สุรชาติ บำรุงสุข : โลกของสงคราม 2018 – เมื่อสงครามเป็นอสมมาตร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ยุทธการในสงครามเล็กจะถูกลากไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดจบ และไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน… สงครามเล็กไม่สามารถต่อสู้ได้ด้วยวิธีการของสงครามใหญ่”

Max Boot

The Savage Wars of Peace (2002)

สําหรับนักการทหารในประเทศเล็กปัจจุบันแล้ว สงครามดำรงอยู่เป็น “จินตนาการ” มากกว่าจะเป็นสงครามจริงๆ เพราะโอกาสที่ประเทศเล็กจะเข้าสู่สงครามนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สงครามไม่ได้เป็นแค่เพียงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ แต่อาจกลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในผลตอบแทน

หรืออาจกลายเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงจนรัฐและสังคมไม่อาจแบกรับได้ และอาจนำไปสู่การล้มละลายทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมแก่ประเทศที่ตัดสินใจใช้สงครามเป็นทางเลือกในนโยบาย

ดังนั้น การลงทุนในทางทหารจึงเป็นประเด็นที่จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่ารัฐและกองทัพมีจินตนาการเรื่องสงครามอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า แบบแผนของสงครามเปลี่ยนแปลงไปจากความรับรู้ของทหารโดยทั่วไปอย่างมาก

อีกทั้งโอกาสที่รัฐเล็กจะใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาความขัดแย้งเช่นที่รัฐใหญ่ดำเนินการ (ซึ่งมีนัยหมายถึงรัฐมหาอำนาจ) อาจจะมีความเป็นไปได้น้อยลงมากในโลกยุคปัจจุบันด้วย

แต่แม้จะเผชิญกับโลกของความเปลี่ยนแปลงทางทหารอย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารในประเทศเหล่านี้ก็ยังคงยึดเกาะอยู่กับ “จินตนาการเก่า” ของการสงคราม

ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว สงครามเป็นเรื่องของการใช้กำลังระหว่างรัฐกับรัฐ และเป็นการรบใหญ่ระหว่างกองทัพกับกองทัพ

ในสงครามเช่นนี้เราได้เห็นถึงรูปแบบเหมือนเช่นใน “ภาพยนตร์สงคราม” ซึ่งก็คือมีการใช้กำลังรบที่เป็นกองทัพประจำการของรัฐเข้าทำการรบโดยตรง

ภาพที่เกิดขึ้นจากสงครามเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดจินตนาการอย่างชัดเจนว่า สงครามใหญ่ที่รัฐต้องเผชิญในอนาคตจะถูกตัดสินด้วยความเหนือกว่าทางทหารของรัฐคู่สงคราม

หรืออาจกล่าวได้ว่าคู่สงครามฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางทหารที่เหนือกว่า ซึ่งมีนัยโดยตรงหมายถึง “อำนาจการยิง” และสามารถใช้อำนาจนี้ทำลายคู่ต่อสู้ในการรบจนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือชนะด้วยการมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่า

และในพื้นฐานของชัยชนะเช่นนี้จึงมีการต่อสู้ที่เป็น “การรบแบบแตกหัก”

ซึ่งผลจากการรบในจุดหนึ่งนี้ได้กลายเป็น “จุดชี้ขาด” สงครามในตัวเอง เพราะเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้อีกฝ่ายหมดศักยภาพทางทหารลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ในโลกปัจจุบัน เราจะยังมีสงครามในตัวแบบเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่ เพราะความเสียหายจากสงครามมีขนาดใหญ่เกินไป และเป็นความเสียหายที่ไม่มีความคุ้มค่า

สงครามเก่า-จินตนาการเก่า

หากย้อนกลับไปสู่ตัวแบบในอดีตจะเห็นได้ชัดว่า ในแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มต้นด้วย “ยุทธการบาร์บารอสสา” (The Operation Barbarossa) ในปี 1941 จะเห็นได้ถึงการทุ่มกำลังขนาดใหญ่ของกองทัพเยอรมนีเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียต โดยมีกำลังพลมากกว่า 3 ล้านนาย

หรือคิดในบริบทของการจัดก็คือ เยอรมนีใช้กำลังถึง 152 กองพล โดยในจำนวนนี้เป็นรถถัง 17 กองพล ทหารราบยานยนต์ 13 กองพล ซึ่งประกอบด้วยรถถัง 3,350 คัน และยานยนต์อีกเป็นจำนวน 600,000 คัน อีกทั้งยังมีม้าใช้ร่วมด้วยอีกถึง 625,000 ตัว

พร้อมกันนี้ก็ยังมีปืนใหญ่อีก 7,146 กระบอก และอากาศยาน 1,950 ลำ…

การเตรียมกำลังเช่นนี้บ่งบอกถึงการเป็น “สงครามใหญ่” ในตัวเองอย่างชัดเจน

นอกจากกำลังรบของเยอรมนีแล้ว กำลังอีกส่วนได้แก่ กำลังพลของกองทัพฟินแลนด์ 14 กองพลทหารราบ 2 กองพลน้อยทหารราบ และกำลังพลของกองทัพโรมาเนีย 14 กองพลทหารราบ 7 กองพลน้อยทหารราบ และ 1 กรมรถถัง

ด้วยอัตรากำลังพลและยุทโธปกรณ์เช่นนี้ สงครามในแนวรบด้านตะวันออกจึงมีบทบาทในการตัดสินชะตาของคู่สงครามอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่าในการรบที่กองทัพเยอรมนีปิดล้อมมอสโก (The Battle of Moscow, 1941-1942) นั้น การรบเป็นไปอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพแดงกับกองทัพนาซี

กองทัพแดงต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อป้องกันเมืองหลวง และสามารถผลักดันกองทัพเยอรมนีไปได้ไกลถึง 150-400 กิโลเมตร

ผลการรบเช่นนี้ทำให้เยอรมนีสูญเสียกำลังพลถึง 500,000 นาย (รวมตัวเลขตาย บาดเจ็บ และสูญหาย) รถถัง 1,500 คัน รถบรรทุก 15,000 คัน และปืนใหญ่ 2,500 กระบอก

ซึ่งในการประเมินความสูญเสียของฝ่ายโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีข้อถกเถียงถึงตัวเลขที่แน่นอน แต่เชื่อว่าโซเวียตน่าจะสูญเสียกำลังพลราว 653,924-658,279 นาย

แน่นอนว่าการสูญเสียในระดับเช่นนี้เป็นการสูญเสียขนาดใหญ่

แต่กระนั้นก็ยังไม่ใช่จุดพลิกผันของสงครามในแนวรบด้านนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายยังคงมีศักยภาพในการรบ

การรบที่รุนแรงระหว่างกองทัพนาซีและกองทัพแดงที่สตาลินกราด (The Battle of Stalingrad, 1942-1943) ทหารเยอรมนีและโรมาเนียเสียชีวิตถึง 250,000 นาย

แต่หากคิดเป็นจำนวนรวมทหารเยอรมนีและพันธมิตร (โรมาเนีย อิตาลี และฮังการี) สูญเสียเป็นจำนวนถึง 800,000 นาย (ตาย บาดเจ็บ สูญหายและถูกจับเป็นเชลย) [จำนวนเชลยศึกที่รอดชีวิตกลับบ้านมีเพียง 5,000-6,000 นายเท่านั้น]

สำหรับฝ่ายโซเวียตนั้น สูญเสียทหารมากถึง 1,100,000 นาย (ตาย บาดเจ็บ และสูญหาย) และมีพลเรือนโซเวียตเสียชีวิตอีกราว 40,000 คน

อีกรบหนึ่งที่สำคัญในแนวด้านตะวันออกก็คือการรบที่เคิสก์ (The Battle of Kursk, 1943) ที่เป็นสนามรบของรถถังที่ใหญ่ที่สุดในประวัติการสงครามของโลก

การรบมีช่วงระยะเวลาจากวันที่ 5 ถึง 23 กรกฎาคม 1943

ในการรบครั้งนี้เยอรมนีประกอบกำลังมากถึงร้อยละ 70 ของกำลังรถถัง ร้อยละ 65 ของเครื่องบินรบที่มีอยู่ในแนวรบด้านนี้ คิดเป็นกำลังพล 900,000 นาย รถถัง 2,700 คัน (รวมปืนใหญ่) และอากาศยาน 1,800 ลำ

ในช่วงปลายของการรบ กองทัพนาซีสูญเสียรถถัง 800 คัน และกำลังพลราว 10,000 นาย

และประมาณการว่าโซเวียตสูญเสียในสนามรบนี้เป็น 3-5 เท่าของเยอรมนี

การรบแตกหัก

จะเห็นได้ว่าการรบในแนวด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสามสนามรบหลักที่มอสโก สตาลินกราด และเคิสก์ กองทัพเยอรมนีประสบความสูญเสียขนาดหนักทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์

ผลจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เยอรมนีไม่สามารถผลิตอาวุธทดแทนต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่สำหรับฝ่ายโซเวียตแล้ว การเติบโตของอุตสาหกรรมอาวุธเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แม้ในช่วงปลายของการรบที่เคิสก์ อัตราการสูญเสียรถถังและปืนใหญ่อัตราจรของโซเวียตจะสูงกว่าเยอรมนีถึง 5 เท่า

แต่ด้วยอุตสาหกรรมอาวุธในแนวหลัง และระบบสำรองอาวุธ ทำให้โซเวียตสามารถทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

หรือการซ่อมแซมรถถังก็ทำได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการสำรวจกำลังรถถังในวันที่ 3 สิงหาคม 1943 นั้น โซเวียตมีรถถังมากถึง 2,750 คัน ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการยกระดับการผลิตและขีดความสามารถในการซ่อมแซม ที่ทำให้กำลังรบของโซเวียตฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับเยอรมนีแล้ว การสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจทดแทนได้เลย (มีการประเมินว่ากองทัพโซเวียตสูญเสียรถถัง 5 คันในการทำลายรถถังเยอรมนี 1 คัน)

อย่างไรก็ตาม การประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแนวรบด้านตะวันออกนี้ยังคงเป็นปัญหาของความถูกต้องของข้อมูลอย่างมาก

และขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงทั้งในเชิงข้อมูลและเชิงวิชาการอย่างมากด้วย

แต่จากข้อมูลการสูญเสียที่นำเสนอในข้างต้นตอบได้ชัดเจนถึงความเป็นสงครามใหญ่ที่ตามมาด้วยอัตราการสูญเสียจากอำนาจการยิงในระดับที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อนทั้งในส่วนของชีวิตกำลังพล และยุทโธปกรณ์

ดังนั้น ขีดความสามารถในการทดแทนความสูญเสียจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่ารัฐคู่สงครามจะสามารถ “ดำรงสภาพการรบ” ต่อไปได้อีกหรือไม่

และคำตอบที่ชัดเจนก็คือเมื่อเยอรมนีไม่สามารถดำรงสภาพการรบเพราะขาดขีดความสามารถในการทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้แล้ว

แนวรบด้านตะวันออกก็เป็นดังสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีนั่นเอง

ซึ่งสนามรบทั้ง 3 แห่งได้แก่ มอสโก สตาลินกราด และเคิสก์ เป็น “จุดชี้ขาด” ของสงคราม

กล่าวในทางทฤษฎีก็คือการรบทั้ง 3 แห่งนี้เป็น “decisive battles”

สงครามแบบนี้หาดูได้จากยูทูบ และเป็นภาพสงครามเก่าที่เป็นจินตนาการมากกว่าจะเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะรัฐในปัจจุบันไม่สามารถทำสงครามในขอบเขตเช่นนี้ได้

โลกแห่งความเป็นจริง

ตัวแบบจากสงครามในแนวรบด้านตะวันออกอาจจะดูสุดโต่งเพราะความเป็นสงครามขนาดใหญ่ และมีการใช้อำนาจการยิงของกองทัพประจำการเข้าทำลายล้างอีกฝ่ายอย่างรุนแรง จนทำให้รัฐคู่กรณีหรือกองทัพของฝ่ายตรงข้ามหมดศักยภาพในการสงคราม ซึ่งก็คือการหมดขีดความสามารถในการดำรงสภาพในสนามรบทั้งในบริบทของกำลังพลและยุทโธปกรณ์

แม้ตัวแบบที่หยิบยกมาจะดูสุดโต่ง แต่ก็ตอบสนองต่อการสร้างจินตนาการเก่าได้เป็นอย่างดี

สงครามถูกประกอบสร้างให้มีรูปลักษณ์เป็น “สงครามตามแบบ” และมีขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด

และขณะเดียวกันก็ง่ายต่อความรับรู้และความเข้าใจของทหารโดยทั่วไป

พร้อมกันนี้ก็ง่ายในการจัดทำแผนทางทหารด้วยการสร้างข้าศึกให้เกิดขึ้น และเชื่อว่ารัฐจะต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อเอาชนะข้าศึกที่ถูกสร้างขึ้นเช่นนี้ให้ได้

ในที่สุดแล้ว จินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นชุดนี้ก็หวนกลับมาเป็นกรอบบังคับทางความคิดสำหรับผู้นำทหาร เมื่อความเชื่อได้ถูกแปลงให้เป็น “นโยบาย” เพื่อใช้ทั้งในการกำหนดทิศทางของการพัฒนากองทัพ และการลงทุนทางทหารของประเทศ

อีกทั้งยังมีผลอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์กับประเทศข้างเคียงอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดก็คือจินตนาการของ “สงครามใหญ่” เช่นนี้รองรับอย่างดีต่อบทบาทและสถานะของกองทัพและผู้นำทหารในสังคม ตลอดรวมถึงการสร้างจินตนาการว่าเกียรติภูมิของประเทศผูกโยงอยู่กับการมีกองทัพขนาดใหญ่เพื่อเตรียมรับสงครามใหญ่ (ที่ไม่เกิดขึ้น)

แต่จินตนาการชุดนี้ก็ถูกท้าทายอย่างมาก โลกของการสงครามหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

หรือที่เรียกว่ายุคสงครามเย็นนั้น สงครามไม่ได้มีขนาดใหญ่

หรือหากจะมีสงครามใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในคาบสมุทรเกาหลีหรือในเวียดนาม ก็เป็นสงครามที่รัฐมหาอำนาจเข้าไปมีบทบาทโดยตรง หรือตัวอย่างของสงครามตามแบบในตะวันออกกลาง ก็มีสถานะเป็น “สงครามตัวแทน” ของรัฐมหาอำนาจ

แต่สงครามของรัฐเล็กกลับแตกต่างออกไป ในยุคสงครามเย็น รัฐเหล่านี้กลับเผชิญกับสงครามขนาดเล็ก หรืออาจจะเรียกในทางทฤษฎีว่า “สงครามเล็ก” (small wars) ซึ่งอยู่ในรูปของ “สงครามก่อความไม่สงบ” และสงครามไม่ได้มีสถานะเป็นสงครามระหว่างรัฐเช่นในยุคสงครามโลก

จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า สงครามของประเทศในโลกที่สามยุคนั้นเป็น “สงครามภายใน” ที่รัฐรบกับกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ภายในรัฐ (หรือที่เรียกว่า “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” หรือ “ตัวแสดงที่ต่ำกว่ารัฐ”)

และขณะเดียวกัน สงครามชุดนี้ก็มาพร้อมกับการก่อการร้าย ดังที่เห็นได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งในยุคหลังสงครามเย็น โอกาสของการเกิดสงครามตามแบบหรือสงครามใหญ่ดูจะมีน้อยลง หากจะเกิดก็เป็นการใช้กำลังของรัฐมหาอำนาจใหญ่ รัฐเล็กไม่อาจจะใช้วิธีการเช่นนั้นได้เลย เพราะผลตอบแทนและวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่มีความคุ้มค่าที่จะตอบด้วยการพาประเทศเข้าสงคราม

แต่ที่สำคัญกว่าก็คือสงครามกลับปรากฏให้เห็นชัดเจนจากการก่อการร้าย และคู่ขนานก็คือการก่อความไม่สงบ

ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก

สงครามที่เรากำลังเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริงดูจะย้อนกลับไปสู่ความเป็น “สงครามเล็ก” ไม่ต่างจากที่รัฐในโลกที่สามเคยเผชิญมาแล้ว

เว้นแต่เพียงมีบริบทของการเมืองและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างออกไป หรือนักวิชาการบางส่วนอาจจะเรียกสงครามเช่นนี้ให้แตกต่างไปจากสภาวะแบบเดิมว่า “สงครามอสมมาตร” (The Asymmetric Warfare)

ถ้าสงครามในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่ “สงครามใหญ่” แต่เป็น “สงครามเล็ก” ที่เป็นอสมมาตรแล้ว

ปัญหาสำคัญก็คือ ทั้งรัฐและกองทัพในปี 2018 จะเตรียมรับมือกับโจทย์ใหม่ทางทหารชุดนี้อย่างไร

และอย่างน้อยต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า กระบวนทัศน์เก่าที่เป็นรากฐานทางความคิดทหาร ตลอดรวมถึงความต้องการยุทโธปกรณ์แบบที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะเชื่อว่าประเทศต้องเตรียมเข้าสู่สงครามใหญ่นั้นอาจจะกลายเป็น “ความไร้ค่า” ทางยุทธศาสตร์ในตัวเองอย่างน่าเสียดาย

เพราะแบบแผนหลักของสงครามได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว

เว้นแต่ความต้องการทางทหารในแบบเดิมนี้ยังคงตอบสนองต่อโจทย์ด้านงบประมาณได้อย่างดี

แต่ก็น่าเสียดายว่าสงครามที่เป็นจริงกลับไม่ปรากฏอยู่ในตัวแบบเช่นนี้อีกแล้ว!