วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์ / El Deafo : วีรบุรุษหูตึง

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

El Deafo : วีรบุรุษหูตึง

El Deafo หรือ เอล เดฟโฟ เป็นการ์ตูนที่เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงชื่อ ซีซี่ เบลล์ ผู้ไม่ได้ยินเสียงตั้งแต่อายุเพียงสี่ขวบ เพราะโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการหูหนวกทำให้เธอหวาดกลัวและมีอาการติดแม่แบบไม่ยอมห่างกันเลย

เมื่อต้องเข้าโรงเรียน เพื่อได้ยินเสียงครู เธอจึงต้องพกเครื่องช่วยฟังที่เรียกว่าโฟนิกเอียร์ การต่อเครื่องนี้เข้ากับไมโครโฟนของครูจะทำให้การเรียนการสอนสะดวกขึ้นมาก แต่สำหรับเด็กหญิงซีซี่ แม้จะช่วยให้ได้ยินชัดขึ้น แต่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนตัวประหลาดในห้องเรียน

คำว่า “แตกต่าง” จึงหมายถึงความรู้สึกที่แปลกแยกกับคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีกันทุกคน ถ้าพิเศษแปลว่าตัวประหลาดและมาจากการมองแบบสมเพชเวทนา

เรื่องของซูเปอร์ฮีโร่เกิดขึ้นเมื่อครูลืมปิดไมโครโฟน ซีซี่จึงได้ยินทุกอย่าง ไม่ว่าครูจะอยู่ในห้องโถง หรือห้องพักครู หรือห้องน้ำ เธอรู้สึกว่ามีอำนาจเหมือนพลังพิเศษที่คนอื่นไม่มี และเรียกตัวเองว่า El Deafo ฮีโร่คนนี้พลังพิเศษคือช่วยคนได้ อย่างน้อยก็ช่วยดูหรือฟังต้นทาง เวลาเพื่อนในห้องอยากจะเล่นขณะที่ครูไม่อยู่ ความรู้สึกของซีซี่จึงเปลี่ยนจากอับอายไปสู่กล้าหาญ และพบว่าความแตกต่างคือซูเปอร์เพาเวอร์ของตน

อย่างไรก็ตาม โฟนิกเอียร์นั้นไม่น่าใส่และซ่อนไม่ให้คนเห็นได้ยาก เธอพบว่า “แตกต่างคือโดดเดี่ยว” เหมือนกับการที่มนุษย์ค้างคาวต้องกลับไปเข้าถํ้า เธอก็ต้องกลับไปเข้าถํ้าแห่งความเงียบเหงาของตนเองเสมอ

ตรงนี้ทำให้เรื่องของซีซี่น่าสนใจ เธอเล่าเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนหลายประเภทที่ต้องคบ

เช่น ลอร่า เพื่อนที่ไม่พูดถึงอาการหูหนวก แต่แสนเจ้ากี้เจ้าการและไร้มรรยาท ทำให้ซีซี่ต้องคิดไปคิดมาหลายครั้งว่าจะคบเธอต่อไปหรือไม่

จินนี่ เพื่อนที่พูดช้าหรือยานคางและส่งเสียงดังๆ (เกินไป) เวลาพูดกับเธอ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ช่วยให้ฟังง่ายขึ้นเลย

นอกจากนั้น ยังมี มาธา เพื่อนที่ดี แต่เพราะอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ทำให้มาธาไม่ยอมพูดกับเธอไปนาน

รวมทั้ง ไมก์ มิลเลอร์ เด็กผู้ชายคนแรกที่เธอตกหลุมรักทันทีที่เห็น

ซีซี่ เบลล์ ผู้เขียน El Deafo เป็นนักเขียนหนังสือเด็กที่มีผลงานมาแล้วกว่าสิบเล่ม เช่น Rabbit and Robot and Itty Bitty ซึ่งส่วนมากเป็นหนังสือภาพ ส่วนกราฟิกโนเวลเล่มนี้ได้รับรางวัล Newbery Honor และ Eisner Award for Best Publication for Kids (ages 8-12) ในปี 2015

ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว เริ่มมีอาการหูหนวกเมื่ออายุสี่ขวบ เธอเล่าว่าตอนอยู่กับครอบครัว ทุกคนก็ปฏิบัติต่อเธอดี แต่เมื่อเข้าโรงเรียน สังคมก็เปลี่ยนไปเช่นต้องสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น

เบื้องหลังการวาดจัดเป็นนิทรรศการที่ซาเลม https://marycrockett.com/2015/03/05/cecebell/ และอยู่ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ เช่น https://www.theguardian.com/childrens-books-site/gallery/2015/aug/04/cece-bell-el-deafo-in-pictures

เบลล์เลือกที่จะวาดเป็นกราฟิกโนเวลหรือนิยายภาพขนาดยาว เพราะสื่อชนิดนี้มีบอลลูนคำพูดหรือช่องคำพูด ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายทอดเรื่องอาการหูหนวก เช่น เมื่อซีซี่เริ่มสูญเสียการได้ยิน คำพูดในบอลลูนจะค่อยๆ จางหายไป เมื่อติดโฟนิกเอียร์ครั้งแรกๆ ซึ่งทำให้เธอได้ยินเสียงแปลกๆ ที่ไม่ใช่เสียงจริง

และเมื่อเธอลองการอ่านปาก ซึ่งไม่ได้ง่ายนักเพราะต้องเดาไปด้วย บอลลูนก็ช่วยอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ดี ฉากที่เกี่ยวกับการอ่านปากทำให้พบว่าความเข้าใจสำคัญกว่าการได้ยิน เมื่อเพื่อนถามว่าจะเอานํ้าส้มหรือโค้ก เธอเดาได้แต่ว่าจะเอา “shoes” (juice) หรือ “goat” (Coke) เธอจึงรีบตอบว่าจะเอาโก้ต

เบลล์บอกว่าข้อดีอีกอย่างของกราฟิกโนเวล คือทำให้เธอวาดให้ทุกคนเป็นกระต่ายซึ่งมีหูยาวหรือฟังได้ดี การเน้นสภาพของซีซี่ที่มีหูยาวแต่ต้องใส่เครื่องช่วยฟังอยู่ตลอดเวลา จึงชัดเจนขึ้น

ในการเขียนเล่าประวัติของตนเอง เธอบอกว่าอาจจะมีความเห็นที่ไม่เป็นธรรมแก่ตัวละครบางตัว ที่สำคัญ ผู้เขียนยอมรับว่าคนหูหนวกนั้นมีหลายแบบ และไม่มีแบบไหนที่ผิดหรือถูกในตัวของมันเอง

แต่สิ่งที่เธอต้องการคือถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองในวัยเด็กออกมาให้ได้

หนังสือเด็กที่เกี่ยวกับคนพิการนั้นมีน้อย และที่มีก็มักจะสอนให้เราปฏิบัติต่อเขาดีๆ แต่ El Deafo ไม่ได้สอนอย่างนั้น มันถ่ายทอดมุมมองของเด็กพิการจริงๆ เราจะเรียนรู้ว่าซีซี่ไม่ชอบภาษามือ เพราะมันทำให้คนอื่นรู้ว่าเธอนั้นหูหนวก

ส่วนคนที่ทำภาษามือก็มักจะเป็นไปตามมรรยาทสมัยใหม่ นั่นคือทำเพื่อให้ตนดูดีในสายตาคนอื่น

ในปัจจุบัน ผู้เขียนบอกว่า แม้ผู้คนจะมีมรรยาทมากขึ้น แต่ก็ยังทำโง่ๆ เช่น ชักสีหน้าและพยายามพูดช้าลง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ช่วยอะไร

หนังสือทำให้คนพิการหรือหูหนวกไม่ใช่ “คนนอก” แต่เป็นสิ่งใกล้ตัวอย่างยิ่ง การที่ซีซี่เป็นผู้เล่าเรื่องทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความรู้สึกที่แตกต่างได้โดยตรงและมีส่วนร่วมในอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าที่จะเล่าโดยคนนอก

นอกจากนั้น สิ่งที่ซีซี่ต้องการ ไม่ใช่ความรู้สึกที่เรียกว่าเมตตากรุณา แต่คือเห็นและปฏิบัติต่อเธอแบบคนธรรมดา พูดอีกอย่าง ก่อนจะคิดทำอะไรดีๆ ควรมีความอดทนต่อความแตกต่าง หรือ toleration เสียก่อน

แม้จะเป็นหนังสือที่ยาวถึงสองร้อยกว่าหน้า แต่ก็มีความสนุกสนาน เรื่องราวของสังคมเด็กในห้องเรียนถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีอารมณ์ขัน และให้รายละเอียดที่คาดไม่ถึงมากมาย El Deafo จึงเหมาะสำหรับเด็กทุกคนที่อยู่ในวัยแสวงหาตัวตนและต้องเลือกเพื่อนที่จะคบ

ซึ่งก็หมายถึงผู้ใหญ่ทุกคนด้วย