ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : 10 PLACES IN TOKYO ความมืดอันเจิดจ้าแห่งการทำลายล้าง เหรียญสองด้านของพลังงานปรมาณู

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ช่วงนี้ออกจะรีวิวนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยบ่อยสักนิด ก็หวังว่าอย่าเพิ่งเบื่อกันไปก่อน เพราะงานดีๆ มันมีมาให้ดูถี่จริงๆ

อย่างนิทรรศการล่าสุดที่เพิ่งไปดูมานั้นชื่อว่า 10 PLACES IN TOKYO ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

ศิลปินสาวผู้อาศัยและทำงานอยู่ในเชียงใหม่ ผู้สร้างผลงานทัศนศิลป์ที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผลงานสื่อศิลปะอย่างวิดีโอสารคดี และศิลปะจัดวาง

ผลงานส่วนใหญ่ของเธอมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตรง แต่ถูกนําเสนอในประเด็นสาธารณะโดยดึงเอาความเกี่ยวพันแวดล้อมอื่นๆ เข้ามา

ทำให้เรื่องส่วนตัวที่ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหาและค้นพบโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่กว่า

เธอมีงานแสดงทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

และยังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นศิลปินพํานักในโครงการศิลปะหลายหลากทั่วโลก

ผลงานในนิทรรศการ 10 PLACES IN TOKYO ของเธอครั้งนี้ จัดขึ้นในพื้นที่ของแกลเลอรีเว่อร์ มันประกอบด้วยผลงานวิดีโอจัดวาง 10 จอ ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวขาวดำจากสถานที่ต่างๆ ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เหมือนกับชื่อของงานนั่นแหละ)

โดยวิดีโอเหล่านี้ถูกติดตั้งให้ล้อไปกับพื้นที่ภายในของหอศิลป์อย่างซับซ้อน ด้วยการฉายภาพผ่านอุปกรณ์ต่างๆ หลากหลาย ทั้งจอโทรทัศน์ จอมอนิเตอร์เล็กใหญ่ที่ทั้งแขวนบนผนังหรือวางพิงผนังไว้บนพื้น หรือฉายจากเครื่องโปรเจ็กต์เตอร์ลงบนผนัง มุมห้องบนช่องประตู หรือแม้กระทั่งบนพื้นของหอศิลป์ก็ยังมี

ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำเสนอที่แปลกใหม่น่าสนใจแล้ว มันยังเป็นการสร้างมิติและความหมายใหม่ให้กับพื้นที่ของหอศิลป์แห่งนี้อีกด้วย ผนวกกับการสร้างแสงสีอันประหลาดล้ำจากหลอดไฟบนเพดานหอศิลป์ และเทคนิคพิเศษทางภาพของวิดีโอ กับเอฟเฟ็กต์เสียงประกอบอันแปลกประหลาด ตรงส่วนทางเข้าของงานแขวนด้วยภาพตัวต่อจิ๊กซอว์รูปทิวทัศน์ในญี่ปุ่นที่หลุดร่อนร่วงหล่นในกรอบกระจก

รวมกันเป็นงานศิลปะที่สร้างบรรยากาศอันพิสดารชวนหลอนราวกับเดินเข้าไปดินแดนพิศวงที่สร้างขึ้นโดยศิลปินก็ปาน

นับเป็นงานศิลปะจัดวางที่ผ่านการคิดคำนวณอย่างละเอียดอ่อนและชาญฉลาดโดยแท้

dscf0693-1

ศิลปินสาวอย่าง สุทธิรัตน์ หรือ ส้ม บอกเล่าถึงแนวคิดและที่มาของนิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้ของเธอให้เราฟังว่า

“ก่อนหน้าที่จะทำงานชิ้นนี้มีงานชิ้นนึงเป็นวิดีโอ ซึ่งสถาบันเกอเธ่ชวนให้ไปทำโปรเจ็กต์อันนึงเกี่ยวกับแม่น้ำ (Imaging Mekong Fellowship) เราก็เลยเลือกแม่น้ำปิง เพราะมันเป็นแม่น้ำที่อยู่ในท้องถิ่นเราอย่างเชียงใหม่ ลำพูน ปู่ย่าตายายเราก็อาศัยอยู่ริมแม่น้ำนี้ คุณตาเคยทำอาชีพที่ต้องเดินทางล่องแม่น้ำเพื่อทำการค้า เขาเคยทำบริษัทยุโรปที่มาทำการค้าไม้สักภาคเหนือ โดยเขาจะไปตัดไม้ในป่า แล้วให้ช้างลากมาที่แม่น้ำ แล้วส่งไม้ไปกรุงเทพฯ โดยทำเป็นแพล่องแม่น้ำไป แล้วเขาก็เป็นพ่อค้าขายของระหว่างถิ่นต่างๆ ผ่านแม่น้ำด้วย”

“พอเรากลับมาค้นคว้าเราก็รู้ว่ามันเดินทางแบบนี้เหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว เพราะมันมีเขื่อนภูมิพลซึ่งสร้างตั้งแต่ 50 ปีแล้ว ซึ่งทำให้เส้นทางถูกตัดขาดไป”

“วิดีโอชิ้นนั้นเราก็เลยทำเรื่องความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำในยุคของเรา มันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราเห็นว่า เขื่อน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า มันมีผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมมากเหมือนกัน”

“ซึ่งตอนเด็กๆ ก็เคยได้ยินมา แต่พอมาศึกษาลงลึกก็รู้ว่ามันมีผลกระทบเยอะ เพราะมันทำให้ครอบครัวของตาต้องย้ายออกมาจากภูเขาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน เราก็เลยรู้สึกว่า การสร้างกระแสไฟฟ้ามันมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ เยอะเหมือนกัน”

“มันก็เลยทำให้เราสนใจเรื่องผลกระทบของการสร้างกระแสไฟฟ้า ซึ่งคนที่ใช้อย่างพวกเราก็จะไม่ค่อยเห็นที่มาที่ไปว่ามันถูกผลิตยังไงและมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ ยังไง”

“พอเราได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินพำนัก (International Creator Residency Program) ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม Tokyo Wonder Site ประเทศญี่ปุ่น ก็เลยใช้ประเด็นนี้ไปทำงานต่อที่นั่น ซึ่งเราก็ยังสนใจเรื่องเขื่อนอยู่ เราก็ไปเยี่ยมเขื่อนอันนึงที่มันอยู่ไม่ไกลจากโตเกียวเท่าไหร่ (เขื่อนยันบะ) โครงการเขื่อนนี้มันถูกริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหกสิบกว่าปีที่แล้ว แต่พอเราไปถึงจริงๆ มันยังไม่มีเขื่อนเลยด้วยซ้ำ เราก็เลยไปศึกษาว่าทำไมมันยังไม่ถูกสร้างขึ้น เราก็พบว่า ในรัฐบาลญี่ปุ่นทุกยุคทุกสมัย ถ้ามีประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะกลับไปทำโครงการเขื่อนนี้ต่อ แล้วพอคนลืมไปแล้วก็จะเลิกทำ แล้วกลับไปทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อ”

“สรุปแล้วมันเป็นแค่ข้ออ้างเวลามีใครต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ก็จะกลับไปใช้พลังงานเขื่อนก็ได้ หกสิบกว่าปีที่ผ่านมามันก็เลยไม่เกิดเขื่อนขึ้นมาสักที เพราะเขาอยากใช้พลังงานนิวเคลียร์มากกว่า เราก็เลยหันมาโฟกัสที่พลังงานนิวเคลียร์แทน เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่พลังงานที่ใช้มากที่สุดในญี่ปุ่น แต่มันก็ใช้มากในระดับหนึ่ง และมันก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเลือกใช้”

“เราก็เลยกลับไปที่โตเกียว และขอให้เจ้าหน้าที่ของ Tokyo Wonder Site หาข้อมูลของสิบสถานที่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะที่สุดในโตเกียวว่ามันมีที่ไหนบ้าง”

“เขาก็ไปหาเจอในหนังสือพิมพ์ โตเกียว ชิมบุน ซึ่งตีพิมพ์หนึ่งปีก่อนที่จะมีท์สึนามิ ซึ่งมีลิสต์ของ “สถานที่สิบแห่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในกรุงโตเกียว” พอดีช่วงเวลาเดียวกันเรามีนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งเมืองฮิโรชิมา (Hiroshima City Museum of Contemporary Art) อยู่แล้ว เขาก็เชิญเราไปพูดพอดี ก็มีโอกาสอยู่ที่นั่นคืนนึงและได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกความทรงจำเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู (Hiroshima Peace Memorial Museum) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้เราประทับใจในหลายๆ เรื่อง ทั้งความรู้สึกของคนในช่วงนั้น ทั้งประวัติศาสตร์ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ว่าระเบิดปรมาณูมันส่งผลกระทบอะไรกับผู้คนและสภาพแวดล้อมบ้าง”

“มีอันนึงที่น่าสนใจมาก คือตอนที่ระเบิดปรมาณูระเบิดมันจะมีแสงสีขาววาบและความร้อนสูงจนทำให้สสารที่มีสีเข้มหรือสีดำบนวัตถุทุกอย่างถูกเผาไหม้และหลอมละลายเป็นอันดับแรก เพราะมันดูดซับความร้อนได้ดีที่สุด ซึ่งเขาจะเก็บวัตถุเหล่านั้นเอาไว้เพื่อให้เราเห็นผลกระทบของระเบิดปรมาณู”

“พอได้ไปเห็นเราค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม เราก็เลยเห็นจุดนึงที่น่าสนใจมากตรงที่พลังงานนิวเคลียร์มันเป็นความคิดของไอน์สไตน์ที่ค้นหาว่าพลังงานคืออะไร แต่ต่อมามันถูกพัฒนามาเป็นอาวุธร้ายอันนึงโดยโปรเจ็กต์แมนฮัตตันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาวุธนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่ฮิโรชิมากับนางาซากิ”

“หลังจากเหตุการณ์นี้รัฐบาลอเมริกันก็ถูกประณามจากทั่วโลกจนทำให้โปรเจ็กต์นี้ถูกพับไป แต่เทคโนโลยีเดียวกันนี้กลับถูกนำไปพัฒนาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งญี่ปุ่นก็รับเทคโนโลยีอันนี้จากอเมริกา เราก็เลยเห็นว่ามันเป็นจุดเชื่อมของสองเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่มาจากเทคโนโลยีเดียวกัน”

“ซึ่งพอศึกษาไปเรื่อยๆ เราพบว่าเทคโนโลยีนี้มันเป็นดาบสองคมมาก เพราะมันทั้งผลิตพลังงานไฟฟ้าและเป็นอาวุธได้เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นใช้ข้ออ้างในการครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งๆ ที่มีแหล่งผลิตพลังงานอื่นๆ ได้ เพื่อที่จะมีเทคโนโลยีนี้ไว้ในมือ ซึ่งวันหนึ่งมันอาจเปลี่ยนเป็นอาวุธได้”

“เราก็เลยพยายามทำให้งานเราแสดงจุดเชื่อมระหว่างสองสิ่งนี้ ด้วยการกลับไปถ่ายวิดีโอสถานที่สิบแห่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในกรุงโตเกียว ที่เลือกใช้ภาพของโตเกียวแทนที่จะเป็นฟูกูชิมะที่มีโรงไฟฟ้า เป็นเพราะว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัท TEPCO ในฟูกูชิมะนั้นผลิตพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้กับโตเกียวเพียงเมืองเดียวเท่านั้น”

“แต่โดยส่วนใหญ่ที่ไปถ่ายวิดีโอเราจะถ่ายสถาปัตยกรรม ถ่ายภาพชีวิตทั่วๆ ไปรอบๆ สถานที่พวกนั้น และถ่ายออกมาเป็นภาพวิดีโอขาวดำเพราะอยากจะเล่นกับสีดำที่ถูกเผาไหม้จากความร้อนของระเบิดปรมาณูเป็นอย่างแรก”

“จากนั้นเราก็จะทำให้สิ่งที่เป็นสีดำและสีเข้มทั้งหลายในภาพวิดีโอนั้นแตกตัวและสูญเสียสภาพของมันไปและกลายเป็นแสงสีขาวสว่างจ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร้อนของระเบิดปรมาณูที่ทำปฏิกิริยากับสสารสีเข้มของวัตถุต่างๆ อย่างที่บอกไป”

“ซึ่งการเปลี่ยนสภาพในภาพวิดีโอทั้งสิบภาพจะถูกตัดต่อและซิงก์ให้มันเป็นจังหวะเดียวกันทั้งหมดเพื่อให้ทุกภาพมันเชื่อมโยงกัน”

01

“งานชุดนี้เคยแสดงที่ญี่ปุ่น (Tokyo Wonder Site) ในปี 2013 แต่แสดงแค่จอเดียว เป็นวิดีโอความยาวชิ้นละ 6 นาที ต่อๆ กัน 10 ชิ้น ซึ่งมันไม่เป็นอย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น แต่ต้องทำแบบนั้นไปก่อน ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและสถานที่ หลังจากนั้นอีกหลายปี เวลาเราไปเสนองานที่ไหนเราก็จะนำเสนองานชิ้นนี้ ก็มีคนสนใจเหมือนกัน”

“แต่การที่จะเอามันไปแสดงก็ค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะมันต้องซิงก์วิดีโอทั้ง 10 จอเข้าด้วยกัน ก็เลยไม่ได้แสดงที่ไหนเลย”

“ก็ประจวบกับที่ เต้ (จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล) ผู้อำนวยการหอศิลป์ VER มาติดต่อพอดี เราก็เลยเสนองานนี้ไป พอดีพี่ฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช/ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหอศิลป์ VER) ก็สนใจและบอกให้แสดงชิ้นนี้เลย ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะมีใครทำได้หรือเปล่า เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีเทคโนโลยีในการซิงก์วิดีโอแบบนี้ แต่ในที่สุดก็ได้ทีมติดตั้งงานจาก Keystone Studio มาหาทางทำให้งานชิ้นนี้มันออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เราต้องการพอดี”

“งานนี้เป็นงานที่ต้องอธิบาย คนดูงานต้องอ่านรายละเอียดของงาน เพราะถ้าดูอย่างเดียวอาจจะคิดไม่ถึงตรงนั้น แต่แสงวาบสีขาวที่ปรากกฏขึ้นในวิดีโอคนดูบางคนน่าจะพอรู้ มันจะมีคำศัพท์นึงของญี่ปุ่นที่อธิบายแสงวาบนี้ว่า Pikadon (Pika แปลว่า แสงเจิดจ้า don แปลว่า เสียงดังสนั่นหวั่นไหว) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเวลาที่เกิดระเบิดปรมาณู”

“นอกจากการติดตั้งที่ทำให้เห็นภาพและเรื่องราวในงานแล้ว มันก็ยังเป็นการเล่นกับพื้นที่ แสงไฟในงานมันจะทำให้เราสังเกตรายละเอียดและมิติของสถาปัตยกรรมของหอศิลป์มากขึ้น จากที่เราไม่เคยสังเกตมันมาก่อนเลย”

“ส่วนแสงในห้องหลักเราทำให้เป็นแสงสีแดงส้มซึ่งเป็นสีของบรรยากาศที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นผลมาจากกัมมันตภาพรังสี”

“ตอนมืดจะสังเกตได้ว่าส่วนสีดำที่เห็นในวิดีโอจะกลายเป็นสีแดงส้มทั้งหมดอันเกิดจากผลกระทบของแสงสี”

“ส่วนภาพจิ๊กซอว์ที่แขวนตรงทางเข้า เราเอาภาพนิ่งจากวิดีโอ ซึ่งเป็นสองสถานที่ที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดและน้อยที่สุดในจำนวนสิบสถานที่ที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในโตเกียวที่เราถ่ายทำมา ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าตัวจิ๊กซอว์จะหลุดร่วงลงมาเฉพาะตรงส่วนที่เป็นสีดำของภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดของสีดำที่ถูกทำลายเหมือนกับตัวงานชิ้นหลัก”

“ส่วนเสียงที่ได้ยินในงาน เราใช้เสียงของน้ำในกาต้มน้ำไฟฟ้าที่ค่อยๆ ต้มจนน้ำเดือดพลั่กๆ แล้วค่อยๆ ดับไป”

“ซึ่งโดยหลักการของการผลิตไฟฟ้ามันคือการทำให้เกิดความร้อนเพื่อต้มน้ำให้แรงดันของไอน้ำไปหมุนเครื่องจักรให้ทำงาน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มันต้องใช้ความร้อนจำนวนมหาศาลมาก”

“โครงการศิลปะนี้สำหรับเรา มันเป็นเหมือนกรณีศึกษาให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงแค่กับคนญี่ปุ่น เพียงแต่เหตุการณ์ในญี่ปุ่นมันทำให้เห็นภาพชัดว่าเกิดอะไรขึ้น เราคิดว่าการมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์กับอาวุธนิวเคลียร์มันเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่มันพลิกผันได้ มันต้องระวังให้มาก ในบ้านเราเองถึงแม้ที่ผ่านมาในทุกรัฐบาล ประชาชนจะต่อต้านจนโครงการนี้ไม่ถูกสร้างขึ้น แต่มันก็อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็ได้”

นิทรรศการ 10 PLACES IN TOKYO มีให้ชมตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม – 24 กันยายน 2016 นี้ ที่แกลเลอรีเว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22 (ซ.สาธุประดิษฐ์ 15) ช่องนนทรี ยานoาวา กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อี-เมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรีเว่อร์