สื่อกับสังคมไทย : กระแสธุรกิจทีวี ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กับความพยายามเชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อทีวี

ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงเป็นความพยายามต่อไป

 

กระแสวงกว้าง

ประกายเล็กๆ ว่าด้วยพัฒนาการสื่อดั้งเดิม-สื่อสิ่งพิมพ์ (มาจากรากฐานหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวสารเป็นหลัก) เพื่อการก้าวสู่เส้นทางใหม่ๆ เริ่มขึ้นราวปี 2528 เมื่อ สมเกียรติ อ่อนวิมล ในนามบริษัทแปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น บุกเบิกรายการข่าวทางทีวี ช่อง 9 อสมท.

ประกายนั้นสว่างไสวมากขึ้น เมื่อสื่อสิงพิมพ์ในสังคมไทยเข้าสู่ช่วงรุ่งโรจน์

จากกิจการเล็กๆ ผู้ก่อตั้ง “ตัวเล็กตัวน้อย” สามารถนำกิจการเข้าตลาดหุ้น

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ โดยเฉพาะแรงกระตุ้นให้ความสนใจข่าวสารพุ่งขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามอ่าวเปอร์เชีย (2533-2534) โดยเฉพาะมาจากบทบาทรายงานข่าวสด (Live) ผ่านดาวเทียมของ CNN (เครือข่ายธุรกิจสื่อสหรัฐ) มายังเมืองไทย

จากนั้นทีวีไทยพยายามปรับตัว ให้ความสนใจข่าวสารมากขึ้น

ตามมาด้วยเหตุกาณ์สำคัญทางการเมืองไทย แม้เป็นช่วงยุ่งยากที่ต่อเนื่องจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางพัฒนาการทางเศรษฐกิจกำลังก้าวกระโดด นอกจากนั้น ยังสะท้อนพัฒนาอันก้าวหน้าทางการเมืองด้วย

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (ปี 2535) กระตุ้นกระแสและแนวคิดใหม่ๆ ผู้คนในเมืองหลวงมองเห็นและเข้าใจอำนาจอันมีพลัง ว่าด้วยการสื่อสาร-ข้อมูลข่าวสาร โดยปัจเจกชนผ่านโทรศัพท์มือถือ จนก่อให้เกิดแนวคิดและกระบวนการก่อตั้งทีวีเสรี

ในที่สุดการประมูลหาผู้รับสัมปทานทีวีช่องใหม่ในระบบยูเอชเอฟได้เกิดขึ้น (ปี 2538) ด้วยปรากฏการณ์ครั้งแรก สื่อสิ่งพิมพ์เข้าร่วมในการประมูลครั้งใหญ่ ครั้งประวัติศาสตร์ จำนวนหลายราย ทั้ง เนชั่น มติชน เดลินิวส์ ฯ

แต่กลับปรากฏว่ากลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ชนะการประมูล โดยใช้ชื่อไอทีวี ทว่า ความเป็นไปค่อนข้างขลุกขลัก บางช่วงสำคัญ เนชั่นเข้าร่วมด้วย

ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ครั้งแรก ว่าด้วยพัฒนาการสื่อกับสังคมไทย ในความพยายามเชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับทีวี

 

บทเรียนความสำเร็จ ช่อง 3 และ 7

เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการ “ตัวเล็กตัวน้อย” มองสูง เทียบเคียง “ตัวใหญ่” นั่นคือ บทเรียนและเรื่องราวช่อง 3 กับช่อง 7

ช่อง 7 สี-สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สถานีโทรทัศน์ออกอากาศด้วยระบบภาพสีแห่งแรกในประเทศไทย ดำเนินกิจการภายใต้สัญญาสัมปทานกับกองทัพบกไทย โดยบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ เริ่มต้นขึ้นในปี 2510

ส่วนช่อง 3–สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท. ดำเนินกิจการโดยบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ภายใต้สัญญาสัมปทานกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2513

ทั้งสองกรณีอยู่ภายใต้ “สายสัมพันธ์เฉพาะ” เป็นดีลเฉพาะ ท่ามกลางโครงสร้างธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างจำกัด

และที่สำคัญผู้ก่อตั้งหรือสตาร์ตอัพยุคนั้น มีรากฐานมาจากยุคธนาคารไทย ผมเองนำเสนอหลายครั้งหลายครา ตามแนวทางอรรถาธิบาย “ระบบธนาคาร” เป็นแกนกลางสังคมธุรกิจไทย มีพลังขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม จนถึงวิกฤตการณ์ปี 2540

ช่อง 7- เกิดขึ้นในยุคชวน รัตนรักษ์ นักธุรกิจไทยซึ่งเติบโตยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างฐานและเครือข่ายธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ก่อตั้งปี 2488) ผ่านอุปสรรคพอสมควร ก่อนมาตั้งหลักอย่างมั่นคงในยุคสงครามเวียดนาม

เชื่อกันว่า การเข้าสู่ธุรกิจทีวี เป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ ช่วงเดียวกันการก่อตั้งปูนซีเมนต์นครหลวง (ปี 2512) แล้ว เพื่อทำลายการผูกขาดการผลิตซีเมนต์ในไทยซึ่งมีมานกว่า 6 ทศวรรษ

ส่วนช่อง 3 แม้ไม่ได้เริ่มต้นจากกลุ่มธุรกิจใหญ่เสียทีเดียว ทว่า วิชัย มาลีนนท์ ผู้ก่อตั้ง ถือเป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับธนาคาร โดยเฉพาะการก่อตั้งด้วยแผนการร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารแห่งหนึ่ง

กรณีช่อง 3 สะท้อนความสัมพันธ์กับธนาคาร เป็นเรื่องซับซ้อน ย้อนแย้งพอสมควร จากธนาคารเล็กที่มีอันเป็นไปแล้ว สู่ธนาคารใหญ่ที่ยังอยู่ในปัจจุบัน

หากมองตามโมเดลนั้น ไอทีวีกับธนาคารไทยพาณิชย์ ก็อาจอรรถาธิบายได้ทำนองนั้น ยุคและอิทธิพลธนาคารในสังคมไทยได้ต่อเนื่องกันมา ตอกย้ำว่าธุรกิจทีวีไทยกับธุรกิจใหญ่ แยกกันไม่ออกจริงๆ

ความจริงแล้วไม่มีภาพที่จับต้องได้นัก ถึงความสำเร็จของช่อง 3 และ 7

เพราะทั้งสองมิใช่บริษัทในตลาดหุ้นที่ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ในวงการเชื่อกันว่าดำเนินไปได้อย่างดี แต่อีกภาพหนึ่งตรงกันข้าม เกิดขึ้นเมื่อทีวีเสรีต้องมีอันเป็นไปในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นภาพที่ชุลมุนท่ามกลางการล้มหายตายจากธุรกิจใหญ่ๆ ธุรกิจดั้งเดิม หลายต่อหลายราย บทเรียนกรณีทีวีเสรีนั้น ดูเหมือนเลือนรางชอบกล

ธุรกิจทีวีมีภาพอ้างอิงขึ้นมาอีกครั้ง ให้ภาพตื่นเต้นในช่วงจังหวะเวลาที่น่าสนใจ ช่อง 3 ปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งขยายกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจ ก่อตั้งบริษัทใหม่–บริษัท บีอีซี เวิลด์ (ปี 2533) ตามยุทธศาสตร์ใหม่พึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป ผ่านกลไกตลาดหุ้น โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ปี 2539)

แม้เป็นช่วงไม่ดีนัก ด้วยเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่สามารถผ่านมาได้ จนเป็น “โมเดล” ความรุ่งเรือง ความมั่งคั่งทีวีไทยอย่างจับต้องได้

ตัวเลขผลประกอบการ (จากตลาดหลักทรัพย์ฯ) ทั้งรายได้และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน”)

และมาถึงจุดสูงสุดในช่วงเวลาที่น่าทึ่ง คือปี 2556 (รายได้ 16,697 ล้านบาท และกำไร 5,589 ล้านบาท

ภาพอันเจิดจ้าสัมพันธ์กับพัฒนาการขั้นใหม่ของธุรกิจทีวีในสังคมไทย ซึ่งได้อุบัติขึ้นในปี 2557 นั่นคือ ทีวีดิจิตอลได้เกิดขึ้นทีเดียวมากถึง 48 ช่อง

 

ดัชนีงบฯ โฆษณา

บ้างก็ว่า ผู้คนในสังคมธุรกิจไทย ผู้ประกอบการไทยมีวิญญาณผู้บุกเบิก มักมองธุรกิจอ้างอิงสัมปทานในเชิงบวก

เชื่อมั่นโมเดล สะสมความมั่งคั่งมั่นคงอันคลาสสิคอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้อ้างอิงบริบทและบทเรียนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ก่อนหน้าเมื่อเกือบๆ 3 ทศวรรษที่แล้ว ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควร ทั้งกรณีทีวีเสรีในระบบ UHF และกรณีประมูลโทรศัพท์พื้นฐานในและนอกเมืองหลวง

ท้ายที่สุดผู้ชนะการประมูลล้วนล้มลงอย่างไม่เป็นท่า

ไม่เว้นแม้ซีพีเครือข่ายธุรกิจใหญ่ กับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานเมืองหลวงได้กลายเป็นภาระหนักตลอดสิ้นอายุสัมปทาน

อีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะบางราย เข้าตลาดหุ้น และผ่านยุครุ่งรุ่งโรจน์ ไม่ได้มองตนเองเป็น “รายเล็กรายน้อย” แล้ว มิใช่มีความเชื่ออ้างอิงข้างต้นเสียทีเดียว และก็มิใช่แค่แรงบันดาลใจ หากมีความจำเป็นต้องเดินหน้าสู่ทีวี

โดยธรรมชาติธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานผู้อ่านผู้ติดตามเป็นเพียงดัชนีอ้างอิง สู่ฐานรายได้หลัก มาจากค่าจ้างโฆษณาสินค้า นี่คือความจริงของธุรกิจสื่อ เป็นแก่นพัฒนาการธุรกิจสื่อในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างแท้จริง

ข้อมูล “งบฯ โฆษณา 10 ปี (2551-2560)” นำเสนอโดย GroupM ประเทศไทย (เครือธุรกิจสื่อโฆษณา ข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก-WPP) ให้ภาพที่เป็นไปอย่างมีนัยยะสำคัญมากทีเดียว

–สื่อสิ่งพิมพ์ธุรกิจซึ่งมีการแข่งขันอย่างเสรี มีจำนวนรายมากที่สุด งบฯ โฆษณาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนการเติบโตอย่างจำกัดในช่วงครึ่งแรก (ปี 2552-2556) ต่อมาดัชนีแสดงอัตราลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้ งบฯ โฆษณามีจำนวนจำกัดอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท หรือประมาณ 10% ของงบฯ ทั้งหมด ซึ่งลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรก ในปีที่ผ่านมา (2560)

–ธุรกิจทีวีครองส่วนแบ่งงบฯ โฆษณามากที่สุดตลอดมา ในสัดส่วนมากกว่า 60% มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่น่าสนใจ (ปี 2551-2558) จากระดับ 40,000 ล้านบาท (ปี 2551) เป็น 60,000 ล้านบาท (ปี 2558) ดัชนีดังกล่าว ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลามองโลกในแง่ดี ว่าด้วยการเกิดขึ้นทีวีดิจิตอล ทว่า ช่วงปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 งบฯ โฆษณาทีวีลดลงเป็นครั้งแรกในทศวรรษ

–ว่าไปแล้วดัชนีงบฯ โฆษณาแห่งทศวรรษดังกล่าว ยังไม่ได้ให้ภาพแสดงความเชื่อมั่นในสื่อใหม่–อินเตอร์เน็ตอย่างจริงจัง

สื่อดั้งเดิม -สื่อสิ่งพิมพ์ กับความพยายามเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลหรือเกาะกระแสทีวีดิจิตอล จึงเป็นความจำเป็นในช่วงเผชิญปัญหาการปรับตัว ปัญหาอนาคตธุรกิจ โดยไม่คาดคิดว่าจะผันแปรอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางปรากฏการณ์หลอมรวมสื่อ ไปสู่ภาพอันคลุมเครือยิ่งขึ้น