เทศมองไทย : มองอดีต ชำเลืองอนาคตไทย

ต้นปี 2018 เมื่อ 7 มกราคมที่ผ่านมา ฮิโรชิ มูรายามะ แห่งนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยไว้ในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันไว้อย่างน่าสนใจ

เพราะเป็นการเหลือบมองย้อนหลังกลับไปให้เห็นภาพรวมในอดีต พร้อมๆ กับการตรวจสอบสถานะ ณ ปัจจุบันในบ้านเรา

แล้วใช้ทั้งหมดเป็นพื้นฐานของการตั้งคำถามถึงอนาคตของเมืองไทยเอาไว้ให้เก็บไปคิดต่อในตอนท้ายอีกด้วย

แน่นอน จุดเริ่มต้นเป็นอดีตไม่ไกลนัก เมื่อตอนที่วิกฤตการณ์ทางการเงินในบ้านเราก่อให้เกิดผลสะเทือนไปทั่วทั้งเอเชีย ที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ทรุดตัวขึ้นพร้อมๆ กันในหลายประเทศ

โดยไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ย่ำแย่ที่สุด กระนั้นก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดเช่นเดียวกัน

 

ถึงปี 2003 ตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่าเขตเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวที่สัดส่วน 7.2 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้น อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนฟิลิปปินส์ก็โตแค่ 5 เปอร์เซ็นต์

ในปีนั้น จีดีพีต่อหัวประชากรของไทย (จีดีพีหารด้วยจำนวนประชากร) อยู่ที่ 2,380 ดอลลาร์ มากกว่าจีดีพีต่อหัวประชากรของทั้งอินโดนีเซียและของฟิลิปปินส์รวมกันด้วยซ้ำไป

ขยับใกล้เข้ามา นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา ในขณะที่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายขยับพุ่งไปข้างหน้า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยกลับชะลอลง อยู่ที่ระหว่าง 0 เปอร์เซ็นต์จนถึง 3.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ตัวเลขล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อนับถึงเดือนกันยายน จีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในรอบ 4 ปี

 

กระนั้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การเติบโตเร็วที่สุดในรอบหลายปีของไทยกลายเป็นเรื่อง “จิ๊บๆ” ไปเลย เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เวียดนามขยายตัวสูงถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์ขยายตัวอยู่ที่ 6.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าใดนัก ก็ยังขยายตัวสูงกว่าไทย ที่ 5.06 เปอร์เซ็นต์

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เอาไว้ว่า ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า (นับจากปี 2017) จีดีพีต่อหัวประชากรของไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,560 ดอลลาร์ ซึ่งจะยังคงเป็นระดับที่สูงที่สุดในภูมิภาค แต่ไม่ได้ห่างมากมายเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว เพราะถึงตอนนั้น อินโดนีเซียจะขยับตามมาไม่ห่าง ที่ 5,660 ดอลลาร์ ส่วนฟิลิปปินส์ 4,630 ดอลลาร์ และเวียดนาม 3,330 ดอลลาร์

มูรายามะแจกแจงข้อบกพร่องของไทยเอาไว้ว่าทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะเราไม่สามารถพัฒนา “อุตสาหกรรมหลัก” ใหม่ๆ ขึ้นมาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลกระทบต่อ “การลงทุน” ไม่ใช่น้อยๆ

 

ผู้เขียนเล่าเอาไว้ว่า เมื่อตอนต้นทศวรรษ 2000 เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ดูแลให้ความช่วยเหลือบรรดาบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งหลายที่มาลงทุนในไทย บอกเอาไว้ว่า ความทะเยอทะยานของประเทศไทยดูเหมือนจะหดหายไป

“พวกเขาดูเหมือนจะพอใจแล้วกับการเติบโตในอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่สนใจในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”

ตัวอย่างที่เห็นในทางตรงกันข้าม เวียดนามกลับให้ความสนใจส่งเสริมหลากหลายอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ถึงขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ที่นั่นยังไม่ประสบผลสำเร็จในระดับเดียวกับไทย แต่สามารถดึงเอายักษ์ใหญ่ในแวดวงสมาร์ตโฟนระดับโลกอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ไปปักหลักใช้ที่นั่นเป็นฐานการผลิตได้สำเร็จ

ส่งผลให้สามารถพยายามพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็น “อิเล็กทรอนิกส์ ฮับ” ของภูมิภาคอยู่ในเวลานี้ได้

 

ในเวลาเดียวกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3 ล้านคน เป็นประมาณ 69 ล้านคน จากการประเมินของสหประชาชาติ และแนวโน้มนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะใกล้ๆ นี้

ผลก็คือตลาดแรงงานที่เคยทำให้หลายอุตสาหกรรมได้เปรียบคู่แข่งหดเล็กลง แรงงานมีทักษะยิ่งนานยิ่งน้อย ธุรกิจต่างชาติต้องระดมแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า กัมพูชา และลาว แต่เมื่อรวมประชากรทั้ง 4 ประเทศแล้วก็มีเพียงราว 140 ล้านคนเท่านั้น

อินโดนีเซียได้รับการคาดหมายว่าจะมีประชากรถึง 300 ล้านคนในทศวรรษ 2030 จากจำนวนปัจจุบันที่ 264 ล้านคน เวียดนามกับฟิลิปปินส์ก็ได้รับการคาดหมายว่าประชากรจะขยายตัวสูงเช่นกัน

นั่นหมายความว่า ไทยจะถูกจำกัด ทั้งในแง่ของ (แรงงานใน) การผลิต และในแง่ของการบริโภค มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น

มูรายามะบอกว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในปี 2022 ที่จะถึงนี้ ฟิลิปปินส์จะแซงไทยขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของอาเซียนต่อจากอินโดนีเซียครับ!