โลกหมุนเร็ว/อัตลักษณ์ บ้านรักไทย

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

อัตลักษณ์ บ้านรักไทย

หลายคนบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ของแท้ มันทำขึ้นมาเพื่อนักท่องเที่ยว

แต่ขอบเขตของการ “ทำขึ้น” หรือ “ของแท้” อยู่ตรงไหน

บ้านรักไทย ซึ่งตั้งอยู่ชายเขตแดนไทยพม่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้ามเขาที่เห็นอยู่ไม่ไกลจากที่พักคือฝั่งพม่า เป็นที่อากาศหนาวเย็นตลอดปี

และนี่คือจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่ บวกกับภาพที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เป็นรูปบ้านพักอยู่บนเนินไร่ชา มองลงมาเห็นทะเลสาบ สุดแสนโรแมนติก ทำให้นักท่องเที่ยวที่ชอบอากาศหนาวยินดีสู้กับระยะทางไกลผ่านโค้งวกวนนับได้ 2,000 โค้ง จากจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปจนถึงที่นี่

ถ้าหากรถดี คนขับรถมีฝีมือ มีเพื่อนหรือครอบครัวที่รู้ใจ พูดคุยสนุกสนาน ว่าอะไรว่าตามกัน คุณเองก็สามารถไปถึงบ้านรักไทยได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด

สิ่งที่เราเห็นตรงหน้าคือหมู่บ้านที่อยู่ล้อมรอบทะเลสาบไม่ใหญ่นัก มีถนนรอบทะเลสาบให้สามารถเดินเล่นได้ครบรอบแบบไม่เหนื่อย หมู่บ้านอยู่รอบถนนนี้ บนเนินลดหลั่นกันไป ภายในหนึ่งวันเราสามารถเดินชมหมู่บ้านได้หมด เงาของสิ่งที่อยู่รอบทะเลสาบสะท้อนอยู่ในน้ำที่นิ่งสนิทสะอาด เป็นภาพที่สะกดสายตา

ผืนน้ำทำให้ภาพของหมู่บ้านมีมุมมองที่สวยงาม

ผู้คนที่นี่คือคนไทยที่อยู่ตะเข็บชายแดน และเคยมีชีวิตล่อแหลมอยู่กับความขัดแย้งระหว่างพรมแดน “อาเจียง” เจ้าของรีสอร์ตที่เราไปพักบอกว่าที่นี่เดิมชื่อบ้านแม่ออน…ในอดีตก็มีฝั่งหลังเขาโน้น (พม่า) ยิงปืนมาฝั่งนี้ ทางการไทยจึงตั้งชื่อว่าบ้านรักไทย

และเราจะเห็นร่องรอยของความเป็นหมู่บ้านที่ “รักไทย” ด้วยป้ายประกาศของทางการหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งธงไทย 2 ธงที่ปักอยู่เหนือระเบียงบ้านโฮมสเตย์ที่เราไปพัก

การบริหารจัดการที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตวิทยาของทางการไทยทำให้เราไม่ต้องเห็นภาพทหารยืนถือปืนปกป้องดินแดน หรือปืนใหญ่ตามถนน หรือรถจี๊ปตรวจการณ์เหมือนที่เราเคยเห็นที่แคชเมียร์ซึ่งเป็นดินแดนทีมีความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน

ที่ได้รับการวิจารณ์ว่า “จัดตั้ง” ก็เห็นจะเป็นจากรีสอร์ตและโฮมสเตย์ที่ผุดขึ้นมา และร้านค้ารายเรียง ขายของคล้ายๆ กันหมด เรียกได้ว่าเป็น “การค้า” เสียทั้งนั้น

ด้วยความที่เป็นรีสอร์ตและโฮมสเตย์ที่ลงทุนและบริหารโดยคนพื้นถิ่น พวกเขาพยายามให้ความสะดวกแก่ผู้มาพักมากที่สุดตามอัตภาพและประสบการณ์ที่มี ดังเช่นรีสอร์ตที่เราไปพัก

ที่นี่มีน้ำร้อนในห้องน้ำ โดยใช้ก๊าซ มีไวไฟ (วิ่งเร็วจี๋) มีร้านกาแฟ มีอาหารเครื่องดื่มบริการ มีที่รับประทานอาหารรวม เป็นต้น

รีสอร์ตที่เราไปพักนี้มีกลิ่นอายคล้ายๆ กับที่พักที่กลุ่มของเราเคยไปมาที่ลี่เจียง คือมีลานกลางบ้านไว้สังสรรค์กัน ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช้าตื่นขึ้นมาก็มารวมกันที่ลาน สั่งชากาแฟและอาหารเช้าจากครัวที่อยู่ระดับต่ำลงไปจาก “อาเจียง” เจ้าของรีสอร์ตที่ทำทุกอย่างคนเดียว แบบเราต้องชื่นชม

เริ่มจากเมื่อเราไปถึง อาเจียงในวัย 35 ยกกระเป๋าขนาดกลางของเราทุกคนทั้งหมด 8 ใบขึ้นบันไดวนไปไว้หน้าห้องชั้น 2 เธอแข็งแรงและยิ้มแย้มมาก

อาเจียงทำทุกอย่างสบายๆ ไม่เครียด ไม่รีบร้อน ทำไปคุยไป

จากนั้นเราก็ออกไปเดินเล่นกัน

ผู้คนที่นี่รักที่จะปลูกดอกไม้ เราเห็นดอกไม้เมืองหนาวปลูกอยู่หน้าบ้าน หลังบ้าน หลายชนิดบานแข็งแรงกว่าดอกไม้บนดอยอินทนนท์ เช่น กุหลาบพันปี

ถนนหนทางสะอาด หน้าบ้านสะอาด มองไม่เห็นขยะมูลฝอยอยู่ที่มุมไหน

ที่สำคัญอากาศสะอาดสดชื่น ไร้มลพิษ

การสัมผัสแต่สถานที่โดยไม่สัมผัสผู้คนดูจะไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อเริ่มต้นคุยกับอาเจียง เราก็ได้ภาพจำลองของคนที่นี่

อาเจียงบอกว่ามีลูก 2 คน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง กำลังอยู่ในวัยศึกษาและเริ่มทำงาน ส่วนสามีเข้าไปทำธุรกิจเปิดร้านขายของในเมือง

“โชคดี ลูกเรียนเก่งทั้งสองคน” อาเจียงเล่า เมื่อเร็วๆ นี้ลูกสาวได้ทุนไปโครงการแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ตอนแรกก็บอกลูกว่าอย่าไปเลย เพราะต้องออกค่าเครื่องบินเอง แต่ลูกอยากไป จึงเขียนจดหมายถึงครูบอกเหตุผล ในที่สุดครูก็หาทุนให้ ได้ไปญี่ปุ่น

ส่วนลูกชายเรียนวิศวะ จบแล้วอาเจียงบอกว่าให้ไปหาประสบการณ์ที่พัทยา ไปสองปีก็กลับมาเปิดรีสอร์ตที่บ้านเกิด เริ่มตั้งแต่หาวัสดุมาออกแบบก่อสร้างรีสอร์ตแห่งนี้ร่วมกับแม่ เป็นที่มาของรีสอร์ตที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใครที่ทำจากวัสดุเก่าใหม่ปะปนกัน เรียกได้ว่าเอาความรู้จากการเรียนวิศวะมาสร้างรีสอร์ต และเอาประสบการณ์จากการทำงาน hospitality มาบริหารกิจการรีสอร์ต

นอกจากให้บริการที่พัก อาเจียงยังบริการอาหารทุกมื้อ ด้วยฝีมือดีของเธอ และราคาที่พอเหมาะ

เธอเล่าด้วยความภูมิใจว่า ลูกค้าบอกว่า “อาหารที่นี่อร่อยกว่าที่ภัตตาคารอีก”

เรารู้สึกได้ถึงความสุข สนุกกับงาน และความมั่นคงที่เปล่งออกมาจากบุคลิกและคำพูดของอาเจียง

เธอบอกว่าอีกหน่อยก็จะเกษียณและท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย อนาคตของอาเจียงชัดเจนจากรากฐานที่ร่วมกันสร้างในครอบครัว

เดินไปจากบ้านอาเจียงก็เห็นรีสอร์ตอื่นๆ ที่มีบุคลิกต่างกันไป บ้างก็เป็นบ้านดินที่ปลูกดอกไม้รายรอบ ได้ภูมิลำเนาดีบริเวณริมน้ำ ก็สร้างศาลาริมน้ำให้นั่งพักเล่น

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเศรษฐกิจของบ้านรักไทยอยู่ในมือคนในบ้านรักไทย ที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีโรงแรมสามดาวสี่ดาว ที่พักที่สบายพอตามอัตภาพก็พอแล้วที่จะดึงดูดให้คนมาบริโภค “อากาศ” ที่บ้านรักไทย และมาสร้างมิตรภาพกับคนที่นี่

ที่นี่คือตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็ง เติบโตช้าๆ โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่มีใครข้างนอกมาตักตวงทรัพยากรของพวกเขา

คงเป็นเพราะตัวตนที่แข็งแกร่ง เข้าใจตัวเองและโลกภายนอก

ส่วนคำถามในใจที่ว่าแล้วคนเชียงใหม่ อยุธยา หรือคีรีวง จะรักษาทรัพยากรและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้เหมือนคนที่นี่หรือไม่ คงต้องทิ้งไว้ให้นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา เป็นผู้ให้คำตอบ