ฉัตรสุมาลย์ : กว่าจะเป็นสารนาถที่เราเห็น (1)

เซอร์คันนิ่งแฮมมีตำแหน่งเป็นนายพล ชื่อเต็มๆ ว่า นายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นคนที่อังกฤษส่งให้ไปดูแลอินเดียในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดีย ต่อมาด้วยคุณูปการทางด้านโบราณคี จึงได้รับพระราชทานตำแหน่งท่านเซอร์

คันนิ่งแฮมนอกจากจะมีความสามารถในการบริหารจัดการการปกครองแล้ว โดยส่วนตัวเป็นนักโบราณคดี งานการขุดค้นทางโบราณคดีในอินเดียเป็นคุณูปการของเซอร์คันนิ่งแฮมทั้งสิ้น จนได้รับการยกย่องจากอินเดียว่าเป็นบิดาแห่งโบราณคดีของอินเดีย

ในช่วงธันวาคม 1834 จนถึงมกราคม 1836 เป็นช่วงที่เซอร์คันนิ่งแฮมควบคุมการขุดค้นที่สารนาถอย่างเป็นระบบ จนได้พบสถูปธรรมราชิกา ซึ่งก่อนการขุดค้นนั้นเป็นเพียงเนินดินขนาดใหญ่ ที่ฐานพระสถูป พบการจารึกข้อความจากพระสูตร ที่มีอายุประมาณ ค.ศ.600

ทำให้มาสู่ความเข้าใจว่า พระสถูปนี้สร้างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6

นอกจากการพบธรรมราชิกาสถูปแล้ว เซอร์คันนิ่งแฮมยังได้ขุดที่เจาคัณฑีสถูปด้วย แต่ไม่ได้พบพระบรมสารีริกธาตุแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ก็ยังได้ขุดพบพระวิหาร ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของที่ตั้งธัมเมกขสถูปในปัจจุบัน ในพระวิหารนี้ได้พบพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ถึง 60 องค์ เซอร์คันนิ่งแฮมเข้าใจว่าเมื่อสารนาถถูกรุกราน พระสงฆ์ได้ขนย้ายพระพุทธรูปและของมีค่ามารวมกันไว้ในพระวิหาร เพื่อว่าจะได้นำไปไว้ในที่ปลอดภัยต่อไป

ที่ฐานขององค์พระพุทธรูปสององค์มีจารึกเมื่อพวกฮวนโจมตีสารนาถ มีการย้ายพระพุทธรูปจากวิหารหนึ่งไปอีกวิหารหนึ่ง แต่เซอร์คันนิ่งแฮมเองเข้าใจว่า พระวิหารต่างๆ ยังคงอยู่จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10

พระพุทธรูปที่พบที่สารนาถชุดนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานที่โกลกัตตา มีหินเป็นแท่งใหญ่ แกะสลักลวดลายศิลปะ ไม่สามารถโยกย้ายไปโกลกัตตาได้ วางทิ้งอยู่ตามท้องนา เมื่อมีการสร้างสะพานก็ได้เอาแท่งหินขนาดใหญ่เหล่านี้ไปใช้เป็นฐานสะพานข้ามแม่น้ำวรุณที่พาราณสี

นายแชริ่งได้บันทึกเรื่องราวไว้ในหนังสือเรื่องเมืองศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู ว่าได้ใช้แท่งหินขนาดใหญ่ 48 ก้อนที่สารนาถในการสร้างสะพาน

ผู้ปกครองสารนาถในสมัยนั้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ขนเอาแท่งหินมากกว่า 50 เล่มเกวียนไปจากสารนาถเพื่อสร้างสะพานดันแคนข้ามแม่น้ำวรุณ

ในช่วง ค.ศ.1851-1852 นายพันมาร์วิน คิตโต เป็นผู้นำการขุดค้นทางโบราณคดีที่สารนาถอีก คราวนี้ภายใต้แผนกโบราณคดีนี้ได้พบซากปรักหักพังของวิหาร และสังฆาราม ทับถมกันเป็นชั้นๆ ถึง 5 ชั้น เข้าใจว่าเกิดจากไฟไหม้ แล้วมีการก่อสร้างใหม่ในที่เดิม

ต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อบริษัทที่ทำถนนเชื่อมระหว่างเมืองพาราณสีกับเมืองคาซีปูร์ นายโอร์เทล วิศวกรของกรมทางที่เมืองพาราณสี ได้พบพระพุทธรูปที่งดงาม ตัวของนายโอร์เทลเอง เป็นคนที่มีความนิยมและเห็นคุณค่างานศิลปะและเป็นนักโบราณคดีที่ดี เขาได้ติดต่อขออนุมัติทำการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงฤดูหนาวระหว่าง ค.ศ.1904-1905 ที่เมืองสารนาถ

นอกจากนายโอร์เทลแล้วก็ยังมีวิศวกรประจำอำเภอของพาราณสีชื่อ นายราย บาหาดูร์ พิปิน พิหารี จักรวตี ร่วมงานด้วย

ในการขุดค้นครั้งนี้ ได้ขุดเนินดินขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าของธัมมราชิกาสถูป คราวนี้ได้พบเสาพระเจ้าอโศกอยู่ด้านหลัง หลักฐานที่พบอย่างสมบูรณ์ คือหัวเสาพระเจ้าอโศกที่เป็นรูปสิงห์สี่ทิศที่สมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่สารนาถ

และรัฐบาลอินเดียนำมาใช้เป็นเครื่องหมายของทางการ

จากการค้นพบครั้งนี้ นายโอร์เทลจึงเชื่อว่า จุดนี้เอง เป็นจุดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตร

การค้นพบของนายโอร์เทลนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากพระพุทธรูป งานศิลปะ และจารึกแล้ว ก็ยังมีงานศิลปะถึง 476 ชิ้น มีจารึกถึง 41 ชิ้น

ที่สำคัญคือ

การค้นพบมูลคันธกุฏีมหาวิหาร

รูปพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่

รูปแกะสลักพระพุทธเจ้าในปางแสดงปฐมเทศนา

รูปพระโพธิสัตว์ทั้งอวโลกิเตศวร และมัญชุศรี

รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระศรีอาริยเมตตรัย

เสาพระเจ้าอโศก

ศิลาจารึกของพระเจ้าอัศวโฆษ

ในสมัยสุงคะ กษัตริย์ที่ปกครองไม่ได้นับถือพุทธ นอกจากไม่นับถือพุทธแล้วก็ยังเป็นศัตรูของพุทธศาสนาด้วย ในทิพยาวทาน เล่าว่า มีการเข่นฆ่าพระภิกษุเป็นจำนวนมาก บางแห่งถึงกับวางค่าหัวของพระภิกษุไว้ที่หัวละ 100 เหรียญทองคำ

แต่แม้กระนั้น ก็ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงงานของพระศาสนาในช่วงนั้นปรากฏ

กษัตริย์ที่ปกครองสารนาถในสมัยต่อมาเป็นราชวงศ์กษัตรปะ เข้าใจว่า นับถือพุทธ เพราะบนเสาพระเจ้าอโศกที่พบที่สารนาถมีจารึกเพิ่มเติม เข้าใจว่าเป็นของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ สมัย ค.ศ.15 พระเจ้าอัศวโฆษที่ปกครองสารนาถน่าจะมาจากราชวงศ์ที่ว่านี้ ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นับถือพุทธ

ในสมัยกุษาณ สารนาถได้รับการทำนุบำรุงอย่างดี ในเหรียญที่พบที่พาราณสียืนยันความจริงข้อนี้ กษัตริย์ที่มีผลงานโดดเด่น คือพระเจ้าเทวบุตร กนิษกะ ครองราชย์ช่วง ค.ศ.78-100

เมื่อพระเจ้ากนิษกะ สมัยที่ยังเป็นพราหมณ์ (หันมานับถือศาสนาพุทธสมัยหลัง) โจมตีเมืองปาตลีบุตรได้ชัยชนะ ทรงริบบาตร และนกที่ทำด้วยทองคำไปเป็นหมายแห่งชัยชนะ แสดงว่าพระเจ้ากนิษกะปกครองสารนาถด้วย

ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่สารนาถก็ได้พบหลักฐานจำนวนมากจากราชวงศ์กุษาณ พบรูปพระโพธิสัตว์ที่เป็นงานในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ และรูปแกะสลักพระโพธิสัตว์ที่มีความสูงกว่าที่เคยพบมาก่อนหน้านั้น

ในช่วงนี้ ดร.อัคครวาล นักวิชาการชาวอินเดีย ยืนยันว่า สารนาถปกครองโดย พระสงฆ์นิกายสรวาสติวาท

ปัจจุบันนิกายที่ใกล้กับสรวาสติวาทที่สุด คือ พุทธแบบทิเบตที่ถือวินัยของนิกายมูลสรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายที่พัฒนามาจากนิกายสรวาสติวาท จึงไม่ประหลาดใจว่า เมื่อชาวพุทธสายทิเบตที่เริ่มเข้าไปอยู่ในอินเดียปัจจุบัน เลือกสร้างวิทยาลัยพุทธที่สารนาถ

สมัยถัดมาเป็นสมัยคุปตะ ซึ่งนักวิชาการถือว่าสารนาถรุ่งเรืองที่สุดในสมัยนี้ ที่น่าสนใจคือพวกคุปตะ ไม่ได้มาจากอารยัน จึงไม่มีระบบวรรณะ และเห็นว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่จะเป็นหลักใจของคุปตะได้ดีที่สุด เพราะคุปตะก็ไม่ถือวรรณะเช่นกัน

หลวงจีนอี้จิงที่เดินทางไปสารนาถ รายงานว่า กษัตริย์ของคุปตะสร้างวิหารใหญ่ที่สารนาถ และยังทรงยกหมู่บ้าน 24 แห่งให้ดูแลมหาวิหารแห่งนี้ด้วย

กษัตริย์ในสมัยต่อมาทั้งจันทรคุปต์และสมุทรคุปต์ก็ทรงให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนา หลวงจีนฟาเหียนที่เดินทางมาอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 4 ในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ วิกรมาทิตย์ บันทึกว่าสารนาถเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและธัมเมกขสถูปได้รับการพัฒนาอย่างยิ่ง

ในรัชสมัยของพระเจ้ากุมารคุปต์ พระราชโอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์ ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปปางนิพพานที่กุสินารา นอกจากนั้นก็ยังพัฒนาที่สาวัตถี และที่สาญจีได้ถวายทั้งค่าภัตตาหารแก่อารยสงฆ์และน้ำมันตามประทีป พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปปางภูมิผัสสะประดิษฐานที่พระวิหารที่สารนาถด้วย ที่ฐานพระพุทธรูปปรากฏจารึกว่า กุมารคุปต์เป็นผู้ถวาย

ค.ศ.1914-1915 เมื่อมีการขุดค้นทางด้านตะวันออกของมูลคันกุฏีวิหาร ก็ยังได้พบพระพุทธรูปงดงาม มีจารึกระบุว่า อภัยมิตรภิกขุเป็นผู้ถวาย นอกจากนี้ ยังพบศิลปะวัตถุสมัยคุปตะมากถึง 300 ชิ้นที่สารนาถ

งานศิลปะสมัยคุปตะนี้ มีความงามโดดเด่น ส่งผลทางอิทธิพลศิลปะปาตลีบุตร และสมัยปาละต่อมาด้วย

ในสมัยกุษาณ พระสงฆ์ที่มีอิทธิพลเป็นนิกายสรวาสติวาท ต่อมาเป็นนิกายสัมมิติยะ หลวงจีนฉวนซัง หรือ พระถังซำจั๋ง กล่าวถึงนิกายเถรวาทด้วย แต่ในการขุดค้นทางโบราณคดี ก็ยังพบพระพุทธรูปที่เป็นของมหายานในสมัยคุปตะอีกด้วย

ถ้าไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนนี้ เวลาที่เราเดินไปชมพระสถูปต่างๆ และพระวิหารที่สารนาถ เราก็ดูแล้ว ประมาณงั้นๆ แหละ

แต่ถ้าเราได้ศึกษาว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ที่เราเข้าถึงโบราณสถานเหล่านี้ได้นั้น ต้องผ่านขบวนการที่ยากลำบากเพียงใด เราก็จะน้อมใจขอบคุณ และมีความชื่นชมในสิ่งที่เราเห็นมากขึ้น

สารนาถ เป็นจุดที่มีความหมายแก่ชาวพุทธมาก การศึกษาประวัติศาสตร์ของความเป็นมาในแต่ละยุคไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ยังไม่จบค่ะ ต้องขอต่ออีกตอนคราวหน้า