เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (11)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
ที่มาภาพ : เคล็ดไทย,สกว.

ต้นฉบับชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงส์ : จากล้านนาสู่อยุธยาและรัตนโกสินทร์ (1)

เนื่องในวาระที่ครบรอบ 500 ปี แห่งการประพันธ์วรรณคดีศาสนาชิ้นเยี่ยมเรื่อง “ชินกาลมาลีปกรณ์” (อายุเท่ากันพอดีกับเวสสันตรทีปนี ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว และโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนถัดไป)

คณะผู้จัดงาน “ล้านนาศึกษา” เห็นสมควรเชิญ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล ผู้เชี่ยวชาญในด้านการศึกษาต้นฉบับของชินกาลมาลีปกรณ์เป็นการเฉพาะ

มาเป็นวิทยากรนำเสนองานวิจัย โดยขอพ่วง “จามเทวีวงส์” วรรณคดีชิ้นสำคัญอีกเล่มเข้ามาร่วมเปรียบเทียบด้วย

 

ชินกาลมาลินี vs ชินกาลมาลีปกรณ์

ระหว่างคำสองคำนี้ คำไหนคือคำที่ถูกต้อง เพราะในอดีตเราเคยได้ยินทั้งสองชื่อ แต่ยุคต่อมาดูเหมือนว่าชื่อแรกค่อยๆ เลือนหายไป ซ้ำยังมีบางท่านกล่าวว่า ต้องเรียกว่า ชินกาลมาลีปกรณ์เท่านั้น เพราะชินกาลมาลินี เป็นชื่อเรียกที่ผิด

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อธิบายว่า เขาพอใจที่จะเรียกว่า “ชินกาลมาลินี” มากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ชื่อของคัมภีร์อรรถกถาตั้งแต่อดีตเรื่อยมา มักใช้วิธีลงท้ายด้วย Suffic “อินี” ทั้งสิ้น อันหมายถึงการร้อยกรอง อาทิ สุมังคลวิลาสินี สารัตถปกาสินี สุทธชนะวิลาสินี อรรถสาลินี เป็นต้น

ส่วนการแปลมาเป็นภาษาไทย ครั้งแรกโดยพระพิมลธรรมและคณะที่ช่วยกันหลายท่าน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เคยใช้ชื่อว่า “ชินกาลมาลินี” แต่การแปลครั้งหลังโดย อาจารย์แสง มนวิทูร ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ใช้ชื่อ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ซึ่งคนทั่วไปคุ้นชินกับสำนวนนี้

ในที่นี้ ดร.อนันต์ ขอใช้คำว่า “ชินกาลมาลินี” เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักภาษาศาสตร์ตามรูปแบบคัมภีร์ดั้งเดิม

 

ต้นฉบับคัมภีร์ “ชินกาลมาลินี”

ชินกาลมาลินีแต่งโดย พระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวล้านนา เขียนลงท้ายคัมภีร์ใบลานว่าแต่งเมื่อปี พ.ศ.2060 แต่อันที่จริงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ พบว่าเรื่องราวจบในปี 2071

ต้นฉบับชินกาลมาลินีเท่าที่เราพบในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 ฉบับ ดังนี้

ฉบับที่ 1 เป็นใบลานที่สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุด เรียกว่า “ใบลานเดิม” อาจารย์แสง มนวิทูร สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา (ตั้งแต่หลังสมเด็จพระนารายณ์ลงมา) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี มีผูก 1-2, 4-5 ไม่มีผูก 3

ฉบับที่ 2 ใบลาน “ฉบับครูเดิม” เดิมทีอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง ตอนที่อาจารย์แสง แปลต้นฉบับแรก (ใบลานเดิม) แล้วเกิดความสงสัยข้อความบางประการ ได้ไปขอตรวจสอบข้อความกับฉบับครูเดิม จึงได้นำใบลานฉบับนี้ออกมาจากพระบรมมหาราชวัง ทุกวันนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

ฉบับที่ 3 ใบลาน “ฉบับทองใหญ่” อยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรมเช่นเดียวกัน

ฉบับที่ 4 ใบลาน “ฉบับรองทรง” เป็นฉบับที่คัดลอกสำเนาจากฉบับทองใหญ่ ไปเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

ฉบับที่ 5-7 ใบลาน “ฉบับล่องชาด” “ฉบับรดน้ำดำโท” (จารสมัยรัชกาลที่ 3) และ “ฉบับทองน้อย” (เหลือแต่ผูก 3) ทั้งสามฉบับอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม

ฉบับที่ 8-10 จะเป็นใบลานฉบับซ้ำจึงมีหมายเลขใส่ตามหลังว่า “ฉบับรดน้ำดำโท 2” “ฉบับล่องชาด 2” “ฉบับล่องชาด 3”

ฉบับที่ 11 เรียกว่า “ฉบับภาษามอญ” สันนิษฐานว่าสร้างปี 2321 สมัยกรุงธนบุรี เป็นฉบับที่สมบูรณ์เพราะมีครบผูก 1-6

รวมแล้วมีทั้งสิ้น 11 ฉบับด้วยกัน ฉบับที่ 1-10 เขียนด้วยตัวอักษรขอม ในส่วนนี้ ดร.อนันต์ ได้ตั้งคำถามชวนชี้ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาขบคิดร่วมกันอยู่หลายประเด็น อาทิ

ประเด็นแรก ทำไมจึงไม่มีการพบต้นฉบับชินกาลมาลินีด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนาเลย ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ หรือในเมืองเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่เป็นคัมภีร์ที่แต่งโดยพระภิกษุชาวล้านนา ต้นฉบับดั้งเดิมที่เขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนาสูญหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร

ประเด็นที่สอง การนำคัมภีร์ของล้านนาเข้าสู่อาณาจักรอยุธยา ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ว่าเข้ามาได้อย่างไร โดยใคร ในรัชสมัยใด แต่โชคดีที่มีการนำเข้ามา เพราะทำให้เกิดการสืบทอดต่อมาจนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งเมื่อมีการแปลเป็นภาษาไทย ทำให้ชาวล้านนาได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ล้านนาฝ่านชินกาลมาลินีอีกครั้ง

ประเด็นที่สาม มีข้อสังเกตว่า คัมภีร์ทุกฉบับล้วนเป็นฉบับหลวงทั้งสิ้น ไม่ใช่ฉบับราษฎร์ ไม่มีการคัดลอกไปเก็บไว้ที่วัดใดๆ เลย สถานที่พบมีเพียงแค่ หอพระมณเฑียรธรรม และหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรมศิลปากร เท่านั้น ราวกับว่า ผู้ครอบครองคือฝ่ายอาณาจักร หาใช่ฝ่ายศาสนจักร

ซึ่งการตั้งข้อสังเกตทั้งสามประเด็นนี้ ในตอนท้าย ดร.อนันต์ จะได้ทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาต้นฉบับจามเทวีวงส์ ควบคู่ไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

 

จามเทวีวังสะ vs หริภุญเชยยะนิเทศะ

จามเทวีวงส์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเรียก 2 ชื่อ แต่เป็นชื่อที่แตกต่างกันไปเลย ไม่ใช่ชื่อที่เป็น Variation เหมือน ชินกาลมาลินี-ชินกาลมาลีปกรณ์

ชื่อที่เราคุ้นเคยกว่าคือ “จามเทวีวังสะ” แต่ชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์จริงๆ นั้นคือ “หริภุญเชยยะนิเทศะ” (เชยยะ ภาษาสันสกฤต = ไชย)

ที่ทราบเช่นนี้ เพราะในทุกๆ ท้ายตอนของแต่ละกัณฑ์ จะจบลงด้วยคำว่า “หริภุญเชยยะนิเทศะ” เสมอ เว้นแต่ปกใบลานจุดเดียวที่เขียนว่า “จามเทวีวังสะ”

ดร.อนันต์ เชื่อว่าคำว่า จามเทวีวงส์ (บางท่านเขียน “วงศ์”) เป็นชื่อที่มาเรียกกันในสมัยหลัง หรืออาจเป็นไปได้ว่า เป็นการนำคำเรียกนี้มาจากวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นเมืองของคนในท้องถิ่น แล้วจึงนำมาเขียนทับที่ปกใบลาน

ไม่มีการระบุศักราชที่แต่งจามเทวีวงส์ บอกแต่เพียงว่าผู้แต่งคือ พระโพธิรังสี แล้วพระโพธิรังสีคือใคร เมื่อเทียบกับพระรัตนปัญญาเถระ มีอายุร่วมสมัยกันหรือไม่

 

จามเทวีวงส์เก่ากว่าชินกาลมาลินี
และปมปริศนา “มหาจารึก”?

การที่จามเทวีวงส์ระบุว่า คัดลอกต้นฉบับมาจาก “มหาจารึก” นี้ มีผู้สงสัยมากว่า “มหาจารึก” หมายถึงอะไร

ดร.อนันต์ อธิบายว่า ภาษาบาลีในจามเทวีวงส์ไม่ประณีตเท่าภาษาบาลีในชินกาลมาลินี หรือยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับภาษาบาลีอันวิจิตรของพระสิริมังคลาจารย์ ยิ่งพบจุดอ่อนของภาษาบาลีในจามเทวีวงส์อย่างมาก

ปกติแล้วโครงสร้างภาษาบาลีต้องเป็นแบบ S.O.V. (subject, object, verb – ประธาน กรรม กริยา) แต่ภาษาบาลีของพระโพธิรังสีเป็นการวางโครงสร้างตามอย่างภาษาไทยคือ S.V.O. (ประธาน กริยา กรรม) และวางคำวิเศษณ์กับคำคุณศัพท์ ไว้หลังคำนามกับคำกริยา ตามแบบไวยากรณ์ไทย ไม่ได้วางข้างหน้าแบบภาษาบาลี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบว่ามีคำศัพท์หลายคำที่ถูกเปลี่ยนจากภาษาไทยไปเป็นภาษาบาลีแบบดื้อๆ โดยไม่ได้แปลคำนั้นไปเป็นศัพท์ภาษาบาลีเสียก่อน เมื่ออ่านตลอดทั้งเล่มแล้ว ได้เห็นโครงสร้างของภาษาไทยที่ชัดเจนมาก เป็นการเขียนภาษาบาลีปะปนกับภาษาไทย ศัพท์ทางวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Linquistic Interferance ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะไม่พบในงานเขียนของพระสิริมังคลาจารย์ และไม่พบในชินกาลมาลินีของพระรัตนปัญญาเถระ

อนึ่ง ในชินกาลมาลินี มีการอ้างถึงพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่เดินทางไปลังกา พร้อมกับคณะอีก 20 กว่ารูป แล้วกลับมาล้านนาในรัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน ทำให้ต่อมาเกิดการรจนา “สิหิงคนิทาน” (ว่าด้วยตำนานพระพุทธสิหิงค์) ซึ่งเราทราบกันดีว่า ผู้รจนาสิหิงคนิทานคือ พระโพธิรังสี

จากจุดนี้เอง ทำให้ ดร.อนันต์ ค้นพบว่า จามเทวีวงส์ เป็นงานวรรณกรรมภาษาบาลีชิ้นแรกๆ ของอาณาจักรล้านนา โดยพระโพธิรังสีจะต้องเป็นพระมหาเถระที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 8 (ครองราชย์ระหว่าง 1945-1984)

ในขณะที่พระรัตนปัญญาเถระ ผู้แต่งชินกาลมาลินี อยู่ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 (ครองราชย์ระหว่าง 2038-2068) กล่าวโดยสรุปคือ พระมหาเถระทั้งสองรูปมีอายุห่างกันราว 70-80 ปี โดยประมาณ

ตอนท้ายคัมภีร์จามเทวีวังสะ การที่พระโพธิรังสีบันทึกว่า ได้แต่งตาม “โบราณมหาจาริกา” คำคำนี้อาจไม่ได้แปลตามที่ผู้คนทั้งหลายเข้าใจสืบต่อกันมาว่าน่าจะเคยมีการค้นพบข้อมูลจาก “มหาจารึก” หรือศิลาจารึกแท่งใหญ่สมัยหริภุญไชยมาก่อน แล้วจึงนำมาเขียน

เนื่องจากในบทเกริ่นนำของจามเทวีวังสะ พระโพธิรังสีได้กล่าวย้ำว่า เรื่องราวของพระนางจามเทวีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตรีย์หรือคนชั้นสูง ไม่เหมาะสมที่จะใช้รูปแบบคำประพันธ์ด้วยภาษาไทย จำเป็นต้องใช้ภาษาบาลี

แสดงว่าอย่างน้อยที่สุด ก่อนยุคพระโพธิรังสีต้องมีการเขียนจามเทวีวังสะในเวอร์ชั่นที่เก่าแก่มาแล้ว และต้องเป็นที่รับรู้ของคนล้านนาในยุคนั้นมาก่อน

มหาจาริกา ที่เคยเชื่อกันว่าน่าจะมี “ศิลาจารึกแท่งใหญ่” (สมัยหริภุญไชย) ซึ่งไม่เคยมีใครพบหลักฐานจารึกนั้น ควรต้องมีการทบทวนตีความกันใหม่ว่า มหาจาริกา ควรหมายถึงอะไรกันแน่

 

ทำไมจามเทวีวงส์
มีต้นฉบับอักษรธัมม์ล้านนา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าชินกาลมาลินีไม่พบต้นฉบับอักษรธัมม์ล้านนา แต่ใบลานของจามเทวีวงส์ กลับมีทั้งอักษรขอม อักษรมอญ และอักษรธัมม์ล้านนา

เฉพาะอักษรขอมมี 10 ฉบับ 2 ฉบับแรกเก็บรักษาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม ที่เหลืออยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ดังนี้

1.ฉบับครูเดิม 2.ฉบับทองใหญ่ 3.ฉบับรดน้ำแดง (สร้างสมัยรัชกาลที่ 2) 4.ฉบับล่องชาด 1 (เลขรหัส 2598 เป็นฉบับสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยไขปริศนาว่าฉบับอักษรธัมม์ล้านนาอีก 3 ฉบับมาจากไหน) 5.ฉบับทองทึบ 1 6.ฉบับล่องชาด 2 7-10.ฉบับทองทึบ 2/3/4/5

อักษรมอญมี 1 ฉบับ อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ แต่มีฉบับนี้ก็เหมือนไม่มี เพราะปกหน้าเขียนเป็นภาษามอญว่า จามเทวีวังสะ ครั้นเปิดเนื้อในกลับไม่ใช่ กลายเป็นเรื่องอื่นไปเสีย

ที่น่าสนใจคือ การพบคัมภีร์ใบลานจามเทวีวังสะในเวอร์ชันล้านนา เขียนด้วยอักษรธัมม์ พบอยู่ 3 ฉบับ คือ 1.ฉบับวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ ระบุ พ.ศ. ที่คัดลอก 2376 2.ฉบับวัดสูงเม่นอีกฉบับ พ.ศ.2385 และ 3.ฉบับวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน พ.ศ.2412

คัมภีร์อักษรธัมม์ล้านนาสามฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับฉบับอักษรขอม จะเฉลยให้ทราบตอนหน้า รวมทั้งประเด็นที่ว่าด้วย การนำคัมภีร์ใบลานจากล้านนาไปกรุงศรีอยุธยา นำไปด้วยเหตุผลใด

หรือว่า การเมืองอาจมีพรมแดน แต่ศาสนานั้นไร้พรมแดน?