‘ซ้าย’ หรือ ’ขวา’ หัน

ใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ อีกหนึ่งเดือนกับอีกสองวัน ถึงวันลงประชามติอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 น้องหนูทั้งหลายที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันนั้นจะมีโอกาสทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตด้วยการเข้าคูหากาบัตร “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช… และคำถามพ่วง

รวมเป็นการลงประชามติ 2 ครั้งใน 2 เรื่อง ซึ่งจะลงรับหรือไม่รับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้

หมายถึงลงรับเรื่องหนึ่ง ลงไม่รับอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ควรลงมติทั้งสองเรื่องเพื่อไม่ให้เป็น “บัตรเสีย”

น้องหนูคงติดตามเรื่องการลงประชามติของพี่น้องชาวสหราชอาณาจักร หรือที่รู้จักทั่วไปว่า “อังกฤษ” มาแล้ว คือกรณีจะออกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือจะอยู่กับสหภาพยุโรป

ในที่สุดคะแนนเสียงข้างมากออกมาอย่างเฉียดฉิวว่าให้ออกจากสหภาพยุโรป

น้องหนูควรให้ความสนใจการลงประชามติ (ร่าง)รัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้ไม่ใช่เป็นการลงประชามติครั้งแรก แต่เป็นครั้งแรกที่ให้ลงมติถึงสองเรื่อง ทั้งที่การลงประชามตินิยมใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง และให้ตอบว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” เช่นของอังกฤษตอบเพียงว่า “อยู่” หรือ “ไม่อยู่” เท่านั้น

การลงประชามติไม่ต้องการเหตุผลอื่นใด เพราะการจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ของแต่ละคนล้วนมีเหตุผลของตนเองทั้งนั้น

ขณะที่ก่อนการลงประชามติ ผู้มีสิทธิลงประชามติสมควรอย่างยิ่งจะต้องศึกษาเรื่องที่ลงประชามติให้ถ่องแท้ว่าคืออะไร และเป็นอย่างไร เมื่อลงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วจะมีผลกับเราอย่างไร

ทั้งเมื่อผลของประชามติซึ่งเป็นเสียงข้างมากปรากฏออกมาแล้ว ไม่ว่าจะมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเพียงคะแนนเดียว ต้องถือว่าเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อยจะเรียกร้องอีกต่อไปไม่ได้

เว้นแต่ว่าอาจต้องให้มีการลงประชามติต่อไปอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องอื่นที่ใกล้เคียงกันก็ได้

ก่อนตัดสินใจลงประชามติในเรื่องรัฐธรรมนูญ ขอให้น้องหนูอ่านหนังสือและเสาะหาเหตุผล ผลดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ถึงแก่นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใครต่อใครเขาว่าขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

หนังสือที่แนะนำให้อ่านวันนี้คือ

ทั้งหมด ขวา-หัน !

ผู้เขียนคือ คำ ผกา

นักเขียนสาวสำนวนและความคิดตรงไปตรงมา ส่วนจะตรงกับใจใครเป็นเรื่องของใคร

ทั้งหมด ขวา หัน! เป็นบางอุดมการณ์ฝังอยู่ในยีนทางวัฒนธรรม… โดยที่เราไม่รู้ตัว

ผู้เขียนบอกไว้ในบทที่ 1 ว่า

“ประหลาดที่สุดคือ คนเดือนตุลาฯ ทั้งหลายนั่นเองที่เป็นผู้ถอดและเก็บประวัติศาสตร์ตอนนั้น (เดือนตุลาฯ) ออกจากสังคมไทย ออกจากความทรงจำของคนไทยด้วยน้ำมือและแรงเป่านกหวีดของพวกเขาเอง

“พวกเราจึงไม่ใช่สังคมความจำสั้นเท่านั้น แต่พวกเราคนไทยเป็นสังคมความจำเสื่อม เรากำลังถูกทำให้กลายเป็นคนความจำเสื่อม และไม่เคยรู้ว่าตัวเองความจำเสื่อม

“ช่างเป็นสังคมที่น่าเวทนานัก”
อย่าเพิ่งไปคิดว่า ผู้เขียน (คำ ผกา) เป็นซ้าย ขวา หน้า หลัง หากแต่เธอคือผลิตภัณฑ์แห่งความคิดที่สงสัยตลอดเวลาว่า ทำไมสังคมไทยจึงสามารถลบอดีต ทิ้งความจำ บังคับให้ทุกคนลืมได้หมด?

ทั้งที่ยิ่ง “ลบ” อดีต ยิ่งบังคับให้ลืม ประวัติศาสตร์ใต้ดินก็ยิ่งตอบสนองความหิวโหย

ทำไมเราไม่ปล่อยให้อดีตกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วนำมาเป็นบทเรียนในอนาคตเล่า – ทั้งหมด ขวา หัน ! ราคาเพียง 200 บาทเพื่อให้การตัดสินใจลงประชามติได้ถูกต้อง