป็นที่รำคาญใจของ คสช.

ประกอบกับ “อนุทิน” และผู้มีบารมีเบื้องหลังภูมิใจไทยที่ชื่อ “เนวิน ชิดชอบ” ยังสานต่อความสัมพันธ์กับขุนทหารบูรพาพยัคฆ์ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นพี่ใหญ่ ตั้งแต่ครั้งพลิกขั้วการเมืองปี 2551

แต่เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ…จะเลือกแตะมือกับขั้วอำนาจทหารเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ และโอกาสที่จะสนับสนุนนายกฯ คนนอกเป็นไปได้แค่ไหน?

อนุทินตอบทันทีว่า “ทุกอย่างอยู่ที่ผลของการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคทหารหรอก ทุกพรรคเข้ามาต้องผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เกิดบุคคลในรัฐบาลนี้ หรือ คสช. ลงเลือกตั้งผ่านพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามา จะมาบอกว่าคนนี้คนในคนนอกได้ยังไง”

“แต่ผมก็ต้องดูว่าผมชนะเขาเยอะไหม ถ้าผมชนะเขาเยอะก็ต้องคิดอย่างหนึ่ง ผมเป็นผู้เลือกบ้างสิ สมัยก่อนผมเป็นผู้ถูกเลือกมาเยอะแล้วนิ สิ่งที่ผมพูดได้อย่างเดียวคือบ้านเมืองคือสิ่งสำคัญ เอาบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง”

ขณะที่ความสัมพันธ์ของเขากับ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย “อนุทิน” ก็ยังคงรักษาระยะความใกล้ชิด ไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่ถึงขั้น “แตะมือ” เป็นพันธมิตรหลังเลือกตั้ง เพราะเขาบอกว่าดูที่ “คะแนนเสียงหน้างาน”

“พรรคภูมิใจไทยไม่เคยแตะมือใคร สิ่งที่เป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือผลของการเลือกตั้ง มาพูดตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์ พูดโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าผลของการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ใครจะมาที่หนึ่งก็ยังไม่รู้ ใครจะมาที่สอง ที่สามก็ยังไม่รู้”

ดังนั้น “อนุทิน” และพรรคภูมิใจไทยยังเป็นตัวแปรที่ร้อนแรงในสมรภูมิการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงศึกเลือกตั้ง 2562 ปัญหาที่ระคนในใจของ “อนุทิน” คือปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 123 ไร่ ย่านเกียกกาย ที่บริษัท “ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)” ประมูลงานได้ในปี 2556 ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เวลานี้ขยายสัญญาการก่อสร้างไปแล้ว 4 ครั้ง ล่าช้ากว่ากำหนด-บานปลายไปหลายปี จากเดิมที่จะต้องเสร็จตามสัญญาฉบับแรกจากที่เริ่มงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 จะแล้วเสร็จในปี 2559

หากการต่อสัญญาครั้งล่าสุดขยายไปจนถึงเดือนธันวาคม 2562 ท่ามกลางเสียงครหาว่า “อนุทิน” ใช้อำนาจ-อิทธิพลขยายสัญญาการก่อสร้าง “อนุทิน” ต้องเดินสายตอบคำถามถี่ยิบ

ครั้งหนึ่งได้ตอบกลับเสียงที่พาดพิง ในงานเสวนา “การตรวจสอบปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ กรณีไอที-รัฐสภาแห่งใหม่” ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า

“การขยายระยะเวลาก่อสร้างให้กับบริษัทซิโน-ไทยฯ นั้น สาเหตุเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ซึ่งตามสัญญาต้องส่งมอบให้ในปี 2557 แต่ความจริงสภาส่งมอบพื้นที่ครบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ดังนั้น เงื่อนไขต้องสร้างเสร็จภายใน 900 วัน เสร็จแน่นอนแต่ต้องนับแต่ส่งมอบพื้นที่ครบแล้ว”

“ข้อสงสัยว่าบริษัททราบว่าการก่อสร้างครั้งนี้จะมีปัญหาแต่ทำไมยังรับก่อสร้างนั้น ผมอยากจะบอกว่า บริษัทถือคติเอากล่องไม่เอาเงิน เอาศักดิ์ศรี เอาความภาคภูมิใจ จะได้เขียนลงในประวัติบริษัทว่าเคยก่อสร้างรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ ด้วยเกียรติของผม ของคุณพ่อผม (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้ก่อตั้งบริษัท) มีเกียรติเพียงพอที่จะรับประกันว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มีความโปร่งใส”

ชีวิต “อนุทิน” ทั้งเกมเลือกตั้ง-งานธุรกิจก่อสร้าง ยังคงไม่เสถียร ทุกอย่างจึงต้องขึ้นอยู่กับ “หน้างาน”