ในประเทศ : ไม่มี ไม่หนี และไม่จ่าย 522 ล้าน ค่ายึดสนามบิน ชะตากรรม “ขาลง” พธม. สะเทือน “กองหนุน” คสช.

วลีเด็ด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ของ นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจเหยื่อฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

ถูกนำมาเป็นแนวทางของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อต้องเผชิญสภาวะ “ขาลง” เต็มรูปแบบ

จากกรณีสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 มีหนังสือแจ้งชำระหนี้ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ถึง 13 แกนนำ พธม.

ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ นายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี, นายนรัญยู หรือนายศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี

ทั้งหมดคือจำเลยคดีแพ่ง ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 กว่า 500 ล้านบาท

หนังสือแจ้งชำระหนี้ดังกล่าว ลงนามโดยอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2560 เนื้อหาสรุปว่า

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ได้รับสำเนาหมายการบังคับคดีจาก ทอท. มาดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี

จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 แจ้งให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่ให้จำเลยทั้ง 13 คน ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ให้แก่ ทอท.

มิเช่นนั้นโจทก์จะนำพนักงานบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 13 คนขายทอดตลาด

เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

 

มูลเหตุคดีเกิดขึ้นระหว่าง 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 พวกจำเลย ร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน

บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงขับไล่รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทอท. จึงประกาศหยุดให้บริการสนามบิน

คดีนี้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงินกว่า 522 ล้านบาท

ต่อมา ทอท. โจทก์ขอให้ศาลออกหมายคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ยื่นฎีกาในระยะเวลา

กระทั่ง 13 แกนนำ พธม. ยื่นคำขออนุญาตขยายฎีกา อ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ยกคำร้องเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว

ทนายความผู้รับมอบอำนาจของ 13 แกนนำ พธม. จึงยื่นฎีกาคำขอขยายเวลาฎีกานี้ต่อศาลฎีกาอีกครั้ง

21 กันยายน 2560 ศาลฎีกายกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลย ผลแห่งคดีแพ่งนี้จึงถึงที่สุด ให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ย

มีการคิดคำนวณตัวเลขเงินที่ทั้ง 13 คน ต้องชดใช้ 522,160,947.31 บาท เท่ากับตกคนละประมาณ 40,166,226 บาท รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็น 744 ล้าน

เฉลี่ยตกคนละเกือบ 60 ล้านบาท

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ พธม. ชี้แจงว่า ขั้นตอนนี้เป็นของฝ่ายอัยการที่ได้มอบอำนาจจาก ทอท. เจ้าหนี้ ดำเนินการติดตามการบังคับคดี

ฝ่ายจำเลยไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น ตามขั้นตอนจำเลยลูกหนี้คงไม่ต้องแจ้งอะไร เพราะไม่มีทรัพย์สินมาชำระได้

จากนี้ฝ่ายโจทก์เจ้าหนี้จะติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแต่ละรายว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอชำระหนี้หรือไม่อย่างไร หากมีทรัพย์สินที่มีมูลค่านำมาขายทอดตลาดได้ ก็จะยึดอายัดมาประกาศขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

การติดตามหาทรัพย์สินมาบังคับคดีมีเวลา 10 ปี

ระหว่างนี้ถ้าการตรวจสอบชัดเจนว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าจะนำมาขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

ตกเป็นบุคคลล้มละลาย

ระหว่างขั้นตอนเหล่านี้จำเลยทำได้เพียงว่าหากมีการบังคับคดีไม่ชอบ จึงจะยื่นคัดค้านได้

 

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวยอมรับตรงไปตรงมาว่า ไม่รู้จะเอาทรัพย์สินที่ไหนมาให้ยึด พร้อมยืนยันการชุมนุมของ พธม. ได้ผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศและคนไทย

“แม้จะโดนหลายคดีแต่ไม่เคยเสียใจ ได้ทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนใครจะนำไปใช้เป็นโอกาสของฝ่ายใดแล้วแต่ประชาชนมอง ไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องระดมทุนช่วยเหลือ เพราะคนอื่นไม่ควรเดือดร้อนไปด้วย” แกนนำ พธม. ระบุ

นายศิริชัย ไม้งาม หนึ่งในจำเลยกล่าวว่า 13 แกนนำพูดคุยกันนานแล้วว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ยืนยันการชุมนุมครั้งนั้น พธม. ไม่ได้ยึดหรือปิดสนามบิน แต่ ทอท. สั่งปิดสนามบินเอง

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานเครือข่าย พธม. โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2560 หลังศาลฎีกายกคำร้องขอขยายเวลาชดใช้ค่าเสียหายให้ ทอท.

ย้ำจุดยืนน้อมรับคำพิพากษา และพร้อมรับผลที่จะเกิดทุกอย่าง

เช่นเดียวกับแกนนำคนอื่นๆ นายสุริยะใส ยืนยันสิ่งที่ พธม. กระทำลงไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือเพราะแรงจูงใจแห่งผลประโยชน์ส่วนตน

 

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า เฟซบุ๊กของระดับ “กุนซือ” ฝ่าย พธม. โพสต์ข้อความระบุถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ กปปส. เหลือง แดง โดนคดีกันถ้วนหน้า

ถึงเวลา “เลิกแบ่งสีแบ่งพวก”

วิเคราะห์ด้วยว่า การสมนาคุณคดีสารพัดแก่ พธม. และ กปปส. จะทำให้ “กองหนุน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่อนกำลังลง มวลชน 2 กลุ่มที่มีอยู่ 11 ล้านคน อาจหันไปเทให้พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงถูกดำเนินคดีสารพัด จะทำให้กระแสต้าน “นายกฯ คนนอก” แรงขึ้น

เมื่อถึงวันเลือกตั้งจึงขึ้นอยู่กับ “กองหนุน” ว่าจะกลับมาหนุนหรือไม่ ซึ่งดูแล้วคงยาก

พรรคประชารัฐหากตั้งขึ้นมาก็จำเป็นต้องรวบรวบเสียงในสภาให้ได้เกิน 250 เสียง แข่งกับนักการเมืองและพรรคขั้วตรงข้ามที่มีเป้าหมายเดียวกัน

ทั้งหมดอาจส่งผลให้ใครบางคนไปไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงแม้คิดว่าได้วางค่ายกลไว้ในรัฐธรรมนูญดีแล้วก็ตาม

“ขาลง” ของ พธม. จะมีผลเป็น “ขาลง” ของรัฐบาล คสช. ด้วยหรือไม่

จึงเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง