โล่เงิน : อุทาหรณ์คดี “พ.ต.ท.” ล่าสัตว์ ถึงจับ “เปรมชัย” ป่าทุ่งใหญ่ จับตาผลตัดสินบทสรุปคดี!!

นับเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่องสำหรับคดีที่ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก ถูกจับกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมปืนไรเฟิล อาวุธปืนอื่นๆ เครื่องกระสุน และซากสัตว์ป่า

คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภ.7) ก่อนจะนำสำนวนการสอบสวนทั้งหมดพร้อมความเห็นส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี

เบื้องต้นมีการแจ้ง 9 ข้อหานายเปรมชัยกับพวก ก่อนจะนำตัวไปฝากขังต่อศาล

ซึ่งเมื่อมีการฝากขังแล้ว ศาลอนุญาตให้นายเปรมชัยและพวกประกันตัวไปตีราคาประกัน 1.5 แสนบาทโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีข่าวนายทุนล่าสัตว์นี้ ช่วงปี 2555 มีคดีนายตำรวจล่าสัตว์ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 ที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่ชุดเข้าจับกุม พ.ต.ท.ธีรยุทธ เกตุมั่งมี อดีต สว.สส.สภ.ปราณบุรี และพวกรวม 9 คน ขณะเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่าในอุทยานฯ ที่ป่าห้วยแม่ประโดน หมู่ 3 ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจยึดปืนยาวติดกล้องขยายขนาด .22 จำนวน 2 กระบอก ปืนยาวขนาด .22 ไทยประดิษฐ์ 1 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก ปืนลูกซองยาวไทยประดิษฐ์ 1 กระบอก ปืนพกสั้นขนาด 11 ม.ม. 2 กระบอก ขนาด 9 ม.ม. 2 กระบอก เครื่องกระสุนปืนขนาดต่างๆ อีกกว่า 100 นัด มีดเดินป่าขนาดใหญ่ 3 เล่ม ซากกระจงเพศเมีย เป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 1 ตัว และกบภูเขา หรือกบทูต กบพื้นถิ่นที่อาศัยและแพร่พันธุ์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจำนวน 100 ตัว และหลักฐานเป็นภาพนิ่งเเละวิดีโอจากกล้องที่ตรวจยึดได้

แต่คดีทำท่าจะมีปัญหาเมื่อนายสุทธิพงษ์ ตันบุญยศิริเดช นายอำเภอแก่งกระจาน หัวหน้าพนักงานสอบสวน ตามกฎหมาย และ พ.ต.ท.กลยุทธ์ วงษ์เพ็ชร์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.แก่งกระจาน เจ้าของคดี มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาเพียงแค่ 8 คน

แต่ไม่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ธีรยุทธ

จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่าคดีมีการช่วยเหลือกัน

ภายหลังได้มีคำสั่งย้ายนายสุทธิพงษ์ นายอำเภอไปช่วยราชการที่วิทยาลัยการปกครอง

และย้าย พ.ต.ท.กลยุทธ์ ไปปฏิบัติราชการที่ ภ.จว.เพชรบุรี และได้แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผช.ผบ.ตร. ในขณะนั้น ลงมาควบคุมการสอบสวน

พร้อมตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง

จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้พนักอัยการจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ธีรยุทธ พร้อมพวกรวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต่อศาลได้

โดยศาลจังหวัดเพชรบุรีเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหมด มีความผิดแตกต่างกันตามแต่พฤติการณ์ ในข้อหา พ.ร.บ.อาวุธปืน และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,250-20,250 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้

ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และ พ.ต.ท.ธีรยุทธ จำเลยที่ 9

ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหมด และให้ลงโทษสถานหนัก

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งหมดรวมจำเลยที่ 3 และ พ.ต.ท.ธีรยุทธ จำเลยที่ 9 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละราย หลายข้อหาแตกต่างกันตามพฤติการณ์ความหนักเบา ลงโทษตั้งแต่ 10-19 เดือน และปรับ 250-500 บาท โดยไม่รอการลงโทษ และให้ริบของกลางทั้งหมด

ทั้งนี้ พบว่าในส่วนของ พ.ต.ท.ธีรยุทธ ศาลตัดสินจำคุก 10 เดือน ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษา ในปี 2560 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1643/2557 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทำให้จุดสิ้นสุดของคดีนี้ จำเลยทุกคนต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นสิ้นสุดคดีตามผลการกระทำ

ขณะที่คดีล่าสุดที่นายเปรมชัยตกเป็นผู้ต้องหานั้น จะเห็นว่าเบื้องต้นถูกพนักงานสอบสวน บช.ภ.7 แจ้ง 9 ข้อหา ประกอบด้วย

1. ความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครอง ซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

5. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

6. ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490

7. ฐานนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต

8. ฐานซ่อนเร้น อำพราง รับไว้ซึ่งซากสัตว์ซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย

และ 9. พ.ร.บ.อาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีในพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล แต่ละคดีต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ความหนักเบาที่ศาลจะลงโทษในแต่ละคดีนั้นย่อมไม่เหมือนกัน เพราะศาลจะต้องดูตามพฤติการณ์ที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นความผิดฐานเดียวกัน จะลงโทษไม่เท่ากัน

จึงน่าติดตามต่อว่า 9 ข้อหาที่นายเปรมชัยกับพวก ถูกแจ้งข้อหาในชั้นสอบสวน จะนำขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลกี่ข้อหา และพยานหลักฐานที่นำมาต่อสู้กันในชั้นศาล

ผลของคดีสุดท้ายจะออกมาในรูปแบบใด?!!