วงค์ ตาวัน : 82 เหยื่ออุ้มหาย

เมื่อครบรอบวาระการรำลึกถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักสิทธิมนุษยชน ผู้นำชุมชน แกนนำการต่อสู้เพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้ม ซึ่งหายสาบสูญไป โดยมีร่องรอยที่น่าเชื่อว่า มาจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพล แต่คดีไม่เคยมีความคืบหน้า ไม่มีแม้แต่ร่างของบุคคลนั้นเพื่อนำมาทำพิธีทางศาสนา

ถึงวาระเช่นนี้เมื่อไร ก็ต้องมีการทบทวนถึงความเลวร้ายและความมืดมนที่เกิดขึ้นในสังคม

“พร้อมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย””

เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยเรา ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เลยทำให้มีคนที่ถูกทำให้หายตัวไปจากสังคม ไปจากครอบครัวญาติมิตร เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด

การบังคับบุคคลให้สูญหาย ถ้าจะเรียกตามภาษาข่าวอาชญากรรม ก็คือ การอุ้มหาย การอุ้มฆ่า

แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในบ้านเรา หลายๆ ประเทศยังมีเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่ โดยเฉพาะในประเทศที่การปกครองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ยิ่งบ้านเมืองที่ปกครองโดยผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นพลเรือนที่ผูกขาดอำนาจยาวนาน หรือเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร ประเทศเหล่านี้ยิ่งมีการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่หน่วยลับ เพื่ออุ้มหายอย่างมากมาย

“เป้าหมายการอุ้มคือ บรรดาคนคิดต่างทางการเมือง หรือศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล”

การอุ้มหายมีเกิดในหลายประเทศ แต่หลายประเทศก็มีกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้อำนาจมืดเช่นนี้แล้ว ส่วนในบ้านเราผลักดันกันมาหลายปี ทำท่าจะคืบหน้าไปได้มาก แต่ลงเอยก็ถูกเตะถ่วงจนทำท่าจะเงียบหายไปอีก

ในวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันผู้สูญหายสากล

ในไทยเราก็มีการจัดวันรำลึกดังกล่าว โดยในหนล่าสุดนั้น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ร่วมหารือแนวทางผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย

“มีการเปิดเผยสถิติผู้ถูกบังคับสูญหายในไทยว่ามีจำนวน 82 คน”

เป็นตัวเลขตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2559 แต่คดีเหล่านี้มักไม่คลี่คลาย ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอจะบ่งชี้ได้

สำคัญที่สุดคือ หากไม่พบศพ หรือไม่สามารถพิสูจน์ชิ้นส่วนได้ว่าเป็นศพของผู้สูญหาย อันยืนยันได้ว่าถูกฆาตกรรมไปแล้ว

คดีก็จะเป็นได้อย่างมาก แค่การกักขังหน่วงเหนี่ยว การลักพาตัว แต่ไม่ใช่คดีฆาตกรรม

ดังนั้น การอุ้มหาย จึงมักลงเอยด้วยการฆ่าแล้วทำลายศพ ที่เรียกกว่าการป่นจนไม่ให้หลงเหลือ จนไม่สามารถพิสูจน์ได้ ลงเอยทำให้ไม่กลายเป็นคดีอุ้มฆ่า!

คดีอุ้มหายบุคคลที่มีความสำคัญ ที่มักได้รับการกล่าวถึง ได้แก่ คดีทนายนักสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร ที่เพิ่งมีการจัดงานรำลึก 14 ปีที่สมชายหายตัวไป เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย อังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยา ได้เพียรพยายามติดตามทวงถามความเป็นธรรมให้กับสามีมาอย่างยาวนาน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน อังคณา นีละไพจิตร ที่ถือกันว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน นักสิทธิสตรี ที่สังคมให้ความเชื่อถือ ยังมองต่อไปข้างหน้า ด้วยการรณรงค์ให้เกิดกฎหมายใหม่ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนอื่นๆ ต้องตกเป็นเหยื่อรายต่อไป แต่บัดนี้กฎหมายก็ยังไม่คืบหน้า

“เช่นเดียวกันกับกรณีของ “บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ เด็กหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และหายตัวไปอย่างไม่หวนกลับจนบัดนี้”

จากเหตุการณ์เมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำกำลังเข้าผลักดันชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้ออกจากถิ่นฐานที่อยู่กันมายาวนานนับร้อยปี โดยมีพยานหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาด มีการเผาบ้านเรือน ยุ้งฉาง ที่เก็บสะสมอาหารของชาวบ้าน โดยบิลลี่เด็กหนุ่มในหมู่บ้านที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือภาษาไทย ได้รวบรวบภาพถ่าย วิดีโอ พยานหลักฐานต่างๆ ไปฟ้องร้องหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานพร้อมเจ้าหน้าที่

“จากนั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2558 นายพอละจีหรือบิลลี่หายตัวไป ขณะที่เตรียมจะขึ้นศาลเพื่อเบิกความคดีดังกล่าว!”

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ขณะนั้น ยอมรับว่าในวันดังกล่าว ได้ควบคุมตัวบิลลี่ไปจริง เนื่องจากตรวจพบว่ามีน้ำผึ้งป่าผิดกฎหมายในครอบครอง แต่หลังจากคุมตัวไปพูดคุยตักเตือนแล้วก็ได้ปล่อยตัวไปทันที

“แต่ข้อเท็จจริงคือ บิลลี่หายไปตั้งแต่วันนั้นและไม่ได้กลับมาพบหน้าลูกเมีย รวมทั้งญาติมิตรชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยอีกเลย”

คดีนี้ภรรยาของบิลลี่ก็ต่อสู้ตามช่องทางกฎหมายทุกอย่าง แต่ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม

จนเกิดคำถามว่า นายชัยวัฒน์ที่เป็นผู้เก่งกาจสามารถของกรมอุทยานฯ ติดตามจับกุมอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย แต่ไม่สามารถติดตามร่องรอยการสูญหายของบิลลี่ได้ ทั้งที่นายชัยวัฒน์เป็นคนคุมตัวไปและอ้างว่าได้ปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่นายชัยวัฒน์ก็ไม่เคยอธิบายให้สังคมกระจ่างได้ว่า จากนั้นบิลลี่หายไปไหนและอย่างไร

บิลลี่จึงเป็นอีกบุคคลที่แวดวงนักสิทธิมนุษยชน นักชาติพันธุ์ ต้องจัดงานรำลึกถึงในทุกๆ ปี ในฐานะบุคคลที่หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ!

หากกล่าวถึงตำนานของคดีอุ้มหายอุ้มฆ่า ย่อมต้องนึกถึงคดี 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ อันเป็นคดีประวัติศาสตร์สะท้านวงการตำรวจนักอุ้มฆ่า ในปี 2537

คดีนี้เป็นผลงานข่าวพูลิตเซอร์ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งขณะนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งออกสู่แผงหนังสือได้เพียง 2-3 ปี กลับกลายเป็นหนังสือพิมพ์เติบโตเร็วสุดในประวัติศาสตร์ของวงการสื่อ ทะยานขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับ 3 ของประเทศ ด้วยผลงานข่าวเจาะดังกล่าว

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 มีการพบศพลูกและเมียของเสี่ยสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรที่ตกเป็นเป้าหมายว่าน่าจะรู้เห็นเส้นทางของเพชรซาอุฯ เม็ดสำคัญสุด

“หนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2537 พาดหัวใหญ่ตั้งแต่วันแรกที่พบศพว่า “สีกากีอุ้มฆ่า ลูกเมียสันติเพชรซาอุ””

จากนั้นได้ขุดคุ้ยข่าวนี้ต่อเนื่องหลายเดือน จนเป็นข่าวที่ประชาชนทั้งประเทศต้องซื้ออ่านทุกเช้า

โดยแกะรอยจนพบว่า มีนโยบายจากระดับรัฐบาลต้องการให้ตำรวจติดตามเพชรเม็ดสำคัญของซาอุฯ ที่ยังสูญหาย เพื่อต้องการฟื้นสัมพันธ์ให้ได้

จากนั้นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไปมอบหมายให้ตำรวจนักสืบรุ่นใหญ่คนดังไปดำเนินการ มีการส่งลูกน้องไปตั้งด่านเถื่อนที่ปากซอยหน้าบ้านย่านตลิ่งชัน อุ้ม 2 แม่ลูกไปกักขังที่รีสอร์ตในสระแก้ว เนื่องจากหัวหน้าชุดอุ้มเป็นสารวัตรที่กว้างขวางในพื้นที่นั้น

“ระหว่างกักขังมีการสร้างเรื่องโจรจับตัวไปเรียกค่าไถ่ สามารถรีดเงินจากเสี่ยสันติได้หลายล้านบาท แต่พอเริ่มพยายามสอบถามถึงเรื่องเพชรเม็ดสำคัญ ทำให้เสี่ยสันติเริ่มรู้ว่า ต้องเป็นแก๊งนายตำรวจใหญ่ที่อุ้มลูกเมียไป เพื่อจะบีบให้คายข้อมูลเพชรซาอุฯ จึงนำความไปร้องเรียนระดับรัฐบาล”

ฝ่ายทีมอุ้มเมื่อรู้ว่าแผนแตก ก็ตัดสินใจสังหาร 2 แม่ลูกเพื่อปิดปาก โดยทุบตีจนตาย แล้วนำร่างใส่ในรถเบนซ์เข็นออกไปบนถนนเพื่อให้สิบล้อชน หวังจัดฉากว่า หลังจากแก๊งเรียกค่าไถ่ได้เงินเพียงพอก็ปล่อยตัวกลับ ระหว่างขับรถกลับ กทม. ไปประสบอุบัติเหตุชนกับ 10 ล้อ ตายทั้งแม่ลูก

“ความที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดขุดคุ้ย และตำรวจกองปราบฯ นำโดย พล.ต.ต.วรรณรัตน์ คชรักษ์ นำทีมเข้าสืบสวน สุดท้ายทีมสีกากีอุ้มฆ่าก็จนมุม ติดคุกกันระนาว ต้องชดใช้หนี้ชีวิตในที่สุด”

นี่คือคดีอุ้มฆ่าระดับตำนาน แต่ด้วยความที่มีศพและพิสูจน์ได้จึงเป็นหลักฐานเป็นอุ้มไปฆ่า

ส่วนคดีอุ้มหายรายอื่นๆ แล้วนำไปสังหารทำลายศพจนไม่เหลือ กลายเป็นคดีที่มืดมน

จนต้องรณรงค์ออกกฎหมายใหม่เพื่อหยุดยั้งการอุ้มหายให้ได้!