จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2561

จดหมาย

0 ทหาร

ผมนั่งทบทวน รัฐบาลทหาร คนเก่งๆ คนดี ออกสื่อตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา
เขาบอกว่าเราต้องทำเพื่อในหลวง ร.9 ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ
ผมอ่านข่าวแล้วก็มึนๆ งงๆ
เครื่องตรวจจับความเร็ว แพงเว่อร์ เครื่องสแกนม่านตาซับซ้อน
คสช. แต่งตั้งลูกสาว กรธ. เป็นเลขาฯ พ่อตัวเอง กินเงินเดือนเกือบ 50,000 บาท
ห้องทำงานใหม่ กกต. 15 ล้าน (ทำไมถึงต้องขนาดนี้) อีกทั้งรถประจำตำแหน่ง ต้องใหม่ คันเดิมไม่เอา (ทำไมเป็นเช่นนั้น)
เหล่านี้ ย่อมแสดงถึงกิเลส และความโลภของคนเก่ง/คนดี คนรัฐ
นัยความพอเพียงที่ผมเข้าใจ ครอบคลุมไปถึงความคุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง ความเหมาะสม และถูกต้อง
ต้องเดินไปคู่กัน เพื่อความสมบูรณ์ ในความหมายซึ่งสวนทางกับรัฐบาลที่มองต่างมุมต่างด้าน
ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้ครับ
ประชาธิปไตยกับเผด็จการ
เรือดำน้ำ รถถัง กับเครื่องมือแพทย์ 700 ล้าน 11 โรงพยาบาลที่ขาดแคลน
รัฐบาลมองความสำคัญผิดด้านเสมอ เวรกรรม!
ด้วยความเคารพ
“พงษ์เทพ”

ช่าย…
รัฐบาลมองผิดด้านเสมอ
มองไปว่าเรื่อง “นาฬิกา” เป็นเรื่องส่วนตัว
แต่เรื่องส่วนตัวนั้น
ไฉนกลับทำให้ รัฐบาล ทหาร ป.ป.ช. สะท้านสะเทือนตามไปด้วย
เรื่องไม่จบ และบานปลายไปเรื่อยๆ
“นิด้า” ก็เกิดติดไข้ขึ้นมาเฉยๆ
เวรกรรม!

0 นักการเมือง

ปัญหาการปฏิวัติรัฐประหาร
ทำให้ประชาธิปไตยขาลาก เหมือนถูกรถทับอยู่ในขณะนี้
มาจากนักการเมืองที่มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานกัน
พอได้เป็นรัฐบาลก็จะทำลายกันชนิดมึงทีกูที
พวกที่ไม่ได้เป็นก็รวมหัวกันเล่นการเมืองนอกสภา ไม่ลงเลือกตั้งบ้าง ปลุกระดมมวลชนไปเดินขบวนตามถนนบ้าง
ยังไม่รวมพวกสันหลังหวะกลัวภัยคอร์รัปชั่นที่ก่อไว้จะถึงตัว
ต้องวิ่งเข้าหาพวกอ้างรักชาติ หัวหงอกหัวดำที่ยังหวงอำนาจ
ผู้ที่มีส่วนส่งเสริมให้นักการเมืองเป็นเช่นนี้คือ
1) นายทุนใหญ่ที่กลัวภัยนักการเมือง จะกระทบถึงตัว ต้องเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองหรือเกาะกลุ่มอำนาจให้แนบแน่นเข้าไว้
2) นักการเมืองเอง ที่ยอมทุ่มเงินซื้อเสียงเพียงเพื่อให้ได้เป็น ส.ส.
หรือ ส.ส. บางคนยอมตนเป็นวัวควาย เข้าอยู่ในคอก เพื่อให้เจ้าของคอกได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ๆ
หาเงินมาขุนกันให้อิ่มหมีพีมัน เพื่อเตรียมไว้ในการเลือกตั้งคราวต่อไป
3) ประชาชน บางภาค บางกลุ่ม บางเหล่า ที่นิยมชมชอบนักการเมืองประเภทด่าคนอื่นเก่ง เรียกเสียงฮา ได้เหมือนดูมหรสพ
แม้พรรคการเมืองที่ตนชอบจะดีแต่ปาก ทำงานไม่เอาไหน จะอดตายหรือไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ก็ยังยึดมั่นในทำนอง “ทำไมกับหูแหว่งจมูกวิ่น ถึงจะด้วนเสียสิ้นก็ของข้า”
เมื่อฝังใจกับโวหารตลกโปกฮา หาสาระไม่ได้ การสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่นนั้นก็อยู่ในภาวะดักดาน
ถ้าเป็นลิเก ก็จะจัดอยู่ในประเภท พ่อยกแม่ยก
ถ้าเป็นหนังตะลุง มโนราห์ ก็จัดอยู่ในประเภทพวกบ้าหัวจุก
ตอนท้ายอาจไม่เกี่ยวกับการเมือง
แต่อยากบอกกล่าวมายังนักพูดคารมดี
ที่เขียนเรื่องลงในหนังสือประเภทขำขันบางท่านที่หน่วยงานต่างๆ เชิญไปพูด
แล้วไปตะคอกเอากับคนฟังที่เขาไม่ขำด้วยนั้น
เพราะคนฟังคนนั้นเขาเขียนเรื่องชวนขันในหนังสือเล่มนั้นเช่นกัน
และเส้นเขาไม่ตื้นพอกับเรื่องขำตื้นที่ท่านนำมาพูด
โดยความนับถือ
นายเส้นลึก

สังเกตไหม นายเส้นลึก
เวลาด่านักการเมือง
สามารถด่าได้ลึก เต็มเสียง เต็มคำ
ผิดกับด่านักอื่นๆ เช่น นักปฏิวัติรัฐประหาร
ว่าเส้นลึกแล้ว ยังต้องเพิ่มความลึกมากขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถด่าพวกเขาได้
ตรงนี้สะท้อนอะไร ช่วยกันคิดหน่อยเถิด
ส่วนเรื่องตอนท้าย ไม่กระจ่างแจ้งนัก ว่า “นายเส้นลึก” หมายถึงใคร
แต่หากเอ่ยคำว่า บุคคลที่ตะคอกคนฟังขึ้นมา
นึกถึงหนึ่งเดียวคนนั้น คนเดียว (ฮา)
และเราได้หัวเราะขื่นๆ กับเรื่องชวนขำของท่านผู้นั้นจะครบ 4 ปีแล้ว
แต่ดูท่านยังไม่พอ จะขอ “อยู่ต่ออีก” –เฮ้อ