ทำความเข้าใจ “ทำไมฉีดวัคซีน(พิษสุนัขบ้า)แล้วไม่คุ้มโรค” ?

“ทำไมฉีดวัคซีนแล้วไม่คุ้มโรค”

รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) กล่าวว่า หมู่นี้เรื่องวัคซีนถูกพูดกันหนาหูโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าที่สร้างความตระหนกแก่สังคมไทย ซึ่งกำลังระแวงโรคร้ายแรงถึงตายนี้ และ “หมา” ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่ใกล้ชิดคนมากที่สุด ไฉนเล่า “วัคซีน” ที่เราใช้เพื่อฉีดป้องกันเพื่อทำให้หมาแมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ มีภูมิต้านทานคุ้มกันต่อโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้า กลับมามีปัญหาว่าเมื่อฉีดไปแล้วไม่สามารถกระตุ้นให้สัตว์ตัวนั้นๆ มีความคุ้มกันโรคร้ายนี้เพียงพอจนไม่ติดโรค การแพร่โรคจากสัตว์สู่คนจึงไม่เกิดขึ้นสมเจตนา แล้วทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ผมขอนำเสนอถึงสาเหตุที่จำแนกได้เป็นประเด็นใหญ่ๆคือ 1) วัคซีน 2) สัตว์ และ 3) คน ทั้ง 3 ประเด็นมีส่วนร่วมกันทำให้การฉีดวัคซีนไม่บังเกิดการคุ้มโรค

วัคซีน
1. วัคซีนปลอม คือ สารใดก็ไม่ทราบนำมาฉีดโดยบอกว่าเป็นวัคซีนถือเป็นการหลอกลวง ที่สำคัญไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์แม้แต่น้อย
2. วัคซีนเถื่อน คือ วัคซีนป้องกันโรคนั้นจริงๆ แต่ไม่ผ่านการรับรองหรือขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง จึงอาจให้ภูมิคุ้มกันก็ได้หรือไม่ ไม่มีใครรู้และรับรอง
3. วัคซีนหมดอายุ คือ วัคซีนป้องกันโรคนั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่หมดอายุการใช้งานตามที่ผู้ผลิตระบุไว้
4. วัคซีนเสื่อมสภาพ คือ วัคซีนจริงๆ แท้ๆ ถูกต้อง แต่เก็บรักษาไม่ถูกวิธี จึงเสื่อมสภาพลง เมื่อนำไปใช้จึงไม่เกิดผลคุ้มกันโรค วัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ต้องเก็บรักษาโดยแช่เย็น (4oC) ไม่ใช่แช่แข็ง (แช่ในช่องทำน้ำแข็ง) มันจะเสียคุณสมบัติถ้าไม่แช่เย็นทั้งขณะเก็บรักษาหรือขนส่ง หากไม่เย็นพอจะมีผลต่อคุณภาพวัคซีนนั้นๆ

สัตว์
1. สัตว์สมบูรณ์ สัตว์ที่มีสุขภาพร่างการที่แข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวงถึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ฉะนั้นสัตว์ป่วย อ่อนแอ ขาดอาหาร เครียด ร่างกายสัตว์จะสร้างความคุ้มกันต่อโรคจากวัคซีนได้น้อยหรือไม่ได้เลย
2. อายุสัตว์ ต้องฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ตามอายุที่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อระบุของการใช้วัคซีนนั้นๆ
โดยทั่วไปวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าจะกำหนดให้ฉีดแก่ลูกหมาเมื่ออายุ 3 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกเข็มเมื่ออายุครบ 1 ปี แต่ถ้าฉีดที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ต้องฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 3 เดือนแล้ว และซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุครบ 1 ปี จากนั้นต้องฉีดกระตุ้มภูมิคุ้มกันทุกๆปีตลอดไป พึงระลึกว่าหมาชรามีการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนักเช่นเดียวกับลูกหมาอายุน้อยๆ

คน
​ประเด็นนี้แหละสำคัญที่สุด ลองตามดู คนฉีด ใครฉีด ?

พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้ากำหนดให้สัตวแพทย์เป็นผู้ฉีด หรือเจ้าหน้าที่ที่ระบุเหตุ ที่ต้องกำหนดคนฉีดไว้ เพราะผู้ฉีดต้องมีความรู้ และสามารถให้การฉีดที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ทำ “การฉีด”

โดย 1. ฉีดตามข้อกำหนดของวัคซีนนั้นๆ ที่สำคัญ เช่น วัคซีนกำหนดให้ฉีดเข้ากล้าม แต่ดันไปฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จึงมีผลให้การคุ้มกันโรคได้ไม่ดี หรือไม่เกิด
2. ฉีดพลาด หรือฉีดไม่เข้า ไม่ใช่ว่าหมาแมว หนังเนียว แต่เป็นเพราะคนฉีดฉีดแทงเข็มทะลุเลยออกไป วัคซีนจึงไหลออกอีกด้าน เนื่องจากขาดทักษะ หรืออุบัติเหตุ
3. ขาดการประเมินสภาพสัตว์ว่าเหมาะสมแก่การฉีดวัคซีน เพราะขาดความรู้หรือละเลย เช่น ไม่ซักประวัติ ไม่ตรวจร่างกาย ไม่วัดไข้ ฯลฯ จึงไม่รู้ว่าสัตว์อยู่ในสภาพป่วย
คนเป็นเจ้าของ ต้องรับผิดชอบในการเลือกคนฉีดให้ถูกต้องเหมาะสม มีความรู้ เชื่อถือได้ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงจะถูกฝาถูกตัว พวกรถเร่ฉีดวัคซีนที่สวมรอยต้องหลีกเลี่ยง
คนเป็นเจ้าของต้องดูแลสัตว์หลังได้รับวัคซีนแล้ว ให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ มิใช่ฉีดแล้วก็คิดว่ามีความคุ้มกันโรคปั๊ป หาเป็นเช่นนั้นไม่ ร่างกายสัตว์ต้องใช้เวลาอีก 7 ถึง 14 วันในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ฉะนั้นสุขภาพสัตว์จะต้องไร้โรคภัย มีอาหารการกินสมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันจึงจะเกิดขึ้นมา แต่ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นใดในช่วงหลังฉีด วัคซีนนั้นก็ไร้ผล
คนรักษากฎ เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบรักษากฎหมาย ควบคุมการนำเข้า อนุมัติการขึ้นทะเบียน ทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ฉีดวัคซีน ได้ปฏิบัติโดยชอบและถูกต้องตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าไม่หรืออ่อนด้อย ผลก็จะตามมาดังปรากฏในกรณีโรคเรบีส์หรือโรคพิษสุนัขบ้าที่สะท้อนให้เห็นอยู่ขณะนี้นั่นเอง

ปัจจัยจากวัคซีน สัตว์ และคน ล้วนมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคด้วยกันทั้งสิ้นดังที่สาธยายไปแล้ว
ฉะนั้นหากจะใช้วัคซีนให้ได้ผลคุ้มกันโรคดังใจนึกก็จงตระหนักถึงปัจจัยทั้ง 3 ไม่ว่าโรคไหนๆวัคซีนจักคุ้มภัยได้ครับ