มองไทยใหม่ : ว ที่เป็นพยัญชนะ VS ว ที่เป็นสระ

ในภาษาไทย รูปพยัญชนะ ว แหวน ใช้แทนเสียงสระอัวที่มีตัวสะกด เช่น

กวด กวน กวม ขวง ขวด ควง ควน ควบ ควร งวง งวด ง่วน ง้วน จวก จวง จ้วง จวด จวน จวบ ช่วง ชวด ชวน (ประ)ชวร ซวด(เซ) ซวน(เซ) ญวน ดวง ด้วง ดวด ด่วน ด้วน ด้วม(เดี้ยม) ตวง ต่วน ต้วม(เตี้ยม) ถ่วง ถ้วน ทวง ท้วง ท่วง(ท่า) ทวด ทวน ท้วน ท่วม นวด นวม น่วม นวล บวก บวง บ่วง บวช บวน บ้วน บวบ บวม ปวก(เปียก) ปวง ป่วง ปวด ป่วน ป้วน(เปี้ยน) ผวน พวก พ่วง พวน มวก ม่วง มวน ม่วน ม้วน ยวง ยวด ยวน ยวบ รวก รวง ร่วง รวด รวน ร่วน รวบ รวม ร่วม ลวก ลวง ล่วง ล้วง ลวด ล้วน ลวน(ลาม) ล่วม สวก ส้วง สวด สวน ส่วน สวบ สวม ส้วม หวง ห่วง ห้วง หวด หวน ห้วน อ้วก อวด อวน อ้วน อวบ อวล ฮวง(จุ้ย) ฮวง(ชุ้ย) ฮวน ฮวบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำที่เขียนดังแบบข้างต้น แต่อ่านต่างออกไป เพราะ ว แหวน ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสระ แต่เป็นพยัญชนะ ซึ่งมีอยู่ ๓ แบบ

คือ

๑.ว แหวน ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นที่ตามมาด้วยพยัญชนะอีกตัวหนึ่ง จึงอ่านแบบสระโอะลดรูป เช่น

ขวนขวาย “ขว” ในพยางค์แรกเป็นพยัญชนะควบกล้ำ พยางค์นี้จึงอ่านเป็นสระโอะลดรูป ในทำนองเดียวกันกับคำว่า วน ไม่ใช่ในทำนองเดียวกันกับคำว่า กวน

พวง คำนี้อ่านได้ทั้งแบบเดียวกับคำว่า ดวง เช่น พวงดอกไม้ หรือจะอ่านว่า [พะ-วง] ก็ได้ เช่น พวงเดือน [พะ-วง-เดือน] เพื่อป้องกันมิให้อ่านผิด คนที่ชื่อนี้จึงเขียนแยกเป็น “พ-วงเดือน”

ลวงค์ อ่านว่า [ละ-วง] ไม่ใช่แบบเดียวกับคำว่า ดวง คำนี้แปลว่า กานพลู มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ลวงฺค อ่านว่า [ละ-วัง-คะ]

๒.ว แหวน ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้น ที่มีสระอะไม่ปรากฏรูป มักเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น

ชวนปรีชา อ่านว่า [ชะ-วะ-นะ-ปรี-ชา] หมายถึง “รอบรู้จัดเจนอย่างเร็วไว”

นวกภูมิ อ่านว่า [นะ-วะ-กะ-พูม] หมายถึง “ระดับชั้นของพระภิกษุที่มีพรรษาระดับต้น คือ ต่ำกว่า ๕ พรรษา อยู่ก่อน มัชฌิมภูมิ กับ เถรภูมิ”

ภวกษัย อ่านว่า [พะ-วะ-กะ-ไส] หมายถึง “ความสิ้นภพ, นิพพาน”

ยวกสา อ่านว่า [ยะ-วะ-กะ-สา] หมายถึง “นํ้าประสานดีบุก”

๓.ว แหวน ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้น ที่มีสระออไม่ปรากฏรูป เมื่อตามด้วย ร เรือ เช่น บวร คำนี้มี ๒ พยางค์ ซึ่งมีเสียงสระออไม่ปรากฏรูปทั้ง ๒ พยางค์ จึงอ่านว่า [บอ-วอน] เช่น วัดบวรนิเวศ แต่ถ้าเป็นคำสมาส เช่น บวรวงศ์ จะอ่านว่า [บอ-วอ-ระ-วง]

คำเหล่านี้คือปัญหาของผู้อ่านออกเสียง ต้องตรวจสอบก่อนอ่านทุกครั้ง โชคดีที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ผู้ที่สามารถอ่านคำประเภทนี้ได้ถือว่าเป็นผู้ “อ่านหนังสือแตก” ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกรด้วย