โลกหมุนเร็ว/ไม่มีขนมไส้อร่อย

เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

ไม่มีขนมไส้อร่อย

ฝรั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ คนจีนกินขนมไส้ประเภทซาลาเปา คนไทยกินข้าว ความแพร่หลายของแฮมเบอร์เกอร์กับขนมไส้แบบซาลาเปามีแค่ไหนไม่ต้องพูดถึง เพราะมีคุณสมบัติกินสะดวกเหมือนๆ กัน คนไทยมีอาหารที่สะดวกต้องใช้ช้อน เช่น ข้าวมันไก่ หรือข้าวเหนียวหมูปิ้งก็พอได้ ส่วนขนมไส้แบบขนมเทียนต้องปอกเลอะมือ
ได้อ่านคำกล่าวของผู้นำจีน สี จิ้น ผิง ที่เรียบง่าย ทว่า บอกถึงความคิดและตัวตนของท่านได้เป็นอย่างดี ท่านพูดสั้นๆ แค่สองประโยคว่า “ไม่มีขนมไส้อร่อยหล่นจากฟ้า ถลกแขนเสื้อเดินหน้าลงมือทำ” ส่งไลน์กันมาหลายห้องแปลว่าคำกล่าวนี้ “โดน”
คนจีนเป็นคนขยันโดยสายเลือดอยู่แล้ว แต่คนจีนยุคเทคโนโลยีอาจจะไม่ขยันเท่ารุ่นก่อนเพราะอาศัยเทคโนโลยีทำงานและมีเวลาว่างมากขึ้น มีเวลาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คนจีนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบก็ใช้ความขยันอุตสาหะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ตนเอง วงศ์ตระกูล และเมืองไทยที่เขามาอาศัยอยู่

ติดตามข่าวผลงานของหอการค้าไทยจีนที่มีคุณพินิจ จารุสมบัติ เป็นหัวเรือใหญ่มาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราที่บึงกาฬ
หลายปีก่อนมีผลผลิตหมอนยางพาราจากโครงการต่อยอดยางพาราของบึงกาฬ จำได้ว่ามีผลิตออกมาจำนวนจำกัดและต้องสั่งซื้อจำนวน 20 ใบจึงจะได้ราคาพิเศษ ปรากฏว่ามัวแต่งุ่มง่ามจึงสั่งไม่ทัน ต่อมามีขายปริมาณมากขึ้นจึงได้มาไว้ใช้ ปัจจุบันทุกห้างมีขายกันแพร่หลาย และได้ข่าวว่าลูกค้าจากประเทศจีนชมชอบกันมาก
รู้สึกดีใจด้วย
ปัจจุบันเรื่องของยางพาราได้ทำให้ผู้คนรู้จักบึงกาฬกันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับที่ฟุตบอลลีกได้ทำให้คนรู้จักบุรีรัมย์กันมากขึ้น
การใช้ประโยชน์จากยางพารามีการวิจัยพัฒนากันกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่หมอนยางพารา แต่รวมไปถึงการลาดถนนด้วยยางพารา รองเท้ายาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
อันที่จริงไม่เฉพาะบึงกาฬ แต่จังหวัดภาคใต้ของไทยที่ปลูกยางเป็นหลักก็ได้ตื่นจากหลับลุกขึ้นมาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารากันอย่างสนุกสนาน เช่น จังหวัดพัทลุง
โธ่เอ๋ยคุณขา ในบ้านเรือนของเรานี่มีของใช้ที่เป็นยางเยอะแยะ เฉพาะรองเท้าแตะยางก็มีกันทุกบ้านแล้ว และยังของที่ใช้ในอุตสาหกรรมอีกเล่าที่ต้องพึ่งพายางพารา และหากมีนักวิจัยเก่งๆ ก็ยังนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย เช่น ของเล่น หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม มีงาน “วันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ” มีคำขวัญว่า “ศาสตร์พระราชารุ่งเรือง เมืองศูนย์กลางยางพารา เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า เปิดประตูการค้าอินโดจีน” ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภาพรวมของงานมีเนื้อหาแน่น มีประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไปมาก มีนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ไม่ใช่มีแต่ในกระดาษ
อันว่าเมืองไทยนั้นต้องการงานวิจัยที่เอามาพัฒนาต่อยอดได้ มิใช่มีอยู่แต่ในกระดาษแล้วขึ้นหิ้งไว้ นักวิจัยท่านหนึ่งคือ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องการพัฒนายางเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“เกษตรกรเริ่มต้นกันทำแค่ไหน เมื่อทำแล้วขายใคร จะพึ่งให้รัฐซื้อนั้นเป็นไปไม่ได้ เขาต้องหาคนมาซื้อด้วยตัวเอง บังเอิญว่าตอนนี้ตลาดท่องเที่ยวปูทางไว้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ได้รับความนิยมเป็นสินค้าเรือธง นักท่องเที่ยวจีนทุกคนมาต้องหาซื้อหมอนที่นอนยางพารากลับไป ได้รับความนิยมจนผลิตแทบไม่ทัน”
ดร.ณัฐพงศ์ให้ข้อมูลด้วยว่า สินค้าแปรรูปจากยางพาราในต่างประเทศมีราคาแพง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและรู้จักการสร้างมูลค่าของแบรนด์ ยกตัวอย่าง กระป๋องน้ำผลิตด้วยยางพารา จากประเทศอิตาลี สามารถพับเก็บได้ ราคา 5,000 บาท หรือ Puma นำยางพารามาผลิตเป็นพื้นรองเท้าขายคู่ละ 10,000 บาท แบรนด์ Converse ผลิตรองเท้าหนัง ขายคู่ละ 4,000 บาท แบรนด์ Vans พื้นรองเท้าหนาผลิตจากยางพารา ครองใจสาวกทั่วโลก
การจัดงานวันยางพาราของจังหวัดบึงกาฬสร้างผลกระทบด้านบวกให้กับจังหวัดเป็นอย่างมาก เกิดโรงงาน และความร่วมมือมากมาย รวมถึงร้านอาหารและโรงแรม มีการลงนามเพื่อความร่วมมือกับจีน เป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งเมื่อเห็นผลในสองสามปีจะมีมูลค่าหลักหมื่นล้าน
ฝ่ายเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ก็ออกมาเรียกร้องภาครัฐให้ใช้วิธีการบริหารแทนการงดกรีดยาง หรือลดพื้นที่ปลูก และตัดโค่นยางพารา เชื่อมั่นว่าไม่ใช่ทางออกที่ดี

นึกไปถึงกิจการโคนมยุคเริ่มแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านขอพันธุ์โคนมจากเดนมาร์กมาให้คนไทยเลี้ยงแล้วต่างคนต่างก็รีดนมไปส่งให้ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อทำการตลาดออกจำหน่ายแก่ประชาชน
การยางแห่งประเทศไทยก็น่าจะทำงานแบบเดียวกันได้ คือนำผลงานวิจัยมาต่อยอด หาทุนจากรัฐตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์
เรามีกรมหม่อนไหม กรมฝนหลวง จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีกรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำด้วยความคิดสร้างสรรค์ ระดมสมองนักวิจัย นักเคมี นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักการตลาด นักสร้างแบรนด์ ทำงานร่วมกัน
อนาคตยางไทยอยู่ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง “ถลกแขนเสื้อเดินหน้าลงมือทำ”