ในประเทศ : ไม่มี “ใบสั่ง” แต่ปรารถนาดีเลื่อน “เลือกตั้ง” พิงคำสั่ง คสช. 53/2560 ยื้อใช้ กม.ส.ส. 90 วัน “ตามใจแป๊ะ”

พลันที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธาน มีมติเสียงข้างมากขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ตามที่บัญญัติในมาตรา 2 ออกไปอีก 90 วัน ก็ทำให้การเมืองที่ร้อนอยู่แล้วร้อนหนักขึ้นไปอีก

เหตุที่การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปทำให้การเมืองทวีความร้อนแรงขึ้นก็เพราะเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สัญญาเอาไว้

เหตุที่มีผลกระทบกับโรดแม็ปเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพราะตามบทเฉพาะกาล มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุไว้ว่า การนับ 1 ไปสู่กระบวนการเลือกตั้งจะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ขึ้นแท่นรอไว้แล้ว 2 ฉบับ

นั่นคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ส่วนอีก 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากยึดตามกรอบเวลาการพิจารณากฎหมายของ สนช. ก็คาดหมายกัน จะประกาศใช้ได้อย่างช้าในเดือนมิถุนายนนี้

จากนั้นก็จะเข้าสู่การเริ่มต้นนับ 1 สู่การเลือกตั้งที่จะต้องจัดขึ้นภายใน 150 วัน ตามเงื่อนไขที่วางไว้ตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายนนี้

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำประกาศของโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลั่นวาจาออกไป โดยยึดตามกรอบเวลาในการพิจารณากฎหมายของ สนช. เป็นสำคัญนั่นเอง

ดังนั้น การยืดเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของ กมธ.เสียงข้างมาก ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน จึงมีผลทำให้การเริ่มต้นนับ 1 สู่การเลือกตั้งภายใน 150 วันหรือ 5 เดือน ตามเงื่อนไขที่วางไว้ตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่สามารถออกสตาร์ตได้ตามกรอบเวลาเดิม

และยังส่งผลตรงๆ ต่อโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่จะต้องเลื่อนออกไปในช่วงต้นปี 2562 อีกด้วย

 

นี่ยังไม่นับรวมเวลา หากที่ประชุม สนช. “บ้าจี้” เอาด้วยกับ 2 กมธ.สนช.เสียงข้างน้อย นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กับนายธานี อ่อนละเอียด ที่จับคู่ยืนยันคำแปรญัตติที่ต้องการจะยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไปให้ได้ถึง 120 วัน เพราะยังคิดว่า 90 วันตามมติของ กมธ.เสียงข้างมาก ยังน้อยเกินไป

เหตุที่ยังน้อย นายทวีศักดิ์อ้างว่า กฎหมายหลายฉบับที่ สนช. ออกไป สุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ จึงต้องไปขอให้ คสช. มีคำสั่งขยายเวลา เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. หากคิดจะขยายเวลาก็ควรขยายให้พอเพียงแก่พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมตัวได้ทัน โดยไม่ต้องให้ คสช. ใช้อำนาจแก้ปัญหาอีก

ทั้งนี้ทั้งนั้น กมธ. ยืนยันเอา 90 วัน ส่วนจะเท่าไหร่นั้น ที่ประชุม สนช. จะโหวตกันอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคมนี้

 

อย่างที่ทราบกัน กมธ. ได้ยกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ในการกำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมมาเป็นเหตุในการยืดการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน โดย กมธ. มองอย่างเป็นห่วงและกังวลแทนพรรคการเมืองว่า จะมีเวลาเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งไม่ทัน

แม้จะบอกว่าเป็นความหวังดีต่อพรรคการเมือง แม้จะพยายามปฏิเสธว่าไม่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ แต่ต้องยอมรับว่า การยืดเวลาใช้กฎหมายลูกออกไป 90 วันของ สนช. กลับกลายเป็นหอกที่พุ่งกลับเข้าใส่รัฐบาล คสช. โดยตรง

เพราะเป็นการยืดเวลาออกไป โดยที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้ร้องขอ ขณะที่คำสั่งที่ 53/2560 อันเป็นการปลดล็อกคลายเงื่อนเวลาของขั้นตอนทางธุรการอันเป็นเหตุที่ สนช. ยกมาอ้างในการยืดเวลาก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง

ตรงกันข้าม จุดเริ่มต้นที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นกลับเป็นรัฐบาล กลับกลายเป็น คสช. เองต่างหาก

 

ต้องยอมรับว่า แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 บังคับใช้ไปแล้ว แต่กลับไม่มีผลบังคับใช้จริงได้ ก็เพราะเงื่อนไขอันเป็นคำสั่ง 57/2557 ที่ คสช. ยังไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือประชุมกรรมการบริหารพรรค จึงทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถปรับปรุงขั้นตอนทางธุรการต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองได้

และเมื่อมีเสียงท้วงติงหนักเข้าๆ แทนที่รัฐบาลจะปลดล็อกให้ แต่กลับไปรับข้อเสนอจากความเดือดร้อนของ “ไอ้ห้อยไอ้โหน” ที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่าเป็นการคบคิด ออกเป็นคำสั่งที่ 53/2560 มาแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อคลายเงื่อนเวลา โดยมีเนื้อหาที่จ้อง “เซ็ตซีโร่” สมาชิกพรรคมีอยู่เดิมแถมมาด้วย

ทุกอย่างจึงถูกขับเคลื่อนไปตามวลี “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ทุกประการ

กระทั่งลืมคำสัญญาตามบทเพลงคืนความสุข ที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ไป

จะเห็นได้ว่า แทนที่จะทำตามคำร้องขอจากนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ที่อยากให้ผู้มีอำนาจช่วยออกปากยับยั้งการกระทำที่จะมีผลทำให้ไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญาเรื่องโรดแม็ปเลือกตั้ง แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับโยนให้เป็นเรื่องของ สนช. ที่จะดำเนินการให้ทุกอย่างเดินไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ สนช. ก็ไม่ใช่อื่นไกล

เพราะเป็นแม่น้ำสาย 1 ที่ คสช. แต่งตั้งเองกับมือทั้งหมด และที่ผ่านมา ในฐานะ “แป๊ะ” ก็เคยแตะเบรกเรื่องใหญ่ๆ ที่ออกมาจากทางฟาก สนช. ที่ไม่ตามใจแป๊ะอยู่หลายเรื่อง

 

นี่เองจึงเป็นที่มาว่า ทำไมการยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันที่มีผลทำให้โรดแม็ปสู่การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปด้วย จึงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า รัฐบาล คสช. ไม่เกี่ยวข้อง และไม่น่าแปลกใจที่คำถามที่ว่า ผู้มีอำนาจยังเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่เสร็จเรียบร้อยใช่หรือไม่ ของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้า ปชป. จึงดังสนั่นขึ้น

“พูดง่ายๆ ว่ายังแต่งตัวพรรคใหม่ไม่เสร็จใช่หรือไม่ การขยายน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อมีความชัดเจนว่าต้องจัดตั้งพรรคใหม่ และดูดนักการเมืองจากพรรคเก่า การเคลื่อนไหวเพื่อบอนไซพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่ จึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขยายเวลาการเลือกตั้ง ส.ส. ยืดออกไปอีก 90 วัน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพรรคใหม่ยังแต่งตัวไม่เสร็จใช่หรือไม่”

แน่นอนว่า ข้อวิจารณ์ดังกล่าว แม้จะถูกปฏิเสธจากบรรดาบิ๊กๆ คสช. แต่ต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ถูกจับตาจากสังคมที่รอแค่เพียงเวลาเป็นตัวพิสูจน์เท่านั้นว่า การคบคิดต่างๆ ก่อนหน้านี้มาจนถึงการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 90 วันที่มีผลต่อคำมั่นสัญญาเรื่องโรดแม็ปเพื่อเตรียมตัวตั้งพรรคทหารอย่างที่นายองอาจตั้งคำถามนั้น

จะเป็นเพียงทฤษฎี หรือว่าจะเกิดขึ้นจริงในทางการเมือง