ธุรกิจพอดีคำ : “ปลดทุกข์”

เป็นเวลาหลังพักเที่ยง

คุณกินข้าวเสร็จ ขึ้นมาที่ออฟฟิศ

ยังเหลือเวลาพักผ่อน นั่งเลยหน้าจอคอมพิวเตอร์

คุณเช็กข่าวสารช่วงเที่ยง

อีกมือก็หยิบผลไม้ที่เพิ่งซื้อจากตลาดนัดเข้ามากิน

หนึ่งคำ สองคำ สามคำ

ดูข่าวไป ดูวิดีโอไป กินผลไม้ไป

เกือบบ่ายโมง ได้เวลาทำงานต่อ

ผลไม้หมดถุงพอดี ข้าศึกเริ่มบุก

คุณลุกจากที่นั่ง เดินไปที่ห้องน้ำ

กิจกรรมที่คุ้นเคยทุกเที่ยง คือการ “ปลดทุกข์”

“ที่นั่งประจำ” ห้องเดิม

นั่งลง ทำสมาธิ หยิบมือถือขึ้นมาเล่น

ชิตแชตกับเพื่อนๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น

เงยหน้าขึ้นมาดูที่ประตู ก็พบกับ “ตัวย่อ”

ประชาสัมพันธ์บ่งบอก “วัฒนธรรม” บริษัท

คุณ “ก้มลง” เล่นมือถือต่อ

ราวกับว่า กระดาษใบนั้นไม่มีอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมทำ “ไลฟ์” ผ่านเฟซบุ๊ก ที่หน้าเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง” ของผมเอง

ปกติจะเชิญแขกรับเชิญที่ทำงานด้าน “เทคโนโลยี” มาแบ่งปันความรู้กันอย่างละเอียด

ไม่ว่าจะเป็น “วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)” หรือ “การออกแบบประสบการณ์ (UX Design)”

แต่คราวนี้ เราลดระดับความ “ล้ำยุค” ลงมา

พูดเรื่องง่ายๆ ที่จริงๆ “ไม่ง่าย”

นั่นคือเรื่องของ “การสื่อสาร” ผ่าน “การเล่าเรื่อง (Storytelling)”

โดยมีกูรูระดับประเทศ คุณพิ พิริยะ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างปรากฏการณ์ “สัมมนาระดับโลก”

ที่มีชื่อว่า “TEDxBangkok” มาแล้ว

พิมา “แบ่งปัน” เทคนิคในการ “สื่อสาร” เพื่อสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” ในวงกว้าง

แรกสุด พิบอกว่า จะสื่อสารให้ดีได้ ต้อง “ฆ่าคนรัก (Kill Your Darling)” เป็น

หมายความว่า คนเราโดยทั่วไปมักจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยากจะเล่าให้ “ผู้ฟัง” ได้ยินมากเต็มไปหมด

เราต้อง “ตัด” สิ่งที่เราอยากเล่าออกไปให้หมด

แต่นึกถึง “คนฟัง” ว่าเขาสนใจเรื่องอะไร

ทำไมเขาต้องมาฟังเรื่องที่เราเล่า มันจะเป็นประโยชน์อย่างไร

ตัดไปตัดมา หลายครั้ง เรื่องที่เรารัก อยากจะเล่า อาจจะไม่เหมาะสมกับกลุ่ม “คนฟัง” ก็เป็นได้

ในโลกที่หลายคนบอกว่า “เนื้อหาคือพระราชา (Content is King)”

พิบอกว่า เขาไม่เชื่อแบบนั้น

สำหรับเขา “ผู้ฟังคือพระราชา (Audience is King)” มากกว่า

เนื้อหาที่เราคิดว่าดี สุดท้ายอาจจะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ถ้า “ผู้ฟัง” ไม่ได้รู้สึกเป็นประโยชน์

พิเล่าให้ฟังว่า เคยได้โอกาสได้รับงานทางด้าน “การศึกษา”

เรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า ใครๆ ก็อยากจะเข้ามาช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ

จะว่าง่ายก็ง่าย แต่จะว่ายากก็ยาก

เพราะมีคนทำเยอะแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ตื่นเต้นอะไรมากมาย

มีงานเพื่อการศึกษางานหนึ่ง เลือกที่จะจัดบู๊ธที่ “เซ็นทรัลเวิลด์”

เขาถามพิว่า ให้ทายว่ามีคนมาดูงานวันละกี่คน

ผมตอบว่า สักร้อยก็น่าจะดีแล้วนะ

คำตอบคือ “สิบ” คน

อะไรนะ “เซ็นทรัลเวิลด์” เนี่ยนะ คนเยอะแยะ ไม่มีคนเข้าเลยหรอ

พิบอก ใช่ครับ

ถามว่า “ทำไม”

“คนที่มาเดินห้าง เขาอยากมาซื้อของ ไม่ได้อยากจะช่วยการศึกษานี่ครับ” พิพูดถึงแนวคิด

อ้าว แล้วงี้ “พิทำอย่างไร”

เขาเริ่มอธิบายว่า ระหว่างที่เดินคุยกับ “ป่าน” เพื่อนร่วมงาน และ “แฟนป่าน” ในห้าง

ก็ปิ๊งไอเดียว่า คนมาห้างเขาอยากมาซื้อของนี่นา

อยากจะเรียกความสนใจ ก็ต้องนำสิ่งที่เขาสนใจมา “ล่อ”

เขาเลยเอาป้าย “SALE (ลดราคา)” มาใช้ในการ “เรียกแขก”

ไม่เพียงแค่นั้น เรื่องของ “อารมณ์” ร่วมก็มีผลต่อ “การเคลื่อนไหว” เพื่อเปลี่ยนแปลง

เขาลงพื้นที่เพื่อค้นหา “แง่มุม” ที่น่าสนใจด้านการศึกษา

ซึ่งแน่นอน มีหลายด้านมากให้เลือก “ถกปัญหา”

เขาลงพื้นที่ไปจังหวัด “ลพบุรี” พบว่ามีเด็ก ม.2 สะกดชื่อของตัวเองไม่ได้

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อไปเจอแล้วมี “ผลกระทบ” ต่อจิตใจเขามากทีเดียว

เขาจำความรู้สึกนั้นไว้ แล้วคิดว่า “คนอื่นๆ” ก็น่าจะรู้สึกแบบเขา ถ้าได้มารับรู้สิ่งเดียวกัน

เมื่อคิดว่าจะนำเรื่อง “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” มารวมกับเรื่องการ “ขายของ”

เขาจึงทำเว็บไซต์อันหนึ่งขึ้นมา ด้านในมีเรื่องราวของ “เด็กๆ ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” มากมาย

และให้ผู้เข้าเว็บไซต์ “พิมพ์” ชื่อตัวเองลงไป

พอกด Enter ปุ๊บ หน้าจอแสดงผลถัดมาจะขึ้นชื่อเป็นรูปลายมือน้องๆ ที่ “เขียนชื่อ” ของคนที่เข้าเว็บคนนั้นแบบผิดๆ

ทำให้เห็นว่า “ชื่อง่ายๆ” ยังสะกดผิดเลย ยิ่งเป็นชื่อของตัวเอง ยิ่งสร้างอารมณ์ร่วมได้ดี

โดยมีทางเลือกให้สองทางหลังจากเห็น “ชื่อที่สะกดผิด” ของตัวเอง

หนึ่ง กด “SHARE” ถึงปัญหาในเฟซบุ๊กนี้ ให้คนรับรู้กันทั่วหน้า

สอง สั่งซื้อเสื้อที่มี “ลายมือ และชื่อผิดๆ” ของตัวเอง ราคาตัวละไม่กี่ร้อยบาท

นำเรื่อง “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” มาสร้างเป็น “ของขาย” ให้คนซื้อได้มีส่วนร่วมในการทำบุญ

ทำแคมเปญนี้อยู่สองสัปดาห์ ระดมทุนได้ “สองล้าน” บาท

อาทิตย์ละ “ล้าน”

ได้รางวัล Adman อีกเกือบสิบกว่ารางวัล

เรื่องของ “การสื่อสาร” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

สุดท้าย เริ่มต้นที่ “ผู้ฟัง” เสมอ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้พูดอยากจะพูด

คุณปลดทุกข์เสร็จเรียบร้อย

ใส่กางเกง กดชักโครก เดินออกมาจากห้องน้ำ

ราวกับว่า “กระดาษตัวย่อวัฒนธรรม” องค์กรนั้น

ไม่มีตัวตน