โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/สิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

สิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง

นานมาแล้วที่ผู้เขียนดิ้นรนกับการหาวิธีอธิบายเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และถ้าจะให้พูดเฉพาะเจาะจงก็คือความเท่าเทียมกันของคนไทย
แต่ละสังคมมนุษย์มีความเป็นมาที่ไม่เหมือนกัน ประเทศฝรั่งเศสต้นแบบประชาธิปไตยมีการนองเลือดเพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทย จะขอกล่าวตั้งแต่เมื่อรัชกาลที่ 5 พระปิยมหาราชเลิกทาส เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ควรนำไปสู่ความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคน ซึ่งในเมื่อเป็นการนำของกษัตริย์ซึ่งเป็นรากเหง้าของสังคมไทย ความเท่าเทียมที่แท้จริงไม่น่ากินเวลานาน
แต่ไฉนเล่าเราจึงยังย่ำเท้าอยู่กับที่
ทำไมวันนี้คนรุ่นแม่ยังไม่พอใจที่สาวใช้ใส่หน้ากากอนามัย และใส่ถุงมือทำงานบ้าน “ทำไมมันจะต้องเรื่องมาก ทำไมต้องดัดจริต” “ทำไมเป็นสาวใช้แต่งตัวดีกว่านาย”
วันนี้สิ่งที่หนักอึ้งอยู่ในความรู้สึกว่าทำไมสาวใช้ควรจะใส่หน้ากากอนามัยได้ และใส่ถุงมือทำงานบ้านได้ ได้ถูกอธิบายด้วยการอ่านบทความในมติชนสุดสัปดาห์วันที่ 3 มีนาคม บทความชื่อ “วาระแห่งชาติ สิทธิมนุษยชน เริ่มที่การศึกษา ในสังคมประชาธิปไตย” ที่รายงานโดย วจนา วรรลยางกูร
และก็ต้องขอพูดถึงประเด็นที่หนักอึ้งในความรู้สึกอีกประเด็นคือ เคยคิดว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง จะมีอะไรให้เลือก ในเมื่อไม่เอาทั้ง เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์

วันนี้ความหนักอึ้งนั้นก็บรรเทาไปเมื่อเห็นการประกาศตัวของคนรุ่นใหม่ อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศนำทัพคนรุ่นใหม่ออกมา ต่อไปนี้เรามีทางเลือกแล้ว ไม่จนตรอกแล้ว มีความหวังแล้ว แม้ว่าจะยังต้องคอยติดตามกันต่อไปก็ตาม
ทำไมประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการประกาศเข้าสู่เวทีเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
ลองติดตามบางตอนจากบทความของคุณวจนา วรรลยางกูร กัน คุณวัจนาพูดถึงปีที่ครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarations of Human Rights) คุณวจนาบอกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมีอยู่ แต่ไม่ให้ความสำคัญเชิงคุณค่า
“หลายท่านคงไม่เคยได้ยินปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลายท่านมองว่าเป็นความคิดตะวันตก แต่คณะผู้ร่างมีตัวแทนจากทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงเอเชีย ทำให้ UDHR สะท้อนมุมมองจากหลายวัฒนธรรม”
วิทยากร ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล บอกว่ากฎหมายนี้ร่างและรับรองปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง สหประชาชาติจึงร่วมกันยกร่างฉบับนี้และไทยมีภาระผูกพันด้วย
สำหรับคนไทยก็มักจะคิดว่า “ระดับนานาชาติจะทำอะไรก็ทำไป ประชาชนเดินถนนไม่รับรู้ด้วย” คุณค่าและความหมายของสิทธิมนุษยชนจึงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยในหมู่คนเดินดินกินข้าวแกง คงรับรู้กันอยู่ในหมู่ผู้มีการศึกษาปัญญาชนเท่านั้น ที่มักจะรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนจากประสบการณ์ในโลกกว้าง จากการเดินทางไปเห็นความเป็นไปในสังคมอื่น
ดร.กาญจนา บอกว่าเธอได้ค้นแบบเรียนตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงในตำราเรียนครั้งแรกปี 2544 เชื่อมโยงจากการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ระบุว่าการศึกษาต้องเคารพเสรีภาพด้วย เธอบอกว่ามันปรากฏในหนังสือ ม.ปลาย จากหลักสูตรปี 2544 แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพูดถึงเชิงคุณค่า ไม่เหมือนกับการพูดถึงความเป็นไทยหรือการเคารพนบนอบผู้ใหญ่
เข้าทำนอง มีอยู่เป็นตัวหนังสือแล้วก็จบกัน ไม่ได้หยิบมาเชิดชู ตอกย้ำ พูดคุย อภิปราย ครูผู้สอนก็ไม่เห็นความสำคัญ เห็นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้เก็บเอาข้อความในหนังสือมาย่อยคิดต่อว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตประจำวัน
ไม่ได้ปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก
คุณค่าของสิทธิมนุษยชนจึงไม่เกิด เรามักจะคิดว่า สิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นอุดมคติที่ไม่อาจเป็นจริง
การสร้างคุณค่าของสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องยากหากทำกันจริงจัง แม้ว่าจะยากกว่าการสร้างคุณค่าความเป็นไทยด้วยกิจกรรมย้อนยุคที่ฉาบฉวย ร่าเริงกับการแต่งกายย้อนยุคที่สนุกไปวันๆ

มุมมองของ กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศที่พยายามจะเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันนั้นน่าฟังมาก เธอบอกว่าน่าจะเทียบ UDHR กับหลักศีลห้า เป็นปฏิญญาว่าตัวเองจะทำสิ่งนี้ เมื่อทำแล้วสังคมจะมีความสุข ความมั่นคง เช่นเดียวกับการอยู่ในสังคมที่รู้ว่าคนอื่นจะไม่มาฆ่า ขโมย หรือแย่งชิงคนที่เรารัก
เป็นความคิดที่สร้างสรรค์และน่ารับฟังรวมทั้งน่าเผยแพร่ด้วย
ไม่ใช่สร้างวาทกรรมสวยหรูแล้วไม่สื่อสารให้เกิดความรับรู้และปลูกฝังจนเป็นคุณค่า
เราขาดคนคิดสร้างสรรค์การสื่อสารประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตของประเทศ
สำหรับตอนนี้เรื่องการตระหนักในสิทธิมนุษยชนก็มาสอดรับกับวาระการเกิดของคนรุ่นใหม่ในการเมืองพอดี
การเมืองคืออำนาจของประชาชน – ประชาชนที่มีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน มีอำนาจที่จะเลือกคนเข้าไปเป็นตัวแทน ในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าคุณเป็นคนดี แต่ถ้าบริหารบ้านเมืองโดยไม่ได้ผ่านสิทธิ์ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ดีแค่ไหนก็ผิดอยู่ดี

สําหรับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 39 ปี แค่คำพูด “เป็นพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อทวงคืนอนาคตของประเทศ” ก็ต้องสะดุดหยุดฟังกันแล้ว
เขาให้คำจำกัดความคนรุ่นใหม่ว่า “คือคนที่เชื่อว่าตนเองมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้” จากการติดตามทราบว่าเขาแคมเปญทางโซเชียลมีเดียอย่างเดียวให้สัมภาษณ์ทางคลื่น 101 มียอดวิว 100,000 คน
และหลังจากนั้นสื่อก็ถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าคิดอย่างไร ทำให้ทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ต้องไปค้นข้อมูลมาให้ และตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะตื่นจากหลับ หันมามองคนหนุ่มกันเต็มตาแล้ว และที่เคยคิดว่า “ยังไงผมก็นอนมา” ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว
ผู้เขียนกำลังนึกถึงกระแสนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยโน้น ที่เธอก้าวจากโนเนมในแวดวงการเมือง ใช้เวลาเพียงสามเดือนสร้างคะแนนนิยมลอยละลิ่วมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ปรากฏการณ์ในทางการเมืองจะเป็นเช่นนี้เสมอ ถ้าประชาชนกำลังรู้สึกอึดอัดกับการถูกลิดรอนสิทธิ์ เบื่อกับสังคมแบบเดิมๆ สองมาตรฐาน คนมี คนจน ไพร่ อำมาตย์ และกระหายที่จะมีทางเลือกใหม่ ตัวเลือกใหม่ที่ก้าวเข้ามาและให้ความหวัง จะได้รับคะแนนท่วมท้นเสมอ
การแคมเปญทางสื่อโซเชียลของทั้งธนาธรและปิยะบุตรน่าจะบอกอะไรบางอย่าง อย่าลืมว่าการใช้โซเชียลแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย เมื่อไม่มีต้นทุนก็ไม่ต้องเข้ามาคอร์รัปชั่นเอาคืนเมื่อได้อำนาจ (ฮา) การใช้โซเชียลยังบอกว่าเขาทั้งสองต้องการพูดกับคนรุ่นใหม่ เอาคนที่ฟังรู้เรื่องกัน ไม่เสียเวลาพูดกับคนที่มีความคิดแบบเดิมๆ
ทางเลือกทางการเมืองจะมาจากสิ่งที่อยู่ในส่วนลึกในใจคนเสมอ มันเป็นทั้งความหวัง ความศรัทธา ความชื่นชม รวมทั้งความพร้อมที่จะเสี่ยงไปกับคนที่เราตัดสินใจเลือก
หลังจากตามเข้าไปดูหน่วยก้านของคุณธนาธรแล้ว บอกได้เลยว่า “งานนี้ไม่หมู” สำหรับนักการเมืองรุ่นเก่าๆ เดิมๆ ที่ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ กลับตัวไม่ทัน หรือกลับตัวไม่เป็น เพราะสนิมเดิมๆ เกาะกินเคาะไม่ออก
ในที่สุดแล้ว สิทธิมนุษยชน ก็จะถูกสำแดงออก จากการตัดสินใจในการเลือกตั้งนี่แหละ