ในประเทศ : คสช. เมินคนอยากเลือกตั้ง ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิบัติได้ “แยกกองทัพออกจาก คสช.”

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เคลื่อนพลออกจากรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายังกองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนิน แม้เป็นระยะทางไม่กี่กิโลเมตร

แต่ก็สร้าง “แรงตึงเครียด” ไม่น้อย ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอาจเกิดการ “เผชิญหน้า” กัน ที่มีเรื่องของ “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการถูก “ปลุกใจ” ของผู้ชุมนุม ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มี “ความกดดัน” ในการปฏิบัติหน้าที่เพราะได้รับคำสั่งมาจากหน่วยเหนือมา

ทั้งนี้ จุดที่ “ตึงเครียด” อยู่ที่แยก จปร. ถือเป็นด่านสุดท้าย ก่อนถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบกอีกไม่กี่เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตั้งรั้วกั้นเอาไว้ แต่ได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนจะนำรั้วออก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าห้ามและล็อกตัวไว้ ทำให้เกือบเกิดเหตุปะทะที่อาจบานปลายได้

สุดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบกได้ ซึ่งแกนนำได้ปราศรัยข้อเสนอ 3 ข้อ และมวลชนได้พับแผ่นกระดาษเป็นจรวดที่ตีพิมพ์ข้อเสนอผ่านรั้วแดงกำแพงเหลืองเข้าไปและการชุมนุมได้ยุติลง โดยแกนนำประกาศชุมนุมใหญ่อีกครั้งเดือนพฤษภาคมนี้ ในโอกาสครบรอบ 4 ปี คสช.

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้แก่

1. ให้เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561

2. ยุบ คสช. แล้วให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นเพียง “รัฐบาลรักษาการ” ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง

และ 3. กองทัพต้องยกเลิกการสนับสนุน คสช. เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง

 

จากข้อเสนอ 3 ข้อ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่

หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่ “เป็นไปไม่ได้” และ “ไร้ทิศทาง”

หรือแค่ต้องการ “กวนประสาท” คสช. เท่านั้น

ซึ่งทำให้ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจง

เพราะเหตุผลในการเคลื่อนพล หากไม่สมเหตุสมผลก็จะไม่สามารถสร้าง “แรงกดดัน” ไปยังรัฐบาลได้ และไม่สามารถ “ปลุกระดม” ได้

โดยข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การให้ “กองทัพ” แยกออกจาก “คสช.” ทำให้เกิดการตีความว่าเป็นการ “เสี้ยม” ให้เกิดการ “รัฐประหารซ้อน” หรือไม่?

ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ต่างจาก “กปปส.” ที่ปูทางให้ทหารออกมา “รัฐประหาร” แบบปี 2557 มาแล้ว แล้วจะเป็น “ประชาธิปไตย” ได้อย่างไร ตามที่กลุ่มประกาศมาโดยตลอด

และมีความย้อนแย้งในตัวเองหรือไม่

 

โดยในข้อเสนอที่ 1 ที่ให้จัดการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ ก่อนจะมีการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปอีก 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนไป 3 เดือน เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนหน้านี้

นายรังสิมันต์ โรม ชี้แจงว่า เป็นการทวงสัญญาที่ คสช. ให้ไว้ ส่วนกรณีที่ คสช. เลื่อนออกไปอีก 3 เดือน ที่มองว่าแค่ 90 วันเท่านั้น ปัญหาไม่ใช่ คสช. จะเลื่อนการเลือกตั้งไปเมื่อไหร่

แต่ปัญหาคือ ขนาด คสช. สัญญาอย่างจริงจังว่าการเลือกตั้งจะมีเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรากฏว่าเข้าปีใหม่ 2560 มาไม่นาน การเลือกตั้งกลับไม่มีและถูกเลื่อนออกไป โดยกลุ่มคนที่เป็นเพียงลูกกระจ๊อกของ คสช. อย่าง สนช.

ดังนั้น อะไรคือหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะไม่ถูกเลื่อนอีก

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาตอบโต้กรณีการให้ สนช. กลับไปพิจารณาว่าจะนำ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เพราะมีความเชื่อว่าหากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะกระทบโรดแม็ปการเลือกตั้งที่อาจต้องเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไปอีก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบโรดแม็ปและต้องการให้พิจารณาให้เรียบร้อยและไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ก่อนนำขขึ้นทูลเกล้าฯ

พร้อมกับตอบโต้ว่า สนช. กับกรรมการร่าง รธน. ไม่มีเรื่อง “ทฤษฎีสมคบคิด” อีกทั้งมองว่าเป็นเรื่องดีที่มีความขัดแย้งกัน ไม่ใช่เห็นคล้อยกันไปหมดทุกเรื่อง

 

สําหรับข้อเสนอที่ 2 คือ ยุบ คสช. ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ

นายรังสิมันต์ โรม ชี้แจงว่า ให้ดูที่รัฐธรรมนูญ ม.169 ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.265 เรื่องนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ คสช. แสดงสปิริต ลาออกยกชุด เพราะเมื่อลาออกแล้ว คสช. จะแต่งตั้งใครไม่ได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ว่าให้เฉพาะชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

อีกแนวทางคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีการไม่ยุ่งยาก เพราะลูกกระจ๊อก คสช. สามารถจัดให้ตามใบสั่งอยู่แล้ว

เรื่องการให้ “รัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ สลายตัวเป็น “รัฐบาลรักษาการ” นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้ใดๆ เพิ่มเติมอีก หลังชี้แจงว่าต้องเป็นไปตาม ม.265 ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน

 

ซึ่ง 2 ข้อเสนอ ก็ไม่มีน้ำหนักเท่าข้อเสนอล่าสุด คือ ให้แยก “กองทัพ” ออกจาก “คสช.” ที่เรียกแขกได้พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะข้อเสนอนี้มีมาตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่เสนอให้ “กองทัพ” แยกตัวออกจาก “รัฐบาล” เพราะไม่มี “ผบ.เหล่าทัพ” คนไหนเป็น “คณะรัฐมนตรี” แต่ข้อเสนอของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปจับประเด็นอีกมุมเพราะ “ผบ.เหล่าทัพ” เป็น “สมาชิก คสช.” ด้วยนั่นเอง

ส่วนจะเป็นการ “เสี้ยม” กองทัพ หรือเป็นเพียงข้อเสนอที่ “กวนใจ” คสช. นั้น?

นายรังสิมันต์ โรม ได้ออกมาชี้แจงว่า แม้ตนจะกล่าวโจมตีกองทัพหลายครั้ง เพราะหวังให้กองทัพทำหน้าที่ตนเองเสียที ให้สมกับเป็นลูกหลานคนไทยที่พึงทำหน้าที่ปกป้อง ไม่ใช่ปกครอง

ดังนั้น หากกองทัพตระหนักถึงการที่คนไม่กี่คนใช้สถาบันกองทัพในการแสวงหาผลประโยชน์ ก็พึงหยุดการสนับสนุนนั้น และออกไปจากการเมืองเสีย

ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น คสช. ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะกองทัพนั้นเปรียบเหมือน “กองหนุน” สุดท้ายของ คสช. ที่ยังมีอยู่ ตนได้แต่หวังว่า กองทัพจะตัดสินใจถูกต้องเสียที

ข้อเสนอนี้ทำให้ พล.อ.ประวิตร สวมหมวก รมว.กลาโหม โต้กลับ “ไม่แยก เขาไม่แยกจากกันอยู่แล้ว ส่วนที่เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุน คสช. นั้น กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. อยู่แล้ว”

 

ต่อมา 25 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุไม่ถึง 1 วัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการชุมนุมว่าสร้างความวุ่นวาย และมองว่าจะยิ่งเข้มข้นถ้าไม่ทำตามข้อเสนอ และมองว่าสังคมห่วงภาพเก่าๆ กลับมา จึงขอทุกคนพิจารณาสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ พร้อมขู่หากวุ่นวายแล้วอะไรจะเป็นหลักประกันเลือกตั้งจะเรียบร้อย

ต่อมาอีก 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงด้วยตนเองว่า ไม่ให้ความสำคัญกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ และมีผู้สนับสนุนมาจากภายนอก มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ 100% แต่ก็มีผู้ที่บริสุทธิ์ พร้อมสั่งสืบเชิงลึกว่าพรรคไหนหนุนหลัง และห่วงเด็กๆ มีคดีติดตัว ถ้ามีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ อีกทั้งเกรงว่าจะมีม็อบชนม็อบ เพราะมีคนไม่เห็นด้วย กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แล้วจะกลับไปขัดแย้งอีก ขนาดมีคำสั่งขนาดนี้ยังฝ่าฝืนอยู่

แน่นอนว่า “เผือกร้อน” นี้ตกไปที่ “พรรค” ที่มี “แนวความคิด” คล้ายๆ กันทันที หรือเป็นพรรคที่เครือข่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้งให้การสนับสนุน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทุ่มน้ำหนักไปที่จะมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมา ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้

หลังการชุมนุมได้ไม่ถึง 1 วัน ก็มีการเผยแพร่ภาพและข้อความของฝ่ายที่ไม่พอใจกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมา เช่น โจมตีว่าเป็นการชุมนุมที่รับเงินค่าจ้างและมีข้าวฟรีให้กิน เป็นต้น

 

ที่ต้องจับตานับจากนี้คือ ระยะเวลาอีก 1 เดือน ก่อนเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ที่จะครบ 4 ปี คสช. แน่นอนหากว่าสามารถ “ปลุกมวลชน” ให้มาร่วมได้มากขึ้น เพราะถือเป็นช่วงเดือนแห่งการ “รำลึก” กลุ่มต้าน คสช. และให้คนที่เริ่ม “เบื่อ” ได้ทบทวนสิ่งต่างๆ

แต่ คสช. ก็เตรียมรับมือไว้แล้ว ไม่ใช่แค่เพียงด้านความมั่นคง เพราะมีรายงานว่าจะมีการรวบรวมและจัดแสดงผลงานครบรอบ 4 ปี คสช. ขึ้นด้วย

และอย่าลืมว่า “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” เข้าสู่ระยะที่ 2-3-4 พอดี คือ การสร้างการรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคมปรองดอง 10 ข้อ อีกทั้งมีการสร้างการรับรู้-ปรับความคิด (Mindset) เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ผ่านทีมงานที่มีฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ทีมละ 7-12 คน รวมทั้งประเทศ 7,663 ทีม ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ สำนวนที่ว่า “แพ้ภัยตัวเอง” ยังคงใช้ได้ผล ทำให้รัฐบาลและ คสช. หวั่นไม่น้อย

เพราะหลายเรื่องที่ทำให้ คสช. ทรุด ล้วนมาจาก “คนกันเอง-คนใกล้ชิด” อีกทั้งมาจาก “ระบบราชการ” ที่มีข่าว “ทุจริต” ออกมาถี่ถึงขั้นจับไปตรงไหนก็เจอ “เนื้อร้าย” นี้

ระวัง จุดอ่อนนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขข้อ 4 โผล่มา!!