เสฐียรพงษ์ วรรณปก : เป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต – เป้าหมายสูงสุดของชีวิต (1)

ชีวิตมีเป้าหมายหรือไม่

เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คืออะไร

คำตอบต่อปัญหานี้แน่นอนย่อมมีแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคนตอบว่าสังกัดตนอยู่ในระบบความคิดความเชื่อแบบใด

นักวัตถุนิยมโบราณซึ่งคัมภีร์ พระไตรปิฎกเรียกว่า พวก “โลกายตะ” เชื่อเฉพาะสิ่งที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้น ได้ประกาศว่าชีวิตไม่มีเป้าหมายแต่ประการใด

“คนประกอบด้วยธาตุ 4 เมื่อตายลง ธาตุดินก็จะกลับคืนสู่ดิน ธาตุน้ำก็กลับคืนสู่น้ำ ธาตุไฟก็กลับคืนสู่ไฟ ธาตุลมก็กลับคืนสู่ลม ความรู้สึกทั้งหลายหายไปในอวกาศ คนเราไม่ว่าโง่หรือฉลาด เมื่อกายแตกสลาย ก็แตกดับหายสูญไม่คงอยู่อีกต่อไป ไม่มีโลกหน้า ความตายคือที่สุดของทุกสิ่งโลก ปัจจุบันนี้เท่านั้นเป็นความจริงสิ่งที่เรียกกันว่านรกและสวรรค์เป็นเพียงจินตนาการของคนโกง”

พวกโลกายตะมีปรัชญาที่สวนทางกับจริยธรรมของสังคมยุคสมัยนั้นชัดแจ้ง เชื่อว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาเจ้าลัทธิและนักสอนศาสนานัก พระพุทธศาสนาเองได้ตำหนิลัทธิเสพสุขทางเนื้อหนัง (โดยใช้ชื่อว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”) ว่าเป็น “หนทางตัน” ที่ไม่สามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

ศาสนาเทวนิยมทั้งหลายเชื่อกันว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมีมาตั้งแต่เกิดมีมนุษย์ขึ้นในโลกและถูกกำหนดไว้ให้โดยพระผู้สร้างว่าจะให้ชีวิตของเขาไปสู่จุดหมายใดอย่างไร

ตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จุดหมายสูงสุดของชีวิตคือความเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันหรือการถูกดูดหายเข้าไปในทิพยภาวระ ซึ่งเป็นที่มาของวิญญาณแต่ละดวง

ศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และศาสนาอิสลามมีความเชื่อไม่แตกต่างกันนักคือเชื่อว่าจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือ การรับใช้พระเจ้าและได้รับความสุขนิรันดรจากพระองค์

ส่วนพระพระพุทธศาสนาปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้สร้างและหน้าที่และเป้าหมายใดๆ ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยพระผู้สร้าง

และพระพุทธศาสนามิได้เชื่อในลัทธิชะตากรรมหรือพรหมลิขิตซึ่งควบคุมอนาคตของมนุษย์โดยไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำอย่างอิสระของเขา

พระพุทธศาสนาเน้นว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายชีวิตด้วยตัวเขาเองและเขาสามารถลุถึงเป้าหมายนั้นด้วยสติปัญญาด้วยความพากเพียรอันเป็นของมนุษย์เอง มิได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอกใดๆ

พูดอีกนัยหนึ่งว่า เขาจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตได้เพราะ “กรรม” (การกระทำ) ของเขาเอง

และความเชื่อในพลังแห่งกรรมนี้ ก็มิใช่ในแง่ “กรรมลิขิต” ซึ่งวิถีชีวิตได้ถูกกำหนดให้เดินไว้ตายตัว ด้วยกรรมเก่า

หากแต่เชื่อในแง่ “อัตตลิขิต” (กำหนดวิธีชีวิตด้วยตนเอง) มากกว่า

ขอให้พิจารณาพุทธวจนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้

ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ 3 ลัทธิเหล่านี้ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา จัดเข้าในฝ่ายอกิริยทิฐิคือ

(1) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ ทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)

(2) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)

(3) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ 3 จำพวกนี้ เราเข้าไปหาพวกที่ 1 ถามว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้… จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วรับว่าจริง

เรากล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจักต้องฆ่าสัตว์เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จักต้องลักทรัพย์เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน เป็นเหตุ… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำโดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีวาทะที่ชอบธรรม เฉพาะตนไม่ได้

นี้แลเป็นนิคคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเราต่อสมณพราหมณ์ ผู้มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลายบรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหาพวกที่ 2… กล่าวกะเขาว่าท่านจักฆ่าสัตว์ เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยึดเอาการดลบันดาล ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำก็ย่อมไม่มี

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหาพวกที่ 3… กล่าวกะเขาว่า ท่านจักฆ่าสัตว์โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิโดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนึกเอาความไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ย่อมไม่มี…

เฉพาะลัทธิที่หนึ่ง น่าจะเป็นแนวความเชื่อของชาวพุทธเพราะถือว่าคนเราจะได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่ทำมาเป็นเหตุ

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ก็แสดงว่าแม้ลัทธินี้จะเชื่อกรรม แต่เป็นความเชื่อแบบ “กฎตายตัว” ว่าชาติก่อนทำกรรมอย่างนั้นไว้ มาชาตินี้จึงต้องได้รับผลอย่างนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเชื่อแบบนี้ไม่เปิดช่องให้มีอิสระเคลื่อนไหวในปัจจุบันแม้แต่น้อย

มนุษย์ที่เชื่ออย่างนี้ จะไม่คิดว่าตนเองแก้ไขปรับปรุงอะไรได้ มองเห็นกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งรอนอนรอผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

ทั้งๆ ที่มีความสามารถจะทำได้ก็จะไม่คิดทำเพราะเข้าใจว่าทุกอย่างถูกกรรมเก่ากำหนดไว้อย่างนั้น

พระพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธกรรมเก่า แต่ปฏิเสธท่าทีที่ผิดพลาดที่บุคคลมีต่อกรรมเก่า

ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างเป็นผลของกรรมเก่าอย่างเดียวแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ย่อมท้อถอย งอมือ งอเท้า ไม่คิดทำอะไรอีกต่อไป ก็เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง

พระพุทธศาสนาถือกรรมเก่าว่าเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง และย่อมมีผลต่อปัจจุบันสมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั้นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปถือมั่น ฝากโชคชะตาไว้เพียงอย่างเดียว

ผู้ที่เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีย่อมถือกรรมเก่าเป็นเพียงเหตุปัจจัยหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์ ถือกรรมเก่าในแง่เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ และที่สำคัญเป็นพื้นฐานและกำลังใจเพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

สรุปในตอนนี้คือ มนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตของตนเอง เป็นผู้กำหนดทางเดินของตนเอง และสามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่กำหนด ด้วยความพากเพียรพยายาม และด้วยสติปัญญาของตนเอง ผู้อื่นทำแทนให้ไม่ได้

แม้แต่พระบรมศาสดาก็เป็นเพียงผู้คอยชี้แนะแนวทางให้เท่านั้น หาใช้ผู้ดลบันดาลหรือ “ช่วยให้รอด” ดังในศาสนาเทวนิยมไม่