คุยกับทูต ‘พันเอกราซา อุล ฮัซเนน’ ปากีสถานกับการดำเนินงานการทูตโดยฝ่ายทหาร

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายอะศิม อิฟติคาร์ อะห์มัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาสนทนาเรื่อง 67 ปีแห่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในทุกมิติระหว่างไทย-ปากีสถาน

“อีกแง่มุมหนึ่งของความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน คือความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ไทยและปากีสถานเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือซีโต้ (SEATO)” เอกอัครราชทูตอะศิม อิฟติคาร์ อะห์มัด กล่าว

ซีโต้จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญามะนิลา ลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1954 มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค สำนักงานใหญ่ของซีโต้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่ได้ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1977

“ต่อมาได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศหลังการจัดตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร (Defence Attach?) ซึ่งเป็นผู้แทนทางทหารของกระทรวงกลาโหมประจำสถานทูตของทั้งสองประเทศ”

“ปัจจุบัน พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) คือผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทยเขตอาณาครอบคลุมประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีหน้าที่ดูแลการทำงานด้านการป้องกันประเทศร่วมกับประเทศดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน ปากีสถานกำลังแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะเป็นกองกำลังที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจขององค์การสหประชาชาติมากที่สุด และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของการต่อต้านการก่อการร้าย”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ร่วมใน Cobra Gold 2018

จากนี้ไปจึงเป็นเรื่องการทูตโดยฝ่ายทหาร (Defence Diplomacy) โดยพันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน แห่งสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย

การทูตโดยฝ่ายทหาร หมายถึงการดำเนินการใดๆ ตามกรอบนโยบายของรัฐโดยการใช้ทรัพยากรและความสามารถของทหารที่รัฐนั้นๆ มีอยู่อย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง (soft power) ทั้งโดยการเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันเป็นการลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

“ผมเป็นนายทหารราบรุ่นที่สี่ของครอบครัว จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก (Command and Staff College) เมืองเควตตา (Quetta) ในปากีสถาน และ Peoples Liberation Army Command and Staff College เมืองนานกิง (Nanjing) ประเทศจีน ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ของกองทัพปากีสถานนอกเหนือจากหลักสูตรเร่งรัดจากค่ายฮวาชูกา (Fort Huachucha) รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา และได้ทำหน้าที่ทั้งในหน่วยบัญชาการและครูฝึก”

“ผมมีประสบการณ์ในการรบนอกรูปแบบและตามรูปแบบ เคยปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับการกองพันทหารราบตามแนวการควบคุมในแคชเมียร์แถบพรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน (Indo-Pak border) ที่มีความขัดแย้งกัน และร่วมปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายตามแนวชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถาน (Pak-Afghan border) ตอนเหนือของ Waziristan เมื่อครั้งยังเป็นผู้กอง”

“ต่อมาทำหน้าที่เป็นนายทหารติดตามผู้บัญชาการกองพล และเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายทหารอันมีชื่อเสียงของปากีสถาน”

เอกอัครราชทูตกับผู้ช่วยทูตทหารปากีสถาน

“มารับตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยเป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหมประเทศปากีสถานทั้งสามเหล่าทัพคือ บก เรือ อากาศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อประสานงานและมีปฏิสัมพันธ์กับกองทัพไทยและกระทรวงกลาโหมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างไทยและปากีสถานในด้านการป้องกันประเทศ”

“ผมสามารถปรับตัวเมื่อมาอยู่ที่นี่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเป็นการมาประเทศไทยครั้งแรกแต่กลับรู้สึกชื่นชมในความเป็นมิตรและน้ำใจไมตรีของคนไทย จึงไม่ได้คิดถึงบ้านมากมาย เพราะประเทศไทยนับเป็นบ้านหลังที่สองของผม” ผู้ช่วยทูตทหารกล่าว

“เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานในปี ค.ศ.1962 ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์แห่งมิตรภาพของเรา”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ หลายประเทศ ประเทศแรกที่เสด็จฯ อย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐเวียดนาม ปี ค.ศ.1959 การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปรวม 14 ประเทศกับ 1 รัฐ ปี ค.ศ.1960 และประเทศสุดท้ายคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี ค.ศ.1994 (หลังว่างเว้นมา 27 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1967)

ปากีสถานเป็นหนึ่งในจำนวน 29 ประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินเพื่อเจริญพระราชไมตรีตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีกอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan) ระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม ค.ศ.1962 ซึ่งขณะนั้นแบ่งเป็นปากีสถานตะวันตก คือสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานในปัจจุบัน และปากีสถานตะวันออกที่ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนฐานทัพเรือ ณ นครการาจี ทรงเยี่ยมชมเรือรบปากีสถาน (PNS Munsaf) โดยกองทัพเรือปากีสถานจัดกองทหารเกียรติยศเพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุด รวมทั้งเสด็จฯ เยือนตักศิลา (Taxila) และเมืองธากา (Dhaka) เมืองหลวงของปากีสถานตะวันออกขณะนั้น”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนปากีสถานสามครั้งในปี ค.ศ.1991, 1998 และ 2006

ต่อมาในปี ค.ศ.2012 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีอาซีฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari)

.เอกอัครราชทูตปากีสถานและคณะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

“แม้ประเทศไทยและปากีสถานจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้เพียง 67 ปี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองมีมายาวนานแล้วกว่าสองพันปี ปากีสถานมีความภูมิใจในอารยธรรมสมัยคันธาระ (Candhara) ซึ่งเป็นเสมือนสายใยทางวัฒนธรรมเชื่อมประเทศทั้งสองเข้าด้วยกันโดยเฉพาะที่ตักศิลา อันเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วว่าเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางพระพุทธศาสนา”

“ปากีสถานและไทยมีความคล้ายคลึงกันในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชีย ขณะที่ปากีสถานตั้งอยู่ที่จุดตัดพรมแดนตะวันออกกลาง เอเชียกลาง จีน และเอเชียใต้ ปากีสถานและไทยจึงสามารถทำหน้าที่เป็นประตูสู่กันและกันในภูมิภาคของตน”

ทิวทัศน์อันงดงามในปากีสถาน
ขอบคุณภาพจาก yasir

“เมื่อมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทหารโดยการจัดตั้งสำนักงานทูตทหารขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศปากีสถานปี ค.ศ.2007 และสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทยในปี ค.ศ.2008 กองทัพปากีสถานและกองทัพไทยได้จัดเวทีปรึกษา หารือร่วมกันหลายรูปแบบเป็นประจำทุกปีทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงอิสลามาบัด”

“เวทีเหล่านี้เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนการฝึกและประสบการณ์ด้านต่อต้านการก่อการร้าย การเยือนในระดับสูง และความร่วมมือด้านรักษาสันติภาพ ส่วนบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการป้องกันประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย” พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ชี้แจง

“ผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศและขีดความสามารถในการใช้มาตรการทางการทูตโดยฝ่ายทหารของเราจะดำเนินต่อไปอย่างโดดเด่นยิ่งขึ้นในอนาคต”