ไชยันต์ ชี้ พรรคการเมืองต้องจับมือกัน หากต้องการออกจากการเมืองใต้อิทธิพลทหาร

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วันนี้ (7 ธันวาคม) ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.ศาลายา จ.นครปฐม ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การเมืองไทยหลังปลดล็อกทางการเมือง” โดยระบุว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน แม้จะมีการประกาศพรบ.เกี่ยวกับพรรคการเมือง แต่มาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการปลดล็อก ซึ่งจากการฟังข่าวล่าสุดพบว่าเริ่มมีสัญญาณที่คสช.อาจจะให้สนช.ทำการแก้ไข พรบ.เกี่ยวกับพรรคการเมือง ให้ขยายเวลาการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองออกไป ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะประเทศมีการรัฐประหารซึ่งทหารครองอำนาจมีระยะเวลายาวนานเป็นอันดับ2 รองจากยุคจอมพลถนอมและจอมพลสฤษฎิ์ ที่ครงอำนาจกว่า 9 ปี นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการเมืองไทยจะกลับมาลงเอยด้วยสภาพการเมืองไทยแบบเดิมหรือไม่ หรือในศัพท์วิชาการว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่ใช้อธิบายวัฏสงสารทางการเมืองไทย ดังนั้นการเลือกตั้งในปีหน้า หรืออย่างช้าต้นปี 2562 จึงถูกจับตาว่าจะกลับไปสู่ระบอบเดิมหรือไม่

ศ.ดร.ไชยันต์ บรรยายต่อว่า ทั้งนี้หากย้อนดูสถิติการรัฐประหารจากทั่วโลก ในศตวรรษที่ 20 ทั่วโลกมีการรัฐประหารกว่า 300 ครั้ง โดยประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากที่สุดคือ คือประเทศอาร์เจนตินาและกรีซ คือจำนวน 8 ครั้ง ส่วนประเทศไทย เป็นอันดับ 2 ของโลก ครองแชมป์คู่กับปากีสถาน โดยเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อาร์เจนตินา กับกรีซ เลิกทำรัฐประหารไปแล้ว แต่ไทยยังมีการทำรัฐประหารอยู่อีก 2 ครั้ง คือปี 2549 และปี 2557 ดังนั้นการนำพาประเทศให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง จึงเป็นวาระสำคัญที่ไทยต้องหลีกหนีให้พ้น เพื่อมุ่งสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งการพิจารณาประเทศไทย ภายใต้กรอบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบเส้นทางพัฒนาการทางการเมืองสองแบบ แบบหนึ่งคือการรัฐประหาร ซึ่งไทยโดยเด่นที่สุด ส่วนประเทศที่ไม่ได้ติดอันดับการทำรัฐประหาร อย่างเช่น พม่า ก็พบว่ามีการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมานาน เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเมื่อไม่นาน ขณะที่ ลาวมีรัฐยประหารครั้งเดียว แต่ก็มีแค่พรรคเดียวครองอำนาจยาวนาน ส่วนที่กัมพูชา “ฮุนเซน” ก็ครองอำนาจมานาน ไล่บี้ฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่มีพรรคเดียว และสิงคโปร์ที่ก็เป็นระบบสืบทอดอำนาจ ขณะที่มาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ก็มีอำนาจมานาน เช่นเดียวอินโดนีเซีย ที่ซูฮาร์โต้มีอำนาจมานาน จะเห็นว่าเงื่อนไขการเข้าสู่อำนาจของหลายประเทศ แม้ไม่มีรัฐประหารแต่ก็มีลักษณะอำนาจนิยม แต่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่าสถิติไม่เลวร้าย ซึ่งการเมืองไทยมักไม่ยึดกับรัฐธรรมนูญแต่เกี่ยวกับคน จึงเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนหมู่มากมีวินัย เคารพกฎหมาย

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ในเรื่องการปลดล็อกทางการเมืองนั้น กฎหมายพรรคการเมืองล่าสุดบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารี่โหวต โดยพรรคการเมืองนั้น หากอำนาจการตัดสินใจเป็นของหัวหน้าพรรคคนเดียวชี้ขาด จะเป็นระบบที่ทำให้ลูกพรรควิ่งเข้าหานาย ส่วนพรรคอีกประเภทคือกรรมการบริหารพรรคมีบทบาทมาก หัวหน้าพรรคไม่ได้มีบทบาทมาก หากจะให้ใครลงสมัครจะต้องมีการประชุมลงมติ ส่วนประเภทที่ให้สมาชิกพรรคเป็นผู้กำหนดจริงๆนั้นไม่มี ซึ่งตามพรบ.พรรคการเมือง กำหนดให้การทำไพรมารี่โหวตต้องมีการประชุมสมาชิกพรรคในระดับสาขาพรรคไม่ต่ำกว่าร้อยคน เพื่อเลือกตัวแทนบุคคลที่จะลงสมัครเป็น ส.ส. โดยหากใครจะลงสมัครก็จะเกิดการเกณฑ์คนมาลง และจะเกิดการแข่งขันกันระหว่างในพรรค จากการพูดคุยของตนกับนักการเมือง พบว่าหากใครแพ้ในขั้นไพรมารี่โหวต กลับมีแนวโน้มจะไม่ช่วยพรรคเดียวกัน หลายคนออกปากเลยว่าจะเลื่อยขากันเอง เพื่อให้เกิดการเสียหน้าด้วยซ้ำ นอกจากนี้การทำไพรมารี่โหวต ยังอาจมีปัญหากับวัฒนธรรมไทยที่อาจไม่ชอบเปิดหน้าแสดงตัวลงคะแนนขั้นไพรมารี่เชียร์ผู้สมัครที่ชอบอีกด้วย โดยเฉพาะข้าราชการไทยที่มีกว่า 2 ล้านคน ที่อาจไม่เข้าร่วมทำไพรมารี่โหวต ซึ่งการต่อสู้กันเองในพรรค ต่างกับต่างประเทศที่หากใครแพ้ขั้นไพรมารี่โหวตก็จะช่วยกันเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ระบบนี้ก็จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

โดยตนเองสอบถามพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ท่านจะไปทำไพรมารี่โหวตหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ไป ส่วนตัวเห็นว่า คนที่จะไปทำไพรมารี่โหวตจะเป็นคนระดับชาวบ้าน ซึ่งระบบไพรมารี่โหวต เป็นระบบที่พรรคนายใหญ่แข็งแรงได้เปรียบ ส่วนพรรคที่เป็นประชาธิปไตยเละแน่นอน ทั้งนี้การเสนอชื่อนายกฯตามกฎหมายเปิดให้มีการเสนอชื่อสามชื่อ ทั้งคนที่เป็นส.ส. และไม่ได้เป็นส.ส.ก็ได้ ซึ่งมีคำถามว่าจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ ตนทำนายพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอม คิดว่าพรรคทหารไม่มี ซึ่งพรรคที่ออกมาเชียร์พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอย่าง นายไพบูลย์ นิติตระวัน หรือหมอมโน ตนเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอมให้ใช้ชื่อ เพราะมีความเสี่ยงมาก คาดว่าเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะเสนอชื่อนายกฯได้ ขณะที่พรรคขนาดกลางคาดว่าจะมีอำนาจต่อรองมาก ก็จะเกิดการเจรจากันทางการเมือง ทั้งนี้หาก ส.ส.ไม่อยากให้ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารเข้ามามีบทบาทก็จะต้องเจรจากันให้ได้

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ส่วนการจูบปากกันของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ มีเหตุผลเพื่อไม่ให้เกิดนายกฯคนนอก ก็จะเป็นการเมืองที่ได้รัฐบาลที่ออกมาจากอิทธิพลของทหาร ทั้งนี้มีแนวคิดสุดขั้วจากทั้งสองฝ่าย คือการเสนอไม่ให้ทั้งสองพรรคใหญ่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะอยู่คนละขั้วอุดมการณ์ ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คือนายกฯคนนอกอาจมาแน่นอน หลังเลือกตั้งของไทย หากมีปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล เจรจาไม่ลงตัว ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นักการเมืองจะถูกตำหนิ ว่าเจรจากันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง สุดท้ายก็มีแรงกดดันจากประชาชน

ทั้งนี้การเสนอญัตติเลือกนายกฯ เพื่อเปิดประชุมทั้งสองสภาอาจมีปัญหากับวุฒิสภาอีก เพราะวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกฯคนนอก ที่อาจมีคนในใจไม่ตรงกัน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ กล้าให้เอาชื่อไปเสนอให้เป็นนายกฯคนนอก ก็เป็นอีกสูตรที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ใครที่ไม่ชอบนักการเมืองที่ลงในเขต สบายใจได้ว่าเสียงจะไม่หายไปไหน เขตใดที่คนไม่ประสงค์จะเลือกใคร มีคะแนนมากกว่า คนที่ได้คะแนนที่หนึ่ง เขตนั้นจะไม่มีส.ส. ฉะนั้นคะแนนเสียงของทุกเสียงจะไม่หายไป ถือเป็นประเด็นใหม่ ที่น่าจับตา

ทั้งนี้ช่วงท้ายมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดไทยจึงเกิดรัฐประหาร ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ตอบอย่างสั้นที่สุดคือพวกเราทุกคนก็มีส่วนทำให้เกิดรัฐประหาร ในอนาคต ตนเองคาดหวังแค่ว่า อยากให้คนในบ้านเมืองเคารพกฎหมาย มีระเบียบวินัย เคารพสิทธิ ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่การจอดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายก็พอ อยากให้ทุกคนเรารักษาสิทธิ เคารพสิทธิของผู้อื่น หากทรัพยากรมนุษย์ และคนส่วนใหญ่ไม่เคารพสิทธิคนอื่น ระเบียบกติกาที่ดีแค่ไหนก็ใช้ไม่ได้