สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (10) มหาวิทยาลัยแห่งบางขวาง

ย้อนอ่าน  41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว  (9)   (8)

“คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ [ฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์] แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”

กิตติวุฑโฒภิกขุ

29 มิถุนายน 2519

ชีวิตที่กองปราบฯ สามยอดซึ่งเป็นที่คุมขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการสอบสวนพวกเรา ซึ่งก็คงเป็นความพยายามในการรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อผู้นำนักศึกษา

เราไม่ค่อยได้รับรู้ถึงสถานการณ์ภายนอกมากนัก แต่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว

และก็อดเป็นห่วงถึงชะตากรรมของผู้ร่วมชุมนุมและเพื่อนๆ หลายคนไม่ได้ เรามารู้ในภายหลังว่าการสลายการชุมนุมวันนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและความโหดร้าย

ซึ่งโดยภาษาแล้วก็คงต้องเรียกปฏิบัติการในวันนั้นว่าเป็น “การใช้กำลังแบบฝ่ายเดียว” (unilateral action) ซึ่งในสภาพเช่นนี้ฝ่ายถูกกระทำย่อมเป็นฝ่ายสูญเสียขนาดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจนถึงปัจจุบันข้อมูลการสูญเสียในวันนั้นก็ถูกเปิดเผยมากขึ้น

คงต้องยอมรับว่าเป็น “การสังหารหมู่” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ข้อหาครอบจักรวาล

ข้อหาชุดแรกที่พวกเราได้รับก็คือ ความผิดในคดีหมิ่นฯ (ม.112) และต่อมาก็มีการตั้งข้อหาเพิ่มอีก 9 ข้อหา ได้แก่

1) ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น

2) ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่

3) สะสมกำลังเพื่อเป็นกบฏ

4) กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

5) มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปและใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่

6) ซ่องโจร

7) ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่

8) มีอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง

9) ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ เห็นบัญชีคดีทั้งหมดแล้ว รู้สึกว่าพวกเขากลัวพวกเรามากกว่าที่คิด

หากรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่ามี 10 ข้อหาที่ “ครอบจักรวาล” เช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้มีอำนาจต้องการจับกุมคุมขังพวกเราแบบ “ยาวนาน” อย่างแน่นอน

จนนึกไม่ออกว่า ถ้าตัดสินพวกเราผิดทุกคดีแล้ว ระยะเวลาของการถูกจองจำจะยาวนานเพียงใด

เราล้อกันเล่นๆ ในขณะนั้นว่าคงได้ตายแล้วเกิดใหม่มาติดคุกกันต่ออีก เพราะข้อหาอุกฉกรรจ์เช่นนี้ล้วนแต่เป็นคดีที่ติดคุกนานแน่ๆ หรือหากพิจารณาจากข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นก็คือพวกเราเป็น “นักโทษอุกฉกรรจ์” ไปแล้ว

เราถูกขังอยู่ที่กองปราบฯ 7 วัน จนครบระยะเวลาของการฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องมีการนำเอาพวกเราไปฝากขังต่อที่ศาลอาญาและย้ายที่คุมขัง

การมาถึงศาลอาญาที่สนามหลวงครั้งนี้เป็นความรู้สึก “หดหู่” อย่างมาก เพราะพวกเราพอได้รับรู้บ้างแล้วว่าเกิดความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมที่บริเวณนี้และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้นรถนำผู้ต้องขังอย่างพวกเราพร้อมกับขบวนคุ้มกันชุดใหญ่ จนพวกเราอดแปลกใจไม่ได้ว่าเราเป็น “อาชญากรใหญ่” จริงๆ แล้วหรือ?

ชีวิตในบางขวาง

ในวันที่ 12 ตุลาคม 2519 จากศาลอาญา… รถตำรวจพาเราไปยังสถานที่ที่เราไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าวันหนึ่งจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้

จากสนามหลวง รถพาเรามาที่จังหวัดนนทบุรี และหยุดที่ “เรือนจำกลางบางขวาง”…

เราได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเสื้อผ้าและเอาของทุกอย่างออกจากตัว เสื้อผ้าชุดใหม่ที่นับจากนี้เราจะต้องใช้เป็นเครื่องแบบเป็นชุดสีน้ำตาล มีชื่อเรียกอย่างน่ารักว่า “ชุดลูกวัว”…

จากนิสิตนักศึกษา พวกเรากลายเป็น “ผู้ต้องขังชาย” อย่างสมบูรณ์แล้ว และมีคำนำหน้าชื่อว่า “ผช.”

หลังจากนั้น พวกเราทั้งหมดจึงถูกนำตัวไป “ตีตรวน” คือเป็นการเอาโซ่มาผูกขาทั้งสองของเราไว้ ผู้คุมอาจจะกรุณาพวกเราสักหน่อยจึงตีตรวนที่เป็นโซ่ขนาดเล็กซึ่งไม่หนักมาก แต่เมื่อเดินออกมายังศาลากลางของบางขวาง หรือที่เรียกว่า “ศาลานกกระจอก” แล้ว ก็มีเสียงตะโกนเป็นคำสั่งให้เปลี่ยนตรวนเป็นขนาดใหญ่มากขึ้น… ชีวิตพวกเราในบางขวางเริ่มขึ้นจริงๆ แล้ว

การส่งตัวของพวกเราเป็นไปอย่างกะทันหัน ทางเรือนจำไม่ได้รับคำสั่งมาก่อนว่าทางรัฐบาลจะเอาพวกเรามาไว้ที่บางขวาง

ทางเรือนจำจึงได้ย้ายนักโทษที่มีอาการทางจิตออก และจัดตั้งสถานที่คุมขังบริเวณนั้นเป็น “แดนพิเศษ” ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใจกลางของบางขวาง

ที่คุมขังนี้เป็นตึก 2 ชั้น และแบ่งเป็น 8 ห้องชั้นบนและ 8 ห้องชั้นล่าง พร้อมกับมีโรงเลี้ยงและเป็นที่พักของผู้คุมอยู่ข้างเคียง

พวกเรา 6 คนมีผู้คุมดูแลเราทั้งหมด 4 คน และนับจากนี้ แดนพิเศษจะเป็นนิวาสสถานของพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ไปอีกนาน

พวกเราเริ่มต้องเรียนรู้กับการใช้ชีวิตในเรือนจำ หนึ่งในสิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การถอดกางเกงให้ผ่านโซ่ที่คล้องอยู่ที่ข้อเท้าของเราออกเพื่ออาบน้ำ และใส่เสื้อผ้ากลับเมื่ออาบน้ำเสร็จ ทางเรือนจำส่งนักโทษมาสอนพวกเรา

และสิ่งสำคัญต่อมาก็คือการหัดรับประทาน “ข้าวแดง” หรือที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “ข้าวคุก” เพราะข้าวเช่นนี้เป็นอาหารที่ทำเลี้ยงนักโทษ แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นอาหารสุขภาพ ตลอดรวมถึงการเข้าห้องน้ำที่เป็นแบบเปิดโล่งทั้งที่อาบน้ำและห้องสุขา

จากนี้ไป ชีวิตพวกเราจะเริ่มถูกตัดออกจากโลกภายนอก แต่ก็อดคิดไม่ได้จากผืนฟ้าที่เราเห็นทุกวันนั้น แม้จะเป็นผืนเดียวกัน แต่กำแพงสูงก็เป็นเครื่องขวางกั้นฟ้าสองส่วนนี้อย่างชัดเจน

หลายครั้งที่ผมเคยคิดว่า ถ้าผมเป็น “นก” แล้วผมจะติดปีกบินข้ามกำแพงออกไป แต่นั่นคือเทวตำนานกรีกที่เป็นความฝันแรกของความอยากบินของมนุษย์

ในระหว่างนี้มีการนำเอาตัวพวกเราไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นรายๆ บนแฟ้มผมมีตัวหนังสือสีแดงเขียนไว้สั้นๆ และง่ายๆ ว่า “ตัวแสบ”…

การถูกปลุกระดมต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนักก่อนการสังหารหมู่ในปี 2519 นั้น ภาพลักษณ์ของพวกเราจึงกลายเป็น “ความน่ากลัว” อย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่

พวกเขาถูกสร้างให้เชื่อว่าศูนย์นิสิตฯ มีกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ และพวกกรรมการศูนย์ผ่านการฝึกหลักสูตรการทหารมาแล้ว

ของจริงคือผมจบ รด. ปี 3 และผ่านแค่สนามฝึกเขาชนไก่ที่กาญจนบุรี ไม่ใช่ในลาวหรือเวียดนามแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ชีวิตนักโทษการเมืองชุดแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างพวกเราเริ่มทำความคุ้นเคยกับชีวิตในแดนพิเศษมากขึ้น จนในวันปิยมหาราชจึงได้มีคำสั่งให้ปลดตรวนพวกเรา

ตอนถอดตรวนออกใหม่ๆ นั้น แทบจะยืนทรงตัวไม่ได้ เพราะจากวันที่ 12 ถึง 23 ตุลาคมนั้น เรามีโซ่ผูกที่ข้อเท้าตลอดเวลา รวมทั้งเวลานอนด้วย เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต

ขณะเดียวกันเราเองก็เริ่มรับทราบถึงชะตากรรมของเพื่อนๆ พวกเราที่เป็นผู้นำนักศึกษา 10 คน ถูกคุมขังที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาล บางเขน และเพื่อนผู้หญิง 2 คนถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงลาดยาว

ขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับในวันนั้นได้รับการประกันตัวออกไป นอกจากนี้ เราเองเริ่มรับทราบมากขึ้นถึงความสูญเสียของเพื่อนที่ธรรมศาสตร์และความโหดร้ายของปฏิบัติการใช้กำลังฝ่ายเดียว

และที่สำคัญสำหรับพวกเราทั้ง 18 คนนั้น ชีวิต “นักโทษการเมือง” ได้เริ่มขึ้นจริงๆ แล้ว

ขยายแนวรบ-ขยายสงคราม

ความพิเศษของแดนพิเศษก็คือ มีแต่เฉพาะพวกเราเท่านั้นที่เป็นผู้ถูกคุมขัง ไม่อนุญาตให้นักโทษจากภายนอกเข้ามาโดยเด็ดขาด

แต่ก็เริ่มมีนักโทษบางคนพยายามส่งข่าวมาให้ในบางโอกาส

ขณะเดียวกันเราเริ่มได้รับอนุญาตให้พบกับญาติๆ ได้ หรือที่วาทกรรมคนคุกเรียกว่า “เยี่ยมญาติ” เสมือนเราไปเยี่ยมญาติที่มาหา ไม่ใช่ญาติมาเยี่ยมเรา…

นอกจากนี้ก็มีเพื่อนมาเยี่ยมด้วย แต่ในระหว่างการพบนั้นจะมีผู้คุมยืนฟังคำสนทนา และต้องเขียนรายงานการสนทนาเช่นนี้ทุกวันส่งขึ้นไปถึงผู้บังคับบัญชา พวกเราจึงรับรู้ถึงความเป็นไปของโลกภายนอกแม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม

และสำหรับบันทึกการสนทนานี้ ผู้คุมเริ่มรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นเรื่องต้องน่าห่วง

ในระยะต่อมาผมจึงเป็นคนเขียนบันทึกนี้ทุกวัน และหัวหน้าแดนหรือรอง เป็นคนลงนามกำกับ กล่าวคือ สุรชาติเป็นผู้เขียนบันทึกทุกวัน

สิ่งที่เราเริ่มรับทราบมากขึ้นก็คือ เพื่อนนักศึกษาหลายคนที่เราสนิทและไม่สนิทก็ตามได้ตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในชนบท

บางคนเราได้ยินชื่อแล้วก็ตกใจเพราะเป็นน้องผู้หญิงที่กล้าตัดสินใจ “เข้าป่า”…

การเข้าป่ากลายเป็นปรากฏการณ์แทบจะปกติ เพราะฉะนั้น มีเพื่อนๆ มาเยี่ยมและคอยส่งข่าวว่า “…ฝากความคิดถึงมา” ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นความคิดถึงจาก “วนาสู่นาคร” หรือเป็นดังสายลมที่เราพอจะสัมผัสได้ด้วยชื่อเรื่องสั้นของ คุณชวน หลีกภัย ในยุคนั้นคือ “เย็นลมป่า” ความคิดถึงที่ฝากมาเป็นดังสายลมเย็นจากแนวชายป่าจริงๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ความมั่นคงไทยหลังเหตุการณ์ล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็คือ สงครามคอมมิวนิสต์ในชนบทขยายตัวมากขึ้น

นักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากตัดสินใจละทิ้งชีวิตที่สุขสบายในเมืองเข้าร่วมการต่อสู้ในชนบท หรือว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กำลังเป็น “ตัวเร่ง” ที่จะทำให้ไทยกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4” โดยที่เหตุการณ์การปราบปรามครั้งใหญ่ในเมืองเช่นนี้กำลังกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะความกลัวกลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการสังหารหมู่กลางเมืองหลวง

แต่การสังหารเช่นนี้ก็กลับกลายเป็น “ตัวเร่ง” ในตัวเองเช่นกันที่จะทำให้สิ่งที่เป็นความกลัวของพวกเขาเกิดขึ้นมาจริงๆ…

การฆ่าในวันที่ 6 จึงเป็นดังเครื่องมือในการแสวงหากำลังพลให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ในชนบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านกลับในตัวเอง เพราะสถานการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

การปราบปรามที่เกิดขึ้นแทนที่จะหยุดยั้งการขยายตัวของปีกซ้ายในการเมืองไทย แต่กลับยิ่งทำให้สงครามขยายตัวมากขึ้น

อีกทั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขวาจัดหลังรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ พร้อมกับการผลักดันนโยบายที่เป็นไปในแบบต่อต้านคอมมิวนิสต์สุดโต่งด้วยแล้ว ทิศทางของนโยบายเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความแตกแยกอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทย แต่ยังทำให้เกิดสภาวะที่นักคิดของทหารปีกก้าวหน้า หรือ “ทหารประชาธิปไตย” เรียกการกระทำของรัฐบาลว่าเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ใช้คำนี้อยู่บ่อยครั้งก็คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ปรากฏการณ์ 6 ตุลาฯ ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในทางการเมืองและความมั่นคง เพราะการเกิดสภาวะแนวร่วมมุมกลับนั้น ทำให้ พคท. ขยายสงครามได้กว้างขวางมากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเป็น “สงครามกลางเมือง” ได้ไม่ยากนัก

และยิ่งปัญหานี้ขยายไปสู่เวทีสากลด้วยแล้ว ก็ดูจะเป็นอาการเดียวกับตัวแทนของสงครามเวียดนามที่แนวรบไม่ได้อยู่แต่ในชนบทและป่าเขาในเวียดนามเท่านั้น แนวรบกลับอยู่ทั้งในเมืองและในต่างประเทศ

สงครามภายในที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่สงครามแบบเดิมที่ฝ่ายรัฐบาลจะสามารถใช้กำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่าเข้าจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้อย่างง่ายๆ แล้ว

และแนวรบของสงครามในไทยชุดนี้กำลังขยายพื้นที่อย่างไม่เคยมีมาก่อน และการขยายเช่นนี้เป็นผลโดยตรงจากนโยบายแบบขวาจัดนั่นเอง…

สงครามคอมมิวนิสต์ในชนบทไทยขยายตัวและขยายแนวรบอย่างน่ากังวล

คณะทนาย

ในขณะเดียวกัน คดีของพวกเราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยคดีอยู่ในอำนาจของ “ศาลทหาร” เพราะต่อมาพวกเราทั้งหมดถูกฟ้องด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพิ่มจากเดิม

แต่เพื่อลดแรงกดดันจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงยินยอมให้มีการแต่งทนายในคดีนี้

จนเมื่อมีประกาศของรัฐบาลในเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะ ก็ได้มีทนายความเป็นจำนวนมากตัดสินใจขอเข้าเป็นทนายให้แก่พวกเรา จำนวนทนายเกือบ 50 คนที่เสนอตัวเข้ามาเป็นสิ่งที่พวกเรานึกไม่ถึงมาก่อน

คณะทนายนำโดย พี่ทองใบ ทองเปาด์ เป็นปราการที่แข็งแกร่งของการต่อสู้ในชั้นศาล

ทนายเหล่านี้มีจำนวนหลายท่าน และที่สำคัญเช่น คุณมารุต บุนนาค พลตำรวจตรีชนะ สมุทวณิช คุณสุธี ภูวพันธ์ คุณสุทัศน์ เงินหมื่น คุณวสันต์ พานิช คุณไพศาล พืชมงคล และอีกหลายๆ ท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามในที่นี้ได้ทั้งหมด ซึ่งสำหรับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ แล้ว คณะทนายเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับพวกเราอย่างมาก

และยังเป็นกำลังใจที่สำคัญ แม้ว่าในยามนั้นยังไม่เห็นจุดสุดท้ายของคดีก็ตาม!