ชุติมา นุ่นมัน : นักรบนิรนาม วีรบุรุษที่ถูกลืม

[email protected]

ไม่บอกคงไม่มีใครรู้ว่า ชายชราหน้านิ่ง ท่าทางสุขุมแต่งตัวภูมิฐานที่นั่งจิบกาแฟอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายจอแจในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าใหญ่ในเมือง ตอนเที่ยงวันคนนั้น เป็นบุคคลเดนตายหนึ่งในพลเรือนที่เข้าร่วมรบในสงครามต้านคอมมิวนิสต์ที่ประเทศลาวภายใต้การสนับสนุนของกองทัพสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการ “สกาย”ที่ดำเนินการโดยหน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอร่วมกับรัฐบาลไทยในนาม “หน่วยผสม 333 ”

ปรีชา นิธิสุภา ในวัย 67 ปี อดีตผู้นำการโจมตีทางอากาศหน้า (FORWARD AIR GUIDE-FAG) ในวันนี้ แม้ยังดูแข็งแรงและกระฉับกระเฉงแต่แววตาคู่นั้นไม่อาจปิดบังคำถามและความเจ็บปวดบางอย่างยังฝังลึกที่กาลเวลาไม่อาจเยียวยา

“บางทีเห็นเด็กวัยรุ่นตีกันหรือยิงกันเลือดโชกวิ่งผ่านหน้า ใครๆ รอบข้างเขาแตกตื่น แต่ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงนิ่งไม่ได้แตกตื่นตกใจเหมือนคนอื่น ถามว่าไม่รู้สึกอะไรจริงๆ เหรอก็รู้สึกเศร้ากับพฤติกรรมของพวกเขายังเด็กอยู่แท้ๆ ที่สำคัญเป็นคนไทยด้วยกันห้ำหั่นกันได้ด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทำไม หรืออาจจะเป็นเพราะผมเคยเห็นอะไรที่เลวร้ายกว่านี้มาเป็น 100 เท่าและเห็นเกือบทุกวัน มาเจอเรื่องแค่นี้ก็เลยเฉยๆ” ชายชราพูดยิ้มๆ

คำว่า “อะไรที่เลวร้ายกว่านี้” ที่เขาบอกนั้นเป็นเหตุการระหว่างที่อยู่ในสมรภูมิรบขณะที่ทำหน้าที่ “แฟ็ก” หรือผู้นำการโจมตีทางอากาศหน้า ที่ ซำทอง ล่องแจ้ง และทุ่งไหหิน ประเทศลาว

“ก่อนไปรบแม้กระทั่งกลิ่นคาวปลาผมยังแทบทนไม่ได้ แต่ช่วง 2-3 ปี ที่อยู่ในสนามรบนั้น ได้ยินเสียงปืนเกือบตลอดเวลา บางวันได้ยินทั้งวันต้องหามเพื่อน พี่น้องที่ถูกยิงถูกระเบิดเลือดเต็มตัวอวัยวะรุ่งริ่งหลบหนีบางทีเห็นพวกเขาตายไปต่อหน้า เจอกับสิ่งเหล่านี้แทบทุกวันจนชินความเศร้าใจเกิดขึ้นในหัวใจจนกลายเป็นเรื่องปกติกลับมาบ้านผมสู้กับกลิ่นคาวปลาได้สบายมาก”

ระหว่างปี 2504-2518 เป็นช่วงเวลาของสงครามแย่งพื้นที่ระหว่างขั้วประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีประเทศจีนและรัสเซียเป็นแกนนำคราวนั้นกองทัพคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลและกำลังพลเข้ามาครอบครองอาณาจักรประเทศลาวกำลังพลส่วนหนึ่งแทรกซึมเข้ามาในประเทศไทยเป็นระยะเพื่อหาแนวร่วมหนุนระบอบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอมกิตติขจรเวลานั้นจึงตัดสินใจส่งพลเรือน โดยการรับสมัครอาสาสมัครชายไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป เข้าไปช่วยลาวรบ โดยมีนายทหารจากกองพันต่างๆ เข้าไปสมทบเพราะเล็งเห็นว่าหากไม่ทำเช่นนั้นสงครามจะขยายตัวเข้ามาในประเทศไทยได้เรียกอาสาสมัครเหล่านี้ว่า ทหารเสือพราน

“ตอนนั้นผมทำงานให้กองทัพสหรัฐกองพันแรกที่เข้ามาสร้างถนนสายยุทธศาสตร์อู่ตะเภา-นครราชสีมาต่อมาเพื่อนชวนไปสมัครเป็นล่ามที่อุดรตึกขาว หรือที่ บก.333 จ.อุดรธานี เขารับสมัครวุฒิปริญญาตรี 10 คน มาสมัครกัน 300 คน ผมเอาวุฒิม.8 ไปสอบ เพราะเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่จบแต่อาศัยว่าเคยเรียนโรงเรียนฝรั่ง ภาษาอังกฤษดี เลยสอบได้ที่ 8 พอได้เข้าทำงานถูกส่งตัวกลับมาที่ จ.กาญจนบุรี มาเป็นล่ามให้ทหารไทยที่ฝึกและทบทวนการรบอยู่กับทหารสหรัฐอเมริกา ทหารเขาทำอะไรผมก็ต้องทำแบบนั้นด้วย ต้องพูดต้องแปลและทำทุกอย่างให้ผู้เข้าอบรบรู้และเข้าใจเพราะส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าใจภาษาอังกฤษ”

ชายชราแย้มปาก ยิ้มน้อยๆ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

“อย่างการใช้ เอ็ม 16 จับปืนอย่างไร ขึ้นไก ลั่นไกหรือขว้างระเบิด ยิงจรวด ยุทธวิธีต่อสู้ในสงครามทำอย่างไรผมก็ต้องแปลและปฏิบัติตามที่เขาบอกผ่านมาทุกอย่าง ทุกวันที่กลับที่พักต้องศึกษาเรื่องศัพท์เทคนิคอย่างละเอียดเพราะการแปลนั้นต้องใช้ความเร็วและผิดพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียวตอนนั้นได้รับเงินเดือนๆ ละ 4,000 บาท ถือว่าสูงมากเงินขนาดนี้ซื้อทองได้ถึง 10 บาท แต่ทางบ้านไม่รู้หรอกว่าผมทำงานให้กองทัพเพราะทุกอย่างเป็นความลับหมด รู้แต่ว่าเป็นล่ามเท่านั้น”

ฝึกและเป็นล่ามได้ 9 เดือน ปรีชาก็ถูกส่งไปเข้าคอร์สผู้นำการโจมตีทางอากาศหน้า หรือ “แฟ็ก”ที่ค่ายบวร หรือ ค่าย พล.ร.9 หน้าที่ของ “แฟ็ก” คือ จะต้องทำงานในสนามรบโดยเป็นผู้ประสานงานระหว่างทหารเสือพราน ตำรวจพลร่มภายใต้การอำนวยการของซีไอเอ แต่ละกองพันที่อยู่ในสนามรบจะมี “แฟ็ก” 1 นาย

ในสนามรบทุกคนจะมีชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ ปรีชาถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าสปอรตไลท์ มีเอ็ม 16 ปืนสั้นแบบพกพา และวิทยุสื่อสารติดตัวตลอด 24 ชั่วโมงที่อยู่ในบังเกอร์เคยอดอาหารเพราะถูกข้าศึกล้อมและค่ายแตก เป็นเวลา 3 วันเต็มๆ

รู้มาก่อนหรือเปล่าว่าเราจะไปเจออะไรบ้าง

“พอรู้บ้างว่าต้องไปรบและรบแบบลับๆคือ ไม่มีใครรู้อย่างเป็นทางการ ไม่เป็นข่าวเป็นการรบครั้งแรกที่พลเรือนเข้าไปรบด้วย ผมอยู่ในสนามรบจริงๆ เลย 2 ปีได้พักเดือนละครั้ง หลังๆพอกลับบ้านที่บ้านก็เริ่มรู้ว่าเราไปรบ ลูกมาเกาะแขน เกาะขาแล้วถามว่ามือพ่อไปโดนอะไรมา ทำไมมีแต่รอยแผล ญาติๆ หลายคนร้องไห้บอกว่าบ้านเราไม่ได้ยากไร้ถึงขนาดต้องไปเป็นทหารรับจ้างหรอกนะเพราะหลังจากถูกส่งไปรบที่ลาวนั้น ผมได้เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงถึงเดือนละ 18,000-20,000 บาทถือว่าสูงมากในเวลานั้น”

ปรีชาบอกว่า คำว่า “ทหารรับจ้าง” ที่ถูกหลายคนค่อนแคะและเย้ยหยันเวลานั้นสร้างความรวดร้าวในใจแก่เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์มิใช่น้อยสาเหตุที่ถูกเรียกว่าทหารรับจ้างเพราะพวกเขาได้รับค่าตอบแทนในการเสี่ยงชีวิตในสนามรบสูงมีเงินล่อใจสำหรับการปฏิบัติการบางอย่างเป็นพิเศษต่างหากเช่น ใครยึดรถถังฝ่ายตรงข้ามได้จะได้คันละ 20,000 บาทแต่นอกเหนือจากค่าจ้างดังกล่าวที่ทุกคนตระหนักเสมอคือ จิตสำนึกเรื่องรักชาติ

“สงครามที่ไม่มีใครรู้ จ่ออยู่หน้าประตูบ้าน มันรุนแรงและหนักหนาสาหัสถ้าเราไม่ไปสงครามนั้นจะลามเข้าบ้านเราแน่นอน ทุกคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ด้วยว่า ไปแล้วจะได้กลับบ้านหรือเปล่าบางครั้งนอนอยู่ในบังเกอร์ฟังเสียงกระสุนและปืนใหญ่ทั้งวันทั้งคืนจนเครียด แต่นึกถึงคำพูดของผู้บังคับบัญชาที่ว่าเรามาสู้รบนอกบ้านดีกว่าให้สงครามมันไปเกิดในบ้าน เท่านี้ก็เกิดแรงฮึดขึ้นมาแล้ว”

2 ปี ในสนามรบ ทำให้ปรีชาในวัย 30 ต้นๆในเวลานั้นได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่สามารถลืมได้เลยในชีวิตนี้

“หลายครั้งที่เราถูกล้อมไปไหนไม่ได้ ต้องนอนฟังเสียงปืนอยู่ในหลุมนิ่งๆ 3 วันคิดถึงลูกคิดถึงบ้าน จิตใจสับสน เครื่องแบบชุดเดียวใส่ติดต่อกันเป็นอาทิตย์ รองเท้านี่แทบไม่ได้ถอดเลย ใส่มันทั้งวันทั้งคืนช่วงไหนที่ปลอดโปร่งถึงได้ขึ้นจากหลุมเอารองเท้ามาผึ่งกันสักครั้ง ที่สะเทือนใจมากๆ คือเพื่อนและผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนตายไปต่อหน้าต่อตา”

ปรีชาบอกว่า พวกเขากลับจากประเทศลาวหลังสงครามลดระดับความดุเดือดลงมา

“เรากลับมาแบบเงียบๆนอกจากเพื่อนสนิทบางคน และครอบครัวเท่านั้นที่รู้ว่าเราไปทำอะไรมามีพบปะกันบ้างนานที สำหรับเพื่อนร่วมสมรภูมิ เราเรียกพวกเราเองว่าเป็นนักรบนิรนามเพราะไปรบในสงครามที่ไม่เปิดเผย พวกที่ตายก็ตายไปพวกที่รอดกลับมาก็ไม่มีใครเชิดชูยกย่อง ผมกลับมาทำธุรกิจส่วนตัวอยู่กับครอบครัว มีความสุขไปตามประสามีบางวันที่เอารูปถ่ายเก่าๆ มาดู แล้วคิดถึง วันที่ผ่านมา ก็เท่านั้น”เขาพึมพำเบาๆ

ภูมิใจแค่ไหนกับสิ่งที่ทำมาในอดีต

ชายชรามีแววตาเป็นประกายแจ่มใสขึ้น ก่อนจะบอกว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต แม้ไม่มีใครยกย่องแต่เขาก็รู้เองอยู่แก่ใจว่า การรับใช้ชาติโดยเอาชีวิตเข้าแลก แล้วทำให้ประเทศพ้นจากการถูกคุกคามนั้นคุ้มค่าที่สุดแล้ว

ปรีชาค่อยๆเปิดอัลบั้มภาพถ่ายสมัยที่ยังอยู่ในสนามรบให้ผู้ไปเยือนดูอย่างแผ่วเบา ทะนุถนอม และภาคภูมิใจ

“ชีวิตก็เท่านี้แหละ”

เขาบอกพร้อมกับรอยยิ้มบางๆก่อนผู้ไปเยือนจะขอตัวกลับ