E-DUANG : ปัญญาชนไทย ปัญญาชนใคร ​​​​อุ่นเครื่องก่อน 40 ปี 6 ตุลาคม

โฆษณาว่าด้วย “บทบาทปัญญาชนไทย ก่อนสมัย 2500” ของสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา
ทำให้เกิดอาการ “ระลึกชาติ”
ไม่เพียงเพราะเห็นชื่อ สด กูรมะโรหิต และชื่อของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์
หากยังเห็นชื่อ ม.จ.สกล วรรณากร วรวรรณ
ยิ่งเห็นชื่อ ส.ธรรมยศ วางเรียงเคียงข้างกับชื่อ สมัคร บุราวาศ ยิ่งเหมาะเจาะ
ยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ที่การจัด “ลำดับ”
เป็นลำดับชื่อ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร คนละบรรทัดกับชื่อ สุภา ศิริมานนท์
แสดงถึง”ความลึกซึ้ง”ของ “สโมสรศิลปวัฒนธรรม”
ลึกซึ้งในชื่อของ “ผู้อภิปราย” ไม่ว่า ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไม่ว่า ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
22 กันยายน “พลาดไม่ได้”

ชื่อหลายชื่ออาจไม่คุ้นสำหรับ “สังคมไทย” ในยุคหลังรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
อย่างเช่น ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ
ท่านผู้นี้เคยประกาศตนเป็นผู้สมาทาน “ลัทธิเฟเบียน”แห่งอังกฤษ
กระทั่ง มีฉายาว่า “เจ้าแดง”
ท่านผู้นี้แหละที่เคยเสนอคำวิจารณ์ต่อการแสดงออกของบาง คนในยุคเดียวกันว่า
กระทำการในลักษณะ “ปัญญาเกินสติ”
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ เป็นราชนิกูลที่ฝักใฝ่และโน้มเอียงไปในแนวทาง
“สังคมนิยม”

การเชิญ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ร่วมอภิปรายเวทีเดียวกันกับ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
เย้ายั่วต่อ “ต่อม” แห่งความใคร่รู้อย่างสูง
2 คนนี้เป็น “ศาสตราจารย์” จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
เป็นคนละ “รุ่น” แต่มีลักษณะ “เชื่อมต่อ”
คนแรกเป็นเด็กเพชรบุรี เป็นกำลังสำคัญในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง “สภาหน้าโดม”
อยู่ในสถานการณ์ “ก่อน”เดือนตุลาคม 2516
คนหลังเป็นเด็กกรุงเทพฯ เรียนเตรียมอุดมแล้วเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อยู่ในสถานการณ์ “ก่อน”เดือนตุลาคม 2519
คำถามจาก”สโมสรศิลปวัฒนธรรม” คือ บุคคลเหล่านี้เป็นใคร และงานของเขาส่งผลสะเทือนอย่างไรในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทย
วันที่ 22 กันยายน มีคำตอบรออยู่ที่ “มติชนอาคาเดมี”