ยอดหญิง”พาณิชย์”!?! รมว.-ปลัดฯ ยืดอก เซ็นเรียก”จีทูจี”ข้าว 2 หมื่นล้าน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์

คดีโครงการจำนำข้าวมาถึงอีกช่วงสำคัญ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด

อันมีสาระสำคัญโดยสรุปให้”กรมบังคับคดี”มีอำนาจหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ด้วยการ”ยึดทรัพย์”ผู้ต้องรับผิดในโครงการตามที่มีคำสั่งทางปกครองและคำพิพากษาออกมาแล้ว

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร

ทั้งยัง”คุ้มครอง”การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรณีกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น

ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย

ในคำสั่งที่ 56/2559 ถึงจะมีการพูดถึงโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังกับข้าวโพด

แต่”ไฮไลต์”สำคัญอยู่ที่โครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากกว่า

รวมถึงกรณีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ”จีทูจี” ในยุค นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็น”ส่วนต่อขยาย”จากโครงการจำนำข้าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการออกคำสั่งที่ 56/2559 ว่าไม่ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์ แต่ให้อำนาจกรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีอาญา

สอดคล้องกับที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แจกแจงที่มาคำสั่งดังกล่าวว่า

ตามปกติการออกคำสั่งทางปกครองในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง เป็นหน้าที่กระทรวงต้นสังกัด

แต่เนื่องจากเป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก กระทรวงต้นสังกัดไม่มีคน หากยึดมาได้ก็ไม่มีที่เก็บ

จึงต้องใช้มาตรา 44 เปลี่ยนให้กรมบังคับคดีดำเนินการแทนโดยยึดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539

หากเปรียบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 คือ”ลายแทง”นำไปสู่การยึดทรัพย์คดีโครงการจำนำข้าว ก็ยังต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยวอีกพอสมควร

เริ่มจาก”หนังตัวอย่าง”กรณีขายข้าวแบบจีทูจี

หลังแสดงอาการอิดออดและหลุดคำพูดว่า”พี่ไม่ใช่นักการเมือง”

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ก็ได้”ยืดอก”ลงนามแทนนายกรัฐมนตรี ในคำสั่งบังคับทางปกครอง

เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจีกับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และพวกรวม 6 คน จำนวน 20,000 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามแทน รมว.พาณิชย์

น.ส.ชุติมาระบุการลงนามเป็นการทำตามหน้าที่ปกติตามคำสั่งระบบราชการ ไม่เกี่ยวกับคำสั่งให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแต่อย่างใด

ขั้นตอนจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะส่งคำสั่งไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 โดยมีระยะเวลาตอบรับใน 30 วัน หากเพิกเฉยจะส่งหนังสือแจ้งเตือนรอบสอง มีระยะเวลา 15 วัน

หากเพิกเฉยอีกจะส่งเรื่องไปยังกรมบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ต่อไป

กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อพ้น 45 วันแล้วจะยึดทรัพย์ได้จริง

เนื่องจากนายบุญทรงประกาศจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง เพื่อขอทุเลาคำสั่งและไต่สวนฉุกเฉิน

หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กระบวนการทุกอย่างก็ต้องหยุดไว้ก่อน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ยังเตรียม”ฟ้องกลับ”ผู้เกี่ยวข้องทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งอาจหมายรวมถึงตัวนายกฯ กรณีให้ รมว.พาณิชย์ ลงนามแทน

ข้อต่อสู้ของนายบุญทรงอ้างว่า คดีจีทูจีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา

การออกคำสั่งลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการ”เร่งรีบ”และ”รวบรัด” เพราะตามหลักการวินิจฉัยทางแพ่งจะยึดตามข้อเท็จจริงจากคดีอาญา

รวมถึงประเด็น”ผู้ลงนาม”ในคำสั่งบังคับทางปกครองที่ยังถกเถียงกันว่าใครเป็นผู้ลงนาม และนายกฯ สั่งให้รัฐมนตรีลงนามแทนได้หรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดในระดับรัฐมนตรี กำหนดให้นายกฯ ลงนามเท่านั้น

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รวมถึง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันการเรียกค่าเสียหายในคดีข้าวดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ทำควบคู่ไปกับคดีอาญาได้

โดยไม่กำหนดว่าอันใดต้องมาก่อนหรือหลัง

ในทางการเมือง กรณีนายบุญทรงเป็นเพียง”โมเดล” เพื่อให้ความมั่นใจต่อรัฐมนตรีและข้าราชการ

ก่อนรุกคืบต่อไปยังคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปล่อยปละละเลยจนเกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งโครงการรับจำนำข้าว ยืนยันจะสรุปตัวเลข”ค่าเสียหาย”ได้ในสัปดาห์หน้าหรืออย่างช้าก่อนตนเองเกษียณวันที่ 30 กันยายน

จากนั้นจะส่งให้ รมว.คลัง เพื่อส่งต่อยังนายกฯ ขออนุมัติลงนามคำสั่งบังคับทางปกครอง

กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้มีอำนาจลงนามคำสั่งคือนายกฯ กับ รมว.คลัง

ซึ่งนายกฯ มอบอำนาจให้ รมว.คลัง ลงนามแทนได้ เหมือนกรณีขายข้าวจีทูจีที่นายกฯ มอบให้ รมว.พาณิชย์ ลงนามแทน

ในส่วนของ รมว.คลัง หากลงนามแทนนายกฯ แล้ว จะลงนามในส่วนของตนเองอีกก็ได้ หรือมอบให้ปลัดกระทรวงลงนามแทนเหมือนกระทรวงพาณิชย์ทำก็ได้เช่นกัน

ไม่ต่างจากกรณีนายบุญทรง ถึงแม้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะเลือกวิธีลงนามแบบใดเนื่องจากเรื่องยังมาไม่ถึง

นายนพดล หลาวทอง ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วยในการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งปูทางไปสู่การยึดทรัพย์ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญาและวินัย

เนื่องจากเห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้กระบวนการพิจารณาโดยศาลปกติ แต่กลับ”ตัดตอน”ใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทันที

ทั้งเป็นการ”ชี้นำ”การพิจารณาคดีอาญาของศาล และคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่ยังไม่เสร็จสิ้น

ฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นการ”ข้ามขั้นตอน”และ”เลือกปฏิบัติ” เพราะการดำเนินการเรื่องนี้มีแนวทางการใช้มาตรการบังคับทางปกครองอยู่แล้ว

อีกทั้งอำนาจหน้าที่กรมบังคับคดีบัญญัติไว้โดยกฎหมายชัดเจนว่า เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานของศาลในการบังคับคดีตามคำสั่งศาลยุติธรรม

คำสั่งที่ 56/2559 จึงมีลักษณะ”ก้าวล่วง”สิ่งที่เป็นอำนาจสั่งการของศาลยุติธรรม

ทีมงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า โดยหลักการกฎหมาย กรมบังคับคดีจะบังคับคดีตามคำสั่งศาล

แต่การเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการจำนำข้าว ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ ยังไม่ถึงขั้นตอนของศาล แต่กลับออกคำสั่งให้กรมบังคับคดีมีอำนาจยึดทรัพย์ จึงเท่ากับออกคำสั่งยกเว้นกฎหมายเฉพาะราย

ตามหลักการออกกฎหมายควรบังคับใช้ทั่วไป ไม่ควรเจาะจงกับคนใดคนหนึ่งเพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเรียกรับผิด

การออกคำสั่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ยังเป็นการ”เปิดช่อง”ให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงหลักความถูกต้องเป็นธรรม แต่จะทำตามคำสั่งหรือความต้องการของผู้มีอำนาจเป็นหลัก ไม่เป็นไปโดยอิสระ

กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่อง”การเมือง”มากกว่าความถูกต้องในการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตที่สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน

จนหลายคนเป็นห่วงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาจมีปัญหาถูกฟ้องร้องตามมาหลังจากเกษียณอายุหรือพ้นจากอำนาจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การ”ยืดอก”ลงนามของ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ และ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร สอง”ยอดหญิง”แห่งกระทรวงพาณิชย์

ไม่ว่าเพราะถูกกดดันจากผู้มีอำนาจหรือจากพรรคการเมืองใดหรือไม่ก็ตาม

จะอย่างไรก็ถือเป็นความ”กล้าหาญ”อย่างยิ่ง