มุกดา สุวรรณชาติ : เลื่อนเลือกตั้ง 3 ปี+3 เดือน+ ความจำเป็นของใคร? ทำไม?

มุกดา สุวรรณชาติ

2 ก.พ. 2557 ครบรอบ 4 ปี
ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง

ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แบบไม่ให้มีเลือกตั้ง…ตอนนี้สมหวัง คงจะมีเลือกตั้งหลังจากเว้นว่างครบ 8 ปี

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 เมื่อการเมืองมิได้เดินไปตามระบอบประชาธิปไตยตามปกติ การเลือกตั้งซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จึงถูกล้ม ถูกต่อต้านขัดขวาง ถูกเลื่อนมาโดยตลอด

เมื่อเกิดการยุบสภาปลายปี 2556 กำหนดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีขัดขวางแบบปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเกิดขึ้นหนักกว่าการบอยคอตปี 2549

สุดท้ายก็นำไปสู่การรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ

แม้บางคนในกลุ่มที่ปิดล้อมบอกว่ามิได้ตั้งใจจะเชิญทหารออกมา

แต่ในความเป็นจริงก็มีแกนนำม็อบบางคนไปนอนอยู่ในบ้านทหาร เพียงแต่ผลลัพธ์ที่ออกมามิได้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของหลายฝ่าย

คนที่ลงทุนเสี่ยงทำผิดกฎหมายมาตรา 113 ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิตเมื่อยึดอำนาจได้ก็ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ตามที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม และก็อยู่ในอำนาจต่อไป

แต่คนที่อยากเป็นรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่ได้เป็น… คนที่อยากให้เป็นใหญ่ไม่มีโอกาสมา

ผลที่ได้มาก็เลยทำให้กองเชียร์พูดไม่ออกไปตามๆ กัน

ม็อบปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ทั้งปิดกรุงเทพฯ ยึดกระทรวงทบวงกรม ล้มเลือกตั้ง แถมต้องตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหาร มีกองหนุนเท่าไรใช้หมด จึงจะยึดอำนาจได้

ไม่ต้องอ้างความแตกแยกทางความคิดสองขั้ว เพราะมันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน และถ้าอ้างว่า ถ้ามีความแตกแยก ก็จะยังไม่มีเลือกตั้ง ชาตินี้ก็ไม่มีการเลือกตั้ง

แต่ถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้ง แบบขอเวลาไม่นานจริงๆ ก็คงใช้เวลาประมาณปีกว่าเท่านั้น หลังรัฐประหาร 2549 ก็ทำมาแล้ว

 

คิดว่าเขาจะปล่อยให้เลือกตั้งง่ายๆ หรือ
ในเมื่อเลื่อนมา 3 ปี ทั้งๆ ที่ประกาศไปทั่วโลก

การกำหนดวันเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แจ้งว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีอาจจะมากหรือน้อยกว่า

หลังจากนั้นการเลื่อนก็เริ่มขึ้น แจ้งว่าน่าจะเป็นปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่ต่อมาก็มีการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คนร่าง รธน. บอกว่า …เขาอยากอยู่ยาว…จึงเลื่อนต่อไปอีก เป็นประมาณกลางปี 2560 คำมั่นนี้ไปพูดที่สหประชาชาติ

หลังการลงประชามติการเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนออกมาเป็นปลายปี 2561 เมื่อตัวนายกฯ ได้ไปพูดขณะที่พบกับประธานาธิบดีสหรัฐโดยแจ้งว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561

ตรงกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คนร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่าจะต้องเป็นปลายปี 2561 ยกเว้นจะเกิดสงครามโลก

ถึงวันนี้ ไม่มีสงครามโลก ไม่มีใครทะเลาะกับใครแถวข้างบ้าน แต่ในบ้านเราคนส่วนใหญ่ยากจน ลำบาก แต่ร้องไม่ออก เพราะถูกกดไว้ อยากจะมีเสรีภาพที่จะเรียกร้อง อยากจะมีตัวแทนที่มาดูแลชีวิตชาวบ้าน ไม่มีใครตรวจสอบการโกง แต่ช่องทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่เปิด ใครมาแสดงออก มาตรวจสอบ จะถูกจับ

ตอนนี้จะเลื่อนอีก 3 เดือน…กำหนดเดือนพฤศจิกายน 2561 อาจต้องเลื่อนออกไปอีกแล้ว

เป็นการเลื่อนจากภายในคือจาก คสช. จากรัฐบาล จาก สนช. และจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

หลายฝ่ายบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นเรื่องนี้เป็นเพราะ สนช. คนเลยไปกล่าวหาว่า สนช. อยากจะได้เงินเดือน อยากจะทำงานต่อจึงเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

แต่วิเคราะห์แล้วไม่น่าเป็นเหตุผลนี้ เพราะการเลือกตั้งได้ยืดออกมาแบบที่มีลักษณะเป็นยุทธศาสตร์ เป็นเป้าหมายทางการเมือง เพื่ออยู่ในอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนานที่สุด และเมื่ออยู่ไม่ได้ก็ยอมเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ต้องชนะและเป็นรัฐบาลต่อไป

เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจจากคนมือเปล่า

แม้จะเขียนรัฐธรรมนูญปูทางไว้ให้หลายช่องทาง แต่รัฐธรรมนูญไม่สามารถระบุชื่อนายกรัฐมนตรีได้ การสร้างบันไดขึ้นสู่อำนาจจึงต้องมีหลายขั้นหลายตอน

 

กฎหมายลูก
ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สำคัญอย่างไร

ถ้าเป็นไปตามปกติเหมือนกฎหมายลูกฉบับอื่น รัฐธรรมนูญบอกว่าต้องเลือกตั้ง เมื่อกฎหมายลูกทั้งหมดเสร็จ ใน 150 วัน แต่เมื่อฉบับเลือก ส.ส. เลื่อนบังคับใช้ไป 90 วัน การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนตาม เป็น 150+90 วัน

เหตุผลที่ชี้แจงมา ก็คือเป็นห่วงว่าพรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทัน

แล้วทำไมไม่ปลดล็อกให้พรรคต่างๆ เตรียมตัว

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองวิเคราะห์ว่า

1. พรรคเก่าๆ ทั้งหลายเตรียมตัวทัน แม้จะถูกบีบโดยเซ็ตซีโร่พรรค แต่พวกเขาปรับตัวโดยจัดให้มีสมาชิกตามกฎหมาย อาจจะเหลือเป็นหลักหมื่น ไม่ต้องเป็นแสน เป็นล้าน แต่พรรคใหญ่และพรรคเก่าเชื่อมั่นกองเชียร์ของตน

2. ผู้สมัคร ส.ส. หรือนักการเมือง ที่ถูกด่าทุกเช้า ทุกเย็น ว่าไม่ใช่คนดี กลายเป็นที่ปรารถนาของพรรคต่างๆ ไม่ว่าจะชนะได้เป็น ส.ส. หรือไม่ เพราะการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรใบเดียวเลือก ส.ส.เขต แม้แต่คนแพ้ ได้ที่ 2 ที่ 3 ก็ยังนำคะแนนไปรวมคิดสัดส่วน หาจำนวน ส.ส ปาร์ตี้ลิสต์ ผู้สมัครที่คะแนนหลักหมื่น จึงมีคุณค่าทุกคน ขอให้พรรคมีความสามารถส่งผู้สมัครครบ 350 เขต

และถ้ามีคนทำคะแนนหลักหมื่นได้ถึง 80-100 เขต ก็อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 10 คน

3. ถ้าอยากตั้งพรรคใหม่ จะหา ส.ส. มาจากไหน

ต้องหาจาก ส.ส.เก่าของทุกพรรค หรือจากนักการเมืองท้องถิ่น

ถ้าต้องการ ส.ส.เก่าที่มีฐานคะแนนมาก จำนวนเป็นร้อยๆ คนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเขตบ้าง และถ้าแพ้แต่ได้คะแนนพอควร มารวมเพื่อได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่ใช่จะหาง่าย ถ้าหาไม่เป็นก็จะถูกหลอก ถ้าเป็นพรรคฟอร์มใหญ่ จะเป็นรัฐบาล แต่ทั้ง 350 เขต ได้คะแนนมาจุ๋มจิ๋ม จะเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก และอำนาจต่อรองในรัฐบาลผสมก็จะลดลง

 

ความจำเป็นของใคร…
จึงต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน

4.คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตาม รธน. 2560 มาตรา 101 ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ที่เซ็ตซีโร่พรรคการเมืองมา ก็จะมีผลต่ออดีต ส.ส. ตรงนี้ ยกตัวอย่าง นายดำ อดีต ส.ส. อยากจะทิ้งพรรคเดิมมาอยู่พรรคใหม่ ถ้าวันเลือกตั้งเป็นกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามโรดแม็ปเดิม (ครั้งที่ 3) นายดำต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 แต่วันนี้พรรคใหม่ยังไม่ได้ตั้ง เป็นตัวเป็นตน จึงเตรียมก่อนไม่ได้

5. พรรคอะไร พรรคของใคร ที่ขณะนี้มีปัญหา เรื่องการหาผู้สมัคร ส.ส. … น่าจะเป็นพรรคใหม่มากกว่าพรรคเก่า

การตระเวนออกไปติดต่อหัวหน้าสายตามภาคต่างๆ จึงจะต้องดำเนินต่อไป แต่ ส.ส.เก่าของทุกพรรคล้วนแต่มีประสบการณ์ พวกที่อุดมการณ์หลากหลายเปลี่ยนได้ตลอดก็เขี้ยวลากดิน ดังนั้น จึงต้องต่อรองกันหลายรอบ ต้องใช้เวลา ถ้าจะทำพรรคขนาดกลาง ใครจะใหญ่กว่าใคร? จะต้องใช้เงินเท่าไร?

ตอนนี้มีคำตอบมาแล้วว่า ถ้าอยากดึง ส.ส. มาเป็นกลุ่ม ต้องมีเวลา ต้องมีปัจจัยมากพอ

ข่าวแจ้งว่าขณะนี้มีการรวมตัวกันแล้ว เพื่อให้เกิดพลังต่อรอง ถ้าเข้าร่วมก็ต้องรับไปเป็นพวง ทั้งตัวเต็ง ตัวประกอบ ถ้าจะสำรวจท่อน้ำเลี้ยง สำรวจพรรคใหม่ก่อนได้เลย

ตามเกมการเมือง ส.ส. ก็ยังไม่ขยับง่าย ถ้าย้ายออกปั๊บ ก็จะมีคนใหม่เข้าเสียบทันที โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เกมนี้จึงไม่ง่าย สถานการณ์วันนี้ เรือออกมาไกลฝั่งแล้ว คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง เกมอาจพลิกได้

ตลาดซื้อตัวนักเตะเปิดแล้ว กล้าจ่ายเงินมัดจำวันนี้หรือไม่ จ่ายแล้วจะคุ้มหรือไม่

6. ยังมีโครงการที่จะลงสู่พื้นที่อีกมากมาย บัตรคนจน ไทยนิยม ที่ต้องใช้เวลา ใช้เงิน ใช้คน โครงการสร้างความนิยม แบบที่เรียกว่าไทยนิยม ยังจะมีอีกหลายโครงการ

เรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง อาจยังมีอีก แต่ทำอย่างไรก็ไม่ใช่บันไดเลื่อน เป็นเส้นทางที่ต้องก้าวขึ้นทีละขั้น ใช้เวลาและต้องใช้กองหนุน+เงิน สร้างบันได