โยนไปมา “เผือกร้อน” “พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.” ที่สุด “สนช.” ยื่นศาล รธน.ตีความ ยื้อหย่อนบัตร “ของจริง!”

แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะรวบรวมรายชื่อ 30 รายให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปเป็นที่เรียบร้อย ในประเด็นของบทเฉพาะกาลที่มีการกำหนดกลุ่มการสรรหา ส.ว. 2 ประเภท และใช้วิธีการเลือกกันเอง และอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ สนช. จะยืนยันหนักแน่นว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

พร้อมทั้งมีการระบุด้วยว่า หากยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้กระทบโรดแม็ปการเลือกตั้ง ที่อาจจะต้องขยับออกไปอีก

สนช. จึงไม่ยื่นศาล เพราะเกรงจะถูกสังคมมองว่าเป็นการยื้อเวลา

แม้ว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะออกมาท้วงติงใน 2 ประเด็น ทั้งกรณีร่างมาตรา 35(4) และ (5) ที่บัญญัติกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องถูกจำกัดสิทธิดำรงตำแหน่งต่างๆ ของข้าราชการการเมือง ว่าเป็นการจำกัดสิทธิ และอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม

และกรณีร่างมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุนั้นโดยถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 95

เพราะการที่บัญญัติให้ผู้อื่นลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมมิใช่เป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับอย่างแน่แท้

แต่บรรดา สนช. ทั้งหลายต่างออกมายืนยันว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

กระทั่งพรรคการเมือง นักวิชาการ หรือแม้แต่นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังออกมาเรียกร้องให้ส่งกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับตีความในคราวเดียวกัน แต่ สนช. ที่ร่วมลงชื่อยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ก็ยังระบุว่า ไม่ติดใจร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเห็นว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กระทั่งนายสมชาย แสวงการ สนช. ออกมาระบุว่า ถ้าอยากให้ยื่นตีความ ก็ให้บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายลงสัตยาบันว่าหากยื่นตีความแล้วการเลือกตั้งจะต้องยืดออกไปอีก 3 เดือน พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่มีปัญหา

ทำเอาทุกพรรคการเมืองดาหน้าออกมาสวนกลับนายสมชาย ว่าตอนร่างกฎหมายไม่มีการเชิญพรรคการเมืองมาร่วมให้ความเห็น และไม่เคยฟังคำท้วงติงจากนักการเมือง แต่เมื่อกฎหมายมีปัญหากลับมาโยนให้นักการเมืองรับผิดชอบ ทำเอานายสมชายเงียบไปพักใหญ่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาระบุชัดเจนว่า การจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เป็นเรื่องของ สนช. ที่ร่างกฎหมายขึ้นมาเอง แล้วจะมาโยนให้นายกฯ ได้อย่างไร ให้ สนช. ไปดำเนินการเอาเอง

แต่จนแล้วจนรอด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็ยืนกรานส่งร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไปถึงมือนายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถือได้ว่าเป็นการโยนเผือกร้อนไปที่นายกฯ โดยตรง

ที่น่าแปลกคือ ก่อนหน้านี้ ทุกฝ่าย ร่วมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่างยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไฉนตอนนี้กลับไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่าไม่ขัด

ที่น่าแปลกอีกคือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่ สนช. นานสองนานก่อนจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สนช. ไม่มีแนวคิดที่จะยื่นตีความ แต่เมื่อหนังสือออกไปถึงนายกฯ แล้ว กลับมีข่าวออกมาว่า สนช. ต้องการยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

ทั้งที่ทุกอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่บรรดาแม่น้ำทั้งหลายทำกันอยู่นั้นเป็นการยื้อเวลา โดยการโยนกันไปโยนกันมา

เพียงแต่ว่า ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือนายพรเพชร วิชิตชลชัย หรือบรรดา สนช. ทั้งหลาย ไม่ต้องการให้เผือกร้อนอยู่ในมือตัวเอง ไม่ต้องการตกเป็นจำเลยว่ามีเจตนาที่จะดึงโรดแม็ปให้ขยับออกไปอีก

ที่ผ่านมาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ อ.ปี๊ด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักกฎหมายระดับมือพระกาฬ ก็ต้องเป็นอันถูกตีตกไปตั้งแต่ปี 2558 จนต้องตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหากคิดย้อนกลับไป ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ได้บังคับใช้ ป่านนี้คงมีการเลือกตั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ณ ขณะนี้ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่เรียบร้อย และ พล.อ.ประยุทธ์เองระบุว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยื่นตีความหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน และไม่อยากให้มองว่าเป็นการถ่วงเวลา

“เดี๋ยวหาว่าผมถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคบคิด มันไม่ใช่ รัฐบาลต้องเดินหน้าไปตามกรอบเวลาที่กำหนด”

โดย พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลา 25 วัน ก่อนที่จะนำร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ หรือประมาณวันที่ 12 เมษายน

ที่น่าแปลกเป็นอย่างยิ่งคือ เมื่อร่างกฎหมายอยู่ในมือนายกฯ แล้ว แต่ทางฝั่ง สนช. กลับออกมาแถลงว่า ที่ประชุม สนช. เห็นว่าจะเข้าชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

ทำให้คอการเมืองต้องงงกันถ้วนหน้า ทั้งที่ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เหตุอันใดเมื่อส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงเพิ่งคิดได้ว่าต้องยื่นตีความ

แล้วจะไม่ให้สังคมมองได้อย่างไรว่านี่ไม่ใช่การยื้อการเลือกตั้ง

แม้จะมีการออกมาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการล่ารายชื่อ สนช. จะมีก็ต่อเมื่อนายกฯ ตีกลับร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวมายังประธาน สนช. เท่ากับเป็นการเปิดช่องรูเบ้อเร่อเท่อ ให้นายกฯ โยนเผือกกลับมายัง สนช. พร้อมทั้งสวมบทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่โรดแม็ปต้องเขยื้อนออกไป

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สนช. เกิดกลับลำอีกครั้ง เมื่อนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ล่าชื่อ สนช. 25 รายยื่นประธาน สนช. เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยอ้างว่า เกรงว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ มีผู้ยื่นตีความในภายหลังจะทำให้ยุ่งไปกันใหญ่ อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ!!!

มาถึงจุดนี้ทุกอย่างกำลังดำเนินความไปตามท้องเรื่องที่คนเขียนพล็อตวางเอาไว้

ทั้งหมดจึงไม่ใช่เพียงแค่ “เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดพี่เอย”

แต่เท่ากับว่างานนี้แป๊ะจะอยู่ยาวจริงๆ