นงนุช สิงหเดชะ/ประชาธิปไตยอเมริกา เพิ่มอัตราเสี่ยงตายของพลเมือง?

นงนุช สิงหเดชะ

ประชาธิปไตยอเมริกา

เพิ่มอัตราเสี่ยงตายของพลเมือง?

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดสำหรับเหตุการณ์กราดยิงล่าสุดในโรงเรียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไป 17 ราย อีกทั้งไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับชาวโลก เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการควบคุมปืน เหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกและถี่กว่าเดิม
ความรุนแรงดังกล่าวกลายเป็นภาพชินชา เพราะเกิดขึ้นรายวัน
เอาแค่สถิติอันใกล้นี้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีเหตุกราดยิงในโรงเรียน 219 ครั้ง หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นี่ยังไม่นับการกราดยิงในสถานที่อื่น
เหตุการณ์ที่โรงเรียนในฟลอริดานี้ อาจถือว่ารุนแรงรองจากการยิงที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก รัฐคอนเนตทิคัต เมื่อปี 2012 ซึ่งมีทั้งเด็กนักเรียนวัยประถมและผู้ใหญ่เสียชีวิต 26 คน
คราวนั้นโศกเศร้าฟูมฟายไปครั้งหนึ่งแล้วเพราะมีเด็กเล็กเสียชีวิต พร้อมกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมปืน
แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสมาคมพ่อค้าปืนเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของนักการเมือง

ส่วนการระดมยิงคนเล่นเป็นผักปลาที่เกิดขึ้นนอกโรงเรียนและช็อกโลกมากที่สุดครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อนายสตีเฟน แพดด็อก วัย 64 ปี ใช้ปืนกราดยิงลงมาจากชั้น 32 ของโรงแรมในลาสเวกัส ใส่ฝูงชนที่กำลังชมงานดนตรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 59 ราย บาดเจ็บอีก 500 กว่าราย ถือว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์กราดยิงในสหรัฐ
เมื่อค้นในห้องพักโรงแรมของผู้ก่อเหตุ (ห้องพักแบบสวีตซึ่งราคาแพง) พบปืนมากถึง 23 กระบอก กระสุนอีกหลายร้อยนัด เมื่อตามไปค้นที่บ้านพักพบปืนอีก 19 กระบอก รวมแล้วนายคนนี้ครอบครองปืน 42 กระบอก
ส่วนแรงจูงใจการสังหารหมู่นั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะนายคนนี้ชิงฆ่าตัวตายก่อน แต่ญาติๆ ระบุว่าเป็นคนฐานะดีและไม่เคยมีประวัติป่วยทางจิต ไม่ได้มีปัญหาสุดโต่งทางศาสนาหรือการเมือง
แต่ดูจากการยิงเชื่อว่าเป็นการยิงด้วยความเกลียด หรือไม่ก็รู้สึกเมามันและสนุกที่ได้รัวยิงฆ่าคนเหมือนเล่นเกม และอาจจะเสพยาเสพติดเข้าไปด้วย นั่นเป็นวิถีน่าเศร้าของอเมริกันที่บูชาประชาธิปไตย-เสรีภาพ ปืนและยาเสพติด และโดยเฉพาะปืนนั้นคนอเมริกันมีค่านิยมว่าการครอบครองปืนแสดงถึงเสรีภาพ ทุกคนต้องมีเสรีภาพพกปืนโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเองตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ปัจจุบันคนอเมริกันครอบครองปืนมากที่สุดในโลก 300 ล้านกระบอก (จากจำนวนประชากร 300 กว่าล้านคน) หรือเฉลี่ยใน 100 คน จะมี 89 คนที่ครอบครองปืนสูงมากเมื่อเทียบกับแคนาดาที่เฉลี่ยใน 100 คนจะมีผู้ครอบครองปืน 30 คน และอังกฤษ 6 คน ต่อ 100 คน

เรื่องน่าเศร้าอยู่ตรงที่ว่า รัฐบาลสหรัฐทุ่มงบประมาณมหาศาลทั้งในและนอกประเทศเพื่อกำจัดกลุ่มรัฐอิสลามหัวรุนแรงหรือไอซิสและอัลเคด้า ทั้งที่หากไม่นับเหตุการณ์วินาศกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์แล้ว ยังไม่มีครั้งใดหลังจากนั้นที่ผู้ก่อการร้ายสามารถก่อเหตุใหญ่สังหารคนอเมริกันในดินแดนอเมริกาได้คราวละจำนวนมาก
และครั้งใดก็ตามที่มีชาวอเมริกันเสียชีวิตเพียง 2-3 คนจากฝีมือผู้ก่อการร้าย บรรดานักการเมืองและรัฐบาลก็จะพากันก่นด่าประณาม พากันตื่นตระหนกตกใจ
แต่กลับไม่สามารถจัดการอะไรได้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง โดยคนของตัวเอง ทั้งที่ก่อเหตุแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียได้มากกว่าผู้ก่อการร้ายหลายเท่า
หลังเกิดเหตุการณ์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวพอเป็นพิธี แต่เป็นคำกล่าวที่ไร้ประโยชน์และไร้ทางออก แค่แสดงความเสียใจและว่าไม่ควรมีครูหรือนักเรียนคนใดในสหรัฐรู้สึกไม่ปลอดภัย
แต่ไม่พูดว่าทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย
ซึ่งล่าสุดนี้ก็เห็นแค่มีมาตรการหน่อมแน้มออกมาว่าจะควบคุมอุปกรณ์เสริมประสิทธิภาพของปืนออโตเมติก แต่ไม่ได้มีการพูดถึงความเข้มงวดในการเป็นเจ้าของปืน
นักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวที่รอดชีวิต ออกมาเรียกร้องให้แบนการพกปืนอย่างเสรี พร้อมกับตำหนิว่านักการเมืองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์สังเวยชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะนักการเมืองรับเงินจากพ่อค้าปืน จากนั้นได้ตะโกนว่า “พวกคุณนี่มันน่าละอาย” ก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจะตะโกนประโยคเดียวกัน
ทางด้าน ส.ส.ฟลอริดา พรรครีพับลิกันอย่างนายฟรานซิส รูนีย์ ได้ออกมาระบุว่า พวกเราคงต้องยอม “เสียเสรีภาพ” บางอย่างเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยจากปืน และเรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายใหม่มาควบคุมปืน
แต่เชื่อว่าเสียงของรูนีย์ คงเป็นแค่เม็ดทรายเม็ดเดียวในมหาสมุทรของพรรครีพับลิกัน เพราะรีพับลิกันคือตัวเอ้ในการรับผลประโยชน์จากสมาคมพ่อค้าปืน
มีความเป็นไปได้ยากที่กฎหมายจะผ่านออกมา และอีกไม่นานพอเรื่องซาลงแล้ว นักการเมืองก็จะเอาหูทวนลม ทำเฉย เพราะเบื้องลึกของนักการเมืองอเมริกันเหล่านี้แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ใช่ว่าจะอินังขังขอบชีวิตของประชาชน

นั่งมองประเทศประชาธิปไตยและแนวคิดนักการเมืองอเมริกันแล้ว บางทีอดสงสัยไม่ได้ว่า นักการเมืองจากการเลือกตั้งเหล่านี้มีประโยชน์อะไรต่อประชาชน เพราะแม้ประชาชนจะมีเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องในปัญหาใหญ่ๆ แต่ผลลัพธ์เกิดขึ้นน้อยมาก
นักการเมืองอาจเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเสรี แต่อย่าได้หวังว่านักการเมืองจะลงมือทำอะไรสักอย่างที่ดีหรือมากไปกว่าประเทศที่มีเสรีภาพน้อยอย่างจีนหรือสิงคโปร์
การให้เสรีภาพการชุมนุมที่อเมริกา บางทีก็เป็นแค่พิธีกรรมที่ทำให้ประชาชนสบายใจ เคลิบเคลิ้มว่าได้เสรีภาพ แต่เป็นคนละเรื่องกับการที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไข การให้เสรีภาพในอเมริกาบางทีจึงดูเหมือนการ “เล่นละครประชาธิปไตย” ที่ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเสรีภาพนั้น
บางคนในเมืองไทยอาจเถียงว่า อเมริกาดีกว่าเพราะอย่างน้อยทหารไม่เข้ามายึดอำนาจ ทหารไม่ยิงประชาชน
ก็จริงที่ว่าทหารอเมริกันไม่ยิงประชาชน (แต่มีตำรวจตีม็อบตาย) แต่สังเกตหรือไม่ว่าประชาชนอเมริกันด้วยกันเองนั่นล่ะที่ยิงกัน ฆ่ากันคราวละมากๆ พลเมืองธรรมดาเพียงคนเดียวที่มีปืนกลอัตโนมัติอาจมีแสนยานุภาพฆ่าคนได้ไม่ต่างจากทหารหนึ่งกองทัพ
เวลาทหารจะยิงใคร อย่างน้อยเขาก็อยู่เป็นที่เป็นทาง อยู่ในเหตุการณ์เฉพาะ ประชาชนยังมีเวลาเตรียมตัวหรือเลือกได้ว่าจะเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงหรือไม่
แต่พลเมืองที่พกปืนไปในโรงหนัง ในห้างสรรพสินค้า สำนักงานและโรงเรียนได้อย่างเสรีนี่สิ ทำให้เราสามารถตายได้ทุกเมื่อแบบไม่มีทางเลือกเลย
ที่คิดว่าการเลือกตั้งทำให้อำนาจอยู่ในมือประชาชนนั้น บางทีก็เป็นเรื่องมโนไปเองและคาดหวังสูงเกินไป
เพราะอำนาจแท้จริงยังอยู่ที่กลุ่มทุน ไม่ว่าจะเลือกพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันก็ตาม (ไม่ต่างจากประเทศไทย)