จาก “โรงซ่อมรถถังจีน” ที่ขอนแก่น ถึง “เครื่องบินฝึกรบเกาหลีใต้” ยุค “เอเชียนิยม” ในกองทัพไทย

เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ส่งผลกระทบต่อ “กองทัพ” เช่นกัน โดยเฉพาะ “กล้ามเนื้อนอกการควบคุม” จากภายนอกประเทศ ที่มิตรประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลดและระงับความสัมพันธ์ทางทหารบางอย่างไปชั่วคราว

โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ แม้จะผ่อนปรนลงหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะนโยบาย “America First” ทำให้ความร่วมมือทางการทหารบางด้านฟื้นคืนกลับมา

ก่อนหน้านั้น ไทยจึงจัดหายุทโธปกรณ์จากค่ายอื่นแทน โดยเฉพาะ “ค่ายเอเชีย” ผ่านมหาอำนาจที่เคยหลับใหลอย่าง “จีน” ที่กำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกตีคู่สหรัฐ ทั้งทางด้าน “เศรษฐกิจ” และ “การทหาร”

จีนพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่เป็นฐานที่มั่นตั้งเดิมของสหรัฐตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

การจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนครั้งใหญ่ของกองทัพบกไทยจึงสร้างแรงสะเทือนไม่น้อย ได้แก่ รถถัง VT-4 รวม 38 คัน มูลค่ากว่า 7,050 ล้านบาท แบ่งเป็นล็อตแรก 28 คัน 5,020 ล้านบาท ล็อตที่ 2 รวม 10 คัน 2,030 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 3 ยังไม่ผ่านการอนุมัติ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา 10 คัน รวม 1,900 ล้านบาท

อีกทั้งมีการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง VN-1 รวม 34 คัน ด้วยงบประมาณกว่า 2,300 ล้านบาท ไปก่อนหน้านี้ เป็นต้น

รถถัง VT-4 ทั้ง 38 คัน จะเข้าประจำการตามหน่วยทหารม้า ได้แก่ กองพันทหารม้าที่ 6 (ม.พัน.6) จ.ขอนแก่น และ กองพันทหารม้าที่ 21 (ม.พัน.21) จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมไทยและจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมา พร้อมกำหนดรูปแบบการสร้างโรงงานซ่อมบำรุง โดยมีแผนว่าจะสร้างโรงงานซ่อมบำรุงรถถัง VT-4 และยานเกราะล้อยาง VN-1 พร้อมสร้างคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมหรือโรงเก็บอะไหล่ที่สำคัญ

ก่อนที่รถถัง VT-4 จะจัดส่งถึงไทย ได้มีการส่งกำลังพลไปฝึกทดสอบที่ประเทศจีนนาน 4 เดือน ตั้งแต่เรื่องสายการผลิต รวมถึงการเรียนรู้ส่วนประกอบต่างๆ ของรถถัง VT-4 ทั้งหมด และการซ่อมบำรุง ที่จะมีการแบ่งแยกระหว่างป้อมปืนกับตัวรถ

แล้วกลับมาฝึกที่ไทยอีก 8 สัปดาห์ โดยให้นักเรียนที่ไปศึกษาจากประเทศจีน มาขยายผลความรู้ให้กำลังพลเพิ่มเติม

แน่นอนว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ คือ รถถัง ที่มีอายุใช้งานกว่า 20-30 ปี ตามสภาพการบำรุงรักษาและใช้งานนั้น ย่อมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ค้าและผู้ซื้อที่จะต้องมีความร่วมมือกันไปอีก 2-3 ทศวรรษ

เพราะระหว่างนี้จะต้องมีการซ่อมบำรุงหรืออัพเกรดยุทโธปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

เบื้องต้นกองทัพบกได้พิจารณาพื้นที่สร้างโรงซ่อมบำรุงที่ จ.ขอนแก่น เพราะเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารม้าที่ใช้ยุทโธปกรณ์ดังกล่าว แทนการใช้พื้นที่ จ.นครราชสีมา ตามแผนก่อนหน้านี้ เพราะมีระยะทางที่ไกล แต่จะใช้เป็นที่เก็บชิ้นส่วนสำคัญแทน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของกรมสรรพาวุธทหารบก

อีกทั้ง จ.ขอนแก่น มีความพร้อมด้านสภาพแวดล้อม เป็นจังหวัดที่เจริญเติบโตมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของภูมิภาคและประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการทำวิจัยร่วมกัน

แต่การตั้งโรงซ่อมบำรุงนั้นจะต้องหาพื้นที่ใหม่ในการจัดสร้าง ไม่ใช่การใช้พื้นที่ทหารเดิม โดยจะต้องผ่านการรับรองและได้รับอนุญาตจากการตรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA-EHIA) ก่อนด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่

หน่วยความมั่นคงยืนยันว่าการเลือก จ.ขอนแก่น เป็นที่ตั้งของโรงงานซ่อมบำรุงรถถัง นั้นมาจากแนวทางการพัฒนาที่ไทยกำหนดขึ้นเอง ไม่ใช่แผนที่ประเทศจีนเป็นผู้กำหนด หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีแรงขับเคลื่อนการพัฒนามาจากการเข้าไปลงทุนของจีน

อีกทั้งมีการมองว่าการย้ายโรงซ่อมมาจาก จ.นครราชสีมา เพราะเป็นพื้นที่การฝึกทางทหารของสหรัฐ เช่น การฝึกผสม Cobra Gold จึงทำให้มีการมองว่าเป็นการ “ต่อรอง” ทางการทหารของ 2 มหาอำนาจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาค

หากโรงซ่อมบำรุงแล้วเสร็จก็จะทำให้ไทยเป็นที่ตั้งโรงซ่อมบำรุงรถถังของภูมิภาค หรือ “ฮับ” ที่ประเทศรอบข้างที่มีรถถังจีนประจำการ ต้องส่งยุทโธปกรณ์มาซ่อมที่ไทย นำมาสู่การสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านระบบภาษี

ส่วนไทยเองก็ไม่ต้องส่งรถถังไปซ่อมถึงประเทศจีน จึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน

การจัดสร้างโรงซ่อมบำรุงจะช่วยสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ผ่านการจ้างงาน นอกจากนั้น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในอนาคต ยังมีแนวทางว่าจะต้องนำรถถังเข้ามาประกอบในไทย ไม่ใช่การส่งยุทโธปกรณ์แบบประกอบแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์จากจีนมายังไทย

ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยไปในตัว

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยและจีนแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ช่วงปี 2560-2564 จัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุง

ระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-2569 จัดตั้งโรงซ่อมยุทโธปกรณ์ตามแผนการลงทุนไทย-จีน โดยจะต้องนำยุทโธปกรณ์มาประกอบในไทยส่วนหนึ่ง

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนในการเพิ่มความร่วมมือในอนาคต ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการผลิตยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว

พร้อมกันนี้ กองทัพอากาศไทยยังจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50TH โดยประเทศเกาหลีใต้ได้จัดส่งให้ไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม

หลังต้องเลื่อนมาถึง 2 ครั้ง ช่วงวันที่ 11-12 มกราคม หลังทางเกาหลีใต้พบความเสียหายในตัวเครื่องระหว่างบินผ่านสภาพอากาศรุนแรงก่อนนำส่งให้ไทย ทำให้ต้องนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินกวนตัน ประเทศมาเลเซีย

โดยคาดว่าระหว่างบินมีสิ่งแปลกปลอมในอากาศเข้าไปยังตัวเครื่อง จึงพบรอยบิ่นที่ใบพัดนำอากาศเข้าเครื่องยนต์ใบที่ 1

อย่างไรก็ตาม เครื่องบินฝึกนักบินขับไล่รุ่นนี้ได้ส่งมอบให้ไทยเรียบร้อย โดยทำการบิน Fly By และ First Landing ที่กองบิน 4 ตาคลี จ.นครสวรรค์

กองทัพอากาศได้จัดซื้อเครื่องบินรุ่นนี้จากบริษัท Korea Aerospace Industries (KAI) ทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึก L-39 ที่ทยอยปลดประจำการ หลังใช้งานมาตั้งแต่ปี 2537

ในระยะที่ 1 จะจัดซื้อจำนวน 4 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2558-2561 มูลค่า 3,700 ล้านบาท โดยจัดส่งรอบแรก 2 เครื่อง และรอบที่ 2 อีก 2 เครื่อง ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งผูกพันงบประมาณปี 2558-2561

ระยะที่ 2 จัดซื้ออีก 8 ลำ ตั้งแต่ปี 2560 เริ่มทยอยจัดส่งปี 2562 มูลค่า 8,800 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 3 ยังไม่มีงบประมาณจัดซื้อ

โดยการจัดส่งให้ไทย 2 ลำแรกนั้น ได้มีพิธีแสดงความยินดีกับนักบินกองทัพอากาศ 6 คน ที่จบหลักสูตร T-50TH จาก KAI ด้วย รวม 3 หลักสูตร ใช้ระยะเวลาอบรม 7 เดือน สะท้อนภาพการ “เปิดรับ” ยุทโธปกรณ์อากาศยานจาก “ชาติเอเชีย” มากขึ้น

แม้ T-50 TH จะมีการใช้เครื่องยนต์จาก F-18 และ Gripen อยู่ด้วย

ที่สำคัญ ในอนาคต มีการเล็งพื้นที่กองบิน 4 ตาคลี เพื่อวางแผนใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานทางทหารของภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการซ่อมบำรุงอากาศยานทางทหารและเชิงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน

เพราะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย โดยการส่งบุคลากรไปฝึกยังประเทศต้นสายการผลิต

พื้นที่กองบิน 4 มีพื้นฐานที่ดี เพราะเป็นฐานทัพใช้เก็บและซ่อมอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้แก่ C-130, F-16, L- 39 และเป็นที่ตั้งของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (ศูนย์ซ่อมตาคลี)

ทั้งยังเป็นฐานทัพอากาศสำคัญของไทย เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงยุคสงครามเวียดนาม

ไม่รวมถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการสร้างโรงเก็บและโรงซ่อมบำรุงในไทย พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกกำลังพล

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ากองทัพไทยเปิดรับยุทโธปกรณ์จาก “ชาติเอเชีย” มากขึ้น และสะท้อนว่า “ตลาดยุทโธปกรณ์ในเอเชีย” กำลังเติบโต

แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะต้องจับตาดูหลังยุทโธปกรณ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้งานด้วย