ฉัตรสุมาลย์ : ไปบิณฑบาตที่พุทธคยา

เออ ไปพุทธคยามานับสิบเที่ยวไม่มีโอกาสได้ไปบิณฑบาตเลยค่ะ ถ้าไปกับคณะทัวร์ เราก็จะมีเวลาจำกัดและต้องไปตามสูตร 4 5 6 คือ ตื่นตี 4 เก็บกระเป๋าวางหน้าห้อง ตี 5 อาหารเช้า 6 โมง ประมาณนั้น

คราวนี้ มาประชุม และจัดเวลาให้อยู่ต่ออีก 2-3 วัน เพื่อจะได้ไปสวดมนต์ที่ต้นโพธิ์ ปกติที่สมาคมมหาโพธิ์ที่เจ้าภาพจัดให้เป็นที่พักนั้น จะมีพระภิกษุชาวศรีลังกาอยู่ประจำ 5-6 รูป ช่วงนี้เป็นช่วงมีงาน ก็เลยมาจากเมืองอื่น ค่อนข้างคับคั่ง ประมาณ 10 กว่ารูป

ท่านธัมมนันทากลายเป็นสมาชิกสังฆะที่สมาคมมหาโพธิ์ไปโดยปริยายในช่วงที่อยู่ที่พุทธคยา เมื่อเตรียมอาหารเช้าเสร็จ คนงานจะตีระฆังตอน 07.30 น. พระเณรก็จะเข้านั่งประจำที่ เป็นโต๊ะยาว เรียงหนึ่ง ท่านธัมมนันทานั่งต่อจากพระภิกษุแต่เป็นโต๊ะที่แยกออกไป

อาหารที่เสิร์ฟจะเป็นอาหารแบบศรีลังกา มีทั้งจะปาตี ดาล คือแกงถั่ว ซึ่งแต่ละวันจะต่างกันไป โดยใช้ถั่วชนิดต่างๆ ถือเป็นที่มาของโปรตีน โดยเฉพาะสังฆะที่ถือมังสวิรัติ ผัดผักใส่เครื่องเทศ อันนี้ก็คล้ายแขกอีก ที่ไม่เหมือน และมีลักษณะเฉพาะของศรีลังกา คือ ซัมบอล เป็นมะพร้าวขูดใส่หอมหัวใหญ่หั่นละเอียด ใส่พริกป่นสีแดง เกลือ และมะนาว ได้รสชาติเปรี้ยวๆ เค็มๆ ศรีลังกาติดอาหารจานนี้มาก คนรวยคนจนต้องมีซัมบอลเสมอ

มีขนมปัง แยม และเนยทั้งเนยถั่วและเนยเหลว สังเกตว่ามีหลวงพี่รูปหนึ่งฉันอยู่รูปเดียว ต่อจากนั้น คนรับใช้ก็จะส่งต่อมาถวายท่านธัมมนันทา

นี่เป็นอาหารเช้า เหมือนกันทุกวัน

พอฉันเสร็จกลับมาที่ห้องพัก ลูกศิษย์ภิกษุณีไทยที่มาสวดพระไตรปิฎกที่พุทธคยาก็แวะมาหา ท่านไปบิณฑบาตกลับมา

ท่านธัมมนันทาเกิดสนใจจะออกบิณฑบาตด้วยซักไซ้ไล่เลียงกันดีแล้ว พรุ่งนี้ นัดว่าไปเจอกันที่ต้นโพธิ์ตอน 6 โมงเช้า

 

6โมงเช้า ยังหนาวอยู่ค่ะ เวลาคุยกัน ควันออกทางปากเลย ท่านธัมมนันทาขอยืมบาตรจากสมาคมมหาโพธิ์ อธิษฐานบาตรโดยอธิษฐานเป็นสองเจ้าของ คนอื่นจะได้ใช้ด้วยได้ สวมหมวกและมีผ้าพันคอกันหนาวรุงรังเหมือนสมาชิกพรรคกระยาจก ออกไปตั้งแต่เช้ามืด ที่ต้นโพธิ์บรรยากาศตอนเช้า ผู้คนหนาตามาก เดินเสียดสีกันทีเดียว โดยเฉพาะตรงจุดที่จะเลี้ยวซ้ายหน้าพระวิหาร มีเนื้อที่แคบมาก ถ้าไม่เบียดเข้าไปก็ต้องรอนาน

องค์ทะไลลามะเสด็จมาทำพิธีกาลจักรทุกปีในช่วงนี้ ท่านเสด็จกลับ 28 มกราคม เราไปถึง 29 มกราคม ผู้คนที่มาเฝ้าท่านเป็นหมื่น ยังไม่กลับก็มีอยู่มาก

ท่านธัมมนันทาไปถึงต้นโพธิ์ก่อนเวลา จึงไปนั่งทำสมาธิอยู่ที่ด้านข้างต้นโพธิ์ พร้อมกับถือบาตรไปด้วย

ภิกษุณีท่านมารับ พอลุกขึ้น คนไทยที่มากับทัวร์ก็รีบถวายของแห้งและช็อกโกแลตก่อนเพื่อน จากนั้นเราเดินออกไปด้านนอกที่จงกรม เวลาที่หันหน้าเข้าหาทางเข้าต้นโพธิ์ บริเวณที่บิณฑบาตจะอยู่ทางขวามือ

บรรดาชาวทิเบตทั้งฆราวาสและพระ พากันมายึดบริเวณนี้ ทำพิธีกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ เรียกว่าจองเตียงกันทีเดียว เป็นร้อยเตียง เตียงที่ว่านี้เป็นแผ่นไม้กว้างเท่ากับลำตัวคน ตอกติดกัน และวางกับพื้นติดๆ กัน เพราะพื้นที่ไม่อำนวย

ในการไหว้แบบอัษฎางคประดิษฐ์นี้ ชาวทิเบตจะทำ 1 แสนครั้ง เพราะฉะนั้น เวลามาที่พุทธคยาก็ต้องอยู่กันนานเป็นเดือน เพื่อกราบให้ครบ 1 แสนครั้ง

เพื่อนแหม่มคนหนึ่งไปลองกราบดูอย่างอุตสาหะมาก ได้วันละ 400 ครั้ง นับดูก็แล้วกัน ว่าเมื่อไหร่จะครบแสน

 

ช่วงเช้า จะมีบริการอาหารเช้า มีแป้งปิ้ง หรือจะปาตี แกงถั่ว และผัดผักใส่เครื่องเทศ ที่สำคัญมีชาแบบทิเบต คือชาใส่เนยและใส่เกลือ

ที่ไปบิณฑบาต คือไปรับอาหารตรงนี้แหละค่ะ

มีเจ้าหน้าที่ใส่ฟอร์มคอยกำกับแถว มีชาวทิเบตทั้งพระทั้งฆราวาสยืนอยู่ในคิวยาว เจ้าหน้าที่จะกันให้เราได้รับอาหารก่อนเสมอ รับจาปาตีแล้ว ผัดผักเขาตักใส่ถ้วยโฟมให้ มีนมแบบทิเบต เขาตักใส่ถ้วยให้ ต้องประคองบาตร มือก็ถือถ้วยชาร้อนๆ ค่อยๆ ออกไปนั่งจิบชาร้อนให้เสร็จก่อน มิฉะนั้น จะเดินต่อไม่ได้

ชาแบบทิเบตรสชาติปะแล่ม ไม่เอารส แต่ดีที่ร้อน ช่วยให้เราอบอุ่นได้ เคยกินที่ทิเบตจะมีกลิ่นหืนกว่านี้ อาจจะเป็นเพราะเนยเก็บไว้นาน

เสร็จแล้ว ค่อยๆ ประคองบาตรเดินกลับมาฉันที่สมาคมมหาโพธิ์ นึกขอบคุณที่มีเจ้าภาพสปอนเซอร์อาหารเช้า ตั้งใจดูแลคนทิเบตที่มาสวดมนต์และมาอธิษฐานกราบแบบอัษฎางคประดิษฐที่ลงทอดนอนไปทั้งตัว

การกราบแบบนี้ เป็นการออกกำลังกายที่ดีนี่เอง พวกผู้ชายทิเบตตัวล่ำๆ ไม่มีหน้าท้อง ก็เพราะกราบแบบนี้ บางคนก็ไม่แยกออกมากราบตรงจุดที่อยู่ด้านนอก แต่กราบรอบต้นโพธิ์ พอทอดตัวลงไป แขนทั้งสองก็ยืดไปข้างหน้า แล้วเขาจะวางดอกดาวเรืองไว้ เป็นหมายว่าเขากราบมาถึงจุดนั้น เวลาลุกขึ้นยืน เขาก็จะมายืนตรงจุดที่วางดอกไม้ไว้ เพื่อกราบช่วงต่อไป ช่วงหนึ่งนับคร่าวๆ ก็ได้ 2 เมตร บวกความยาวของแขนที่เหยียดขึ้นไปด้วย

แต่มากไปหน่อยคือ คุณป้าสองคนพยายามกราบแบบนี้ ตรงบันไดทางลง มันน่าหัวทิ่มลงมามาก และเป็นอุปสรรค คนอื่นเดินไม่ได้เลย ก็ไม่ว่ากันนะ ต่างคนต่างมาปฏิบัติตามความศรัทธาของตน

แต่มีปัญญาหน่อยพี่

 

นั่งอยู่ที่ต้นโพธิ์ ก็ได้เห็นความศรัทธาของผู้คนที่มากราบสักการะที่ต้นโพธิ์ที่มาด้วยความหลากหลายรูปแบบ บริเวณรอบพระเจดีย์ มีพื้นที่ยกสูงกว่าทางเดินประมาณ 2 เมตรโดยรอบ กลายเป็นพื้นที่ที่มีคนมานั่งสมาธิ มีคนมาจองทำการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ มีคนเอาโต๊ะเล็กๆ มารองพระคัมภีร์ เพื่ออ่านพระคัมภีร์เป็นเล่มๆ เป็นวันๆ วันละหลายชั่วโมง มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย มีทั้งนักบวชหญิง นักบวชชาย มีทั้งที่มาอยู่หลายวัน มีทั้งที่มากับทัวร์ ซึ่งรายหลังนี้ จะมีเวลาจำกัดมาก อาจจะได้มาที่ต้นโพธิ์อย่างมากเพียงสองครั้ง ก่อนที่ทัวร์จะออกเดินทางไปเมืองอื่น

สองชาติที่เน้นใส่ชุดขาว คือ ชาวศรีลังกากับทัวร์ไทย ทัวร์ไทยก็เพิ่งมาเริ่มนิยมใส่ชุดขาวกันประมาณ 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนหน้านั้นมีแต่ชาวพุทธศรีลังกาที่นุ่งขาวมากันเป็นคันรถทีเดียว

 

บรรยากาศที่ต้นโพธิ์ น่าประทับใจ คือไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว การแสดงความเคารพความศรัทธาเป็นไปตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ก็ไม่ว่ากัน ใครชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่มีคนมากำหนดให้ทำแบบใดแบบหนึ่ง

แต่ตอนสวดมนต์นี่ลำบากหน่อย เพราะแต่ละชาติสวดไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นเถรวาทด้วยกัน ก็ออกเสียงไม่เหมือนกัน เรารู้สึกสบายหู เพราะเป็นเสียงสวดแบบไทย

อ้า จับได้แล้ว เราเอาความคุ้นของตัวเราเป็นที่ตั้ง เราฟังเสียงสวดแบบมีตัวกูอยู่ เราจึงแยกแยะว่า ชอบไม่ชอบ เพราะไม่เพราะ ที่จริงแล้วเสียงสวดมนต์ของทุกชาติ ก็มุ่งที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกันนั้นเอง

ที่บอกว่า มาทำสมาธิที่ต้นโพธิ์แล้วไม่ได้อะไร เพราะจิตวอกแวกไปกับเสียงต่างๆ รอบตัวเรา และเรารับรู้อย่างมีตัวตน เราทำการตัดสิน จึงเกิดความชอบไม่ชอบ ใช่ ไม่ใช่

ไปรับบาตรที่ต้นโพธิ์คราวนี้ ดูจะเข้าใกล้พระเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ผ่อนคลาย และสงบกว่าทุกครั้ง

ที่พุทธคยา มีวัดอยู่หลายวัด เป็นนานาชาติ แต่ไม่มีพระวัดใดที่จะออกบิณฑบาต เปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ใส่บาตร จะเป็นการดีทั้งสำหรับพระและโยมที่จะรักษาพิธีกรรมนี้ไว้ อาจจะต้องทำเรื่องเสนอไปที่กรรมการดูแลวัดมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คงไม่นานเกินรอที่เราจะเห็นการออกบิณฑบาตรอบๆ พุทธคยาอีกครั้ง อาจจะเริ่มต้นปีละครั้ง ในช่วงที่เขาจัดงานมหรสพประจำปี (ปลายเดือนมกราคม) จากนั้น ก็ขยับเป็นวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา

ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมคะ อย่างไรก็ตาม ที่ออกบิณฑบาตครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านได้โมทนาและกุศลด้วยกันนะคะ