เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (9) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระเมืองเกษเกล้า VS พระเมืองแก้ว

พระเมืองเกษเกล้า เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย

ในเอกสารมีการขนานนามพระองค์อีกสองชื่อว่า พระญาเกศเชษฐราช (มีทั้งเขียน เกส/เกศ/เกษ) กับ พระเมืองอ้าย เงื่อนงำของชื่อ “อ้าย” ที่แปลว่าพี่ใหญ่ก็ดี หรือการเติมสร้อยคำว่า “เชษฐ์” ก็ดี ล้วนชวนให้คิดว่า บุรุษผู้นี้น่าจะเป็นลูกคนโต หรือมีฐานะเป็นพี่ชายใคร หรือไม่

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ยังเชื่อว่า พระเมืองเกษเกล้า คือคนเดียวกันกับ “เปาสล้าง” ลูกฮ่อ โอรสของพระยอดเชียงราย ซึ่งเกิดแต่มเหสีเชื้อสายฮ่อ สันนิษฐานว่าคือ นางอตปาเทวี (แม้อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ จะเชื่อว่า อตปาเทวี คือคนเดียวกันกับนางโป่งน้อย แต่นักวิชาการคนอื่นๆ เห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์สมฤทธิ์ว่า อตปา คือชายาชาวฮ่อ)

เหตุที่อาจารย์สมฤทธิ์เชื่อเช่นนั้นก็เพราะ ตอนที่พระยอดเชียงรายถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย ก็ต้องพาเปาสล้างลูกรักตามไปด้วย ครั้นหลังการสวรรคตของพระยอดเชียงราย ไฉนชื่อของเปาสล้างจึงหายไปเลยจากสารบบ?

อีกทั้งทำไมเหล่าขุนนางต้องไปอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ามาจากเมืองน้อยให้ขึ้นเป็นกษัตริย์?

หากพระเมืองเกษเกล้าเป็นโอรสของพระเมืองแก้วจริงแล้วไซร้ เสด็จไปประทับที่เมืองน้อยด้วยเหตุผลใด?

ความสัมพันธ์ระหว่าง พระเมืองแก้ว กับพระเมืองเกษเกล้า ค่อนข้างคลุมเครือ ตำนานฉบับต่างๆ เขียนขัดแย้งกันเอง มีทั้งบอกว่า เป็นพี่น้องกัน และมีทั้งบอกว่าเป็นพ่อลูกกัน ความที่พระเมืองแก้วขึ้นครองราชย์ก่อน ทำให้คนคิดว่าหากเป็นพี่น้อง พระเมืองเกษเกล้าก็ต้องเป็นน้อง หรือหากเป็นพ่อลูก พระเมืองเกษเกล้าก็ต้องเป็นลูก

แต่อย่าลืมว่า พระเมืองแก้วครองราชย์ตอนอายุเพียง 13-14 ปี ส่วนพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ตอนอายุมากแล้ว ข้อสำคัญคือเราไม่พบหลักฐานระบุว่า พระมารดาของพระเมืองเกษเกล้าคือใคร

แต่ก็อีกนั่นแหละ มันอาจจะย้อนแย้งกันทีเดียว หากพระเมืองเกษเกล้าเป็นลูกของพระยอดเชียงราย ซึ่งหมดเขี้ยวเล็บไปแล้วทั้งพ่อลูก อำนาจอยู่ในมือของฝ่ายพระนางโป่งน้อยสิริยศวดี ที่ผลักดันให้โอรสของตนคือพระเมืองแก้ว ขึ้นเป็นยุวกษัตริย์

ไฉนเมื่อสองแม่ลูกสิ้นบุญไปแล้ว อำนาจจึงถูกเหวี่ยงกลับไปอยู่ในมือของขั้วลูกฮ่ออีก? หรือมีเงื่อนงำอะไรมากกว่านั้น หรือว่ากองทัพฝ่ายฮ่อของนางอตปาฮึดสู้จึงชิงอำนาจคืนมาให้ลูกตนได้สำเร็จ?

 

จิรประภาเทวี VS วิสุทธิเทวี
ใครเนรเทศพระเมืองเกษเกล้า?

พระเมืองเกษเกล้ามีชายาชื่อ พระนางจิรประภาเทวี มีโอรสธิดาด้วยกัน 3 องค์ คือ ท้าวจอมเมือง ท้าวซายคำ และนางยอดคำทิพ

ส่วนพระเมืองแก้ว นอกจากจะไม่ทราบชื่อมเหสีเอก ผู้เป็นมารดาของพระเมืองเกษเกล้าแล้ว (สมมติว่าพระเมืองเกษเกล้าเป็นลูกพระเมืองแก้ว) ยังกลับพบว่า พระเมืองแก้วมีชายาอีกองค์หนึ่งชื่อ นางพญาวิสุทธิเทวี ซึ่งมีโอรสกับพระเมืองแก้วชื่อ พระเมกุฏิ หรือที่เรียกกันว่า แม่กุ

เอกสารโบราณเขียนสั้นๆ คร่าวๆ ว่า พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้เพียง 5 ปีก็ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้บงการ) จากนั้นขุนนางจึงพร้อมใจกันยก ท้าวซายคำ โอรสองค์รองของพระองค์ที่เกิดแต่นางจิรประภาขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (ด้วยเหตุที่โอรสองค์โต ท้าวจอมเมือง ถูกสังหารไปก่อนแล้ว แล้วใครล่ะสังหาร)

เราต้องมาดูกันว่า การเนรเทศพระเมืองเกษเกล้าไปเมืองน้อยนั้น ใครได้ประโยชน์ ก็แสดงว่าฝ่ายนั้นเป็นผู้ลงมือ หากยึดตามตรรกะนี้ ในเมื่อท้าวซายคำได้นั่งบัลลังก์ ก็จะได้คำตอบว่า จิรประภาเทวี มเหสีของพระเมืองเกษเกล้านั่นเอง ที่เป็นฝ่ายลงดาบเนรเทศพระสวามี

แต่แล้ว ท้าวซายคำปกครองบ้านเมืองเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ถูกข้อกล่าวหาว่า ประพฤติตนไม่ดี บริหารบ้านเมืองไม่เป็นท่า ท้าวซายคำถูกขุนนางจับฆ่า แล้วไปปลดปล่อยพระเมืองเกษเกล้าจากที่ถูกเนรเทศไปเมืองน้อย ให้กลับมานั่งบัลลังก์อีกเป็นคำรบ 2 แต่แล้วก็บอกว่า พระเมืองเกษเกล้าแก้วสติฟั่นเฝือ จึงจับสำเร็จโทษที่วัดแสนคอก (ปัจจุบันไม่ทราบว่าวัดนี้อยู่ที่ไหน) จากนั้นได้นำอัฐิมาไว้ที่วัดโลกโมลี

ขุนนางฝ่ายไหนเล่า ที่อาจหาญปลงอาชญากษัตริย์สองพ่อลูกติดๆ กัน ต้องเป็นขุนนางฝ่ายตรงข้ามที่มีความทะเยอทะยานอยากจะแย่งราชบัลลังก์ใช่ไหม ถ้าเป็นตามนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารสองพ่อลูก ก็ย่อมหนีไม่พ้น ขั้วของนางพญาวิสุทธิเทวี ซึ่งอ้างสิทธิธรรมว่าตนเป็นชายาของพระเมืองแก้ว และต้องการผลักดันโอรส คือพระเมกุฏิขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

จิรประภา และวิสุทธิเทวีเป็นใครกันแน่?

จิรประภา ถ้าใครจำบทบาทของ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ได้ในเรื่อง “สุริโยไท” ก็คงไม่ลืมฉากเด็ดที่เธอต้อนรับทัพของพระไชยราชา (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) จากอยุธยา ที่ขึ้นมาหยั่งเชิงดูความปั่นป่วนของราชสำนักล้านนา ในช่วงปลอดกษัตริย์

ทั้งๆ ที่ยกทัพมาจำนวนมหาศาล แต่กลับลงเอยด้วยมิตรภาพ บทภาพยนตร์ตีความในทำนองว่า พระไชยราชาตกหลุมเสน่ห์เย้ายวนใจของจิรประภา ในสไตล์ชุด “กล่องนม” จึงห้ำหั่นชาวล้านนาไม่ลง จริงล่ะหรือ?

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ วิเคราะห์ว่า เบื้องหลังของพระไชยราชานั้น พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย เช่นเดียวกับพระนางจิรประภา เป็นเครือญาติใกล้ชิดชนิดลูกพี่ลูกน้องกัน ดีไม่ดีอาจเป็นพี่น้องคลานตามกันมาด้วยซ้ำ

เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี อธิบายว่า ทำไมกองทัพของพระไชยราชาซึ่งยกมาเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง จึงไม่เคยทำร้ายฝ่ายจิรประภาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่กลับคอยทำร้าย “อีกฝ่ายหนึ่ง” แทน

จิรประภาเองใช่หรือไม่ที่เป็นฝ่ายเขียนสาส์นไปขอพึ่งบารมีของพี่ชายซึ่งเป็นกษัตริย์อยุธยา ให้ยกกองทัพมาแผ่แสนยานุภาพข่มขวัญฝ่ายศัตรู คือวิสุทธิเทวีที่จ้องจะทำลายล้างฝ่ายตน

ตอนพระไชยราชายกทัพออกจากเชียงใหม่ไปถึงลำพูน ปรากฏว่าทัพของวิสุทธิเทวีมาดักซุ่มตีจากทางใต้ลุ่มน้ำปิงแถบฮอด ลี้ เกิดการตะลุมบอนกับพระไชยราชาเสียจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อกลับอยุธยาก็สิ้นพระชนม์ สะท้อนว่า วิสุทธิเทวีย่อมไม่พอใจกองกำลังฝ่ายจิรประภาที่เรียกญาติจากทางสุโขทัยมาข่มขวัญ

ถ้าเชื่อว่าพระเมืองเกษเกล้าเป็นลูกพระเมืองแก้ว สถานะของจิรประภา จะตกเป็นสะใภ้กลายๆ ของวิสุทธิเทวี แต่ถ้าเชื่อว่าพระเมืองเกษเกล้าเป็นพี่ชายต่างมารดา (ลูกฮ่อ-เปาสล้าง) ของพระเมืองแก้ว จิรประภาก็เปลี่ยนสถานะกลายเป็นพี่สะใภ้ของวิสุทธิเทวีไปโดยปริยาย

ไม่ว่าสองสาวจะอยู่ในสถานะใดต่อกันก็ตาม ที่แน่ๆ ไม่กินเส้นกัน เพราะถือว่าลูกของตนต่างมีสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์

 

วิสุทธิเทวี นางพญาแห่งไทใหญ่

นางพญาวิสุทธิเทวี มีเชื้อสายไทใหญ่จากเมืองนาย แถบลุ่มน้ำสาละวิน เป็นธรรมเนียมของรัฐจารีตยุคก่อน ถ้าหากรัฐใดเข้มแข็ง รัฐเล็กๆ มักนิยมนำราชธิดามาถวายให้ เพื่อเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยว่ารัฐใหญ่จะไม่รังแกรัฐเล็ก

ภายหลังจากการสวรรคตของพระเมืองเกษเกล้าและท้าวซายคำแล้ว วิสุทธิเทวี กับจิรประภาต้องรีบช่วงชิงเก้าอี้ ปรากฏว่าจิรประภารีบยกเอา “พระไชยเชษฐาธิราช” หรือ เจ้าอุปโย หลานยายวัยเพียง 13 ปี ขึ้นนั่งบัลลังก์

เห็นได้ว่าจิรประภา เร่งช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ดึงพันธมิตรโดยสายเลือดคือ อยุธยา (พี่ชาย) กับล้านช้าง (หลานยาย) เข้ามาร่วมสังฆกรรมคานอำนาจ ยื้อแย่งบัลลังก์ในราชสำนักล้านนา

พระไชยเชษฐา เป็นโอรสของนางยอดคำทิพ (ธิดาของจิรประภา) กับท้าวโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระบาง) นั่งเมืองเชียงใหม่แค่ 2 ปี ก็ถูกยึดอำนาจโดยฝ่ายวิสุทธิเทวี ทำให้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลับไปตั้งหลักแถบเชียงแสน เชียงของ ดิ้นรนประกาศตนว่าเป็น “กษัตริย์สองแผ่นดิน ล้านนา-ล้านช้าง” และต้องถอยหนีกลับหลวงพระบางในที่สุด

ตามที่โปรยหัวบทความว่า The Romance of Three Kingdoms นี่คือการต่อสู้กันระหว่างรัฐ 3 รัฐ คือ อยุธยา-สุโขทัย (สองรัฐนี้ขอนับรวมไม่แยกออกจากกัน เพราะสุโขทัยเริ่มแผ่วปลายอ่อนล้าอำนาจลงมากแล้ว แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา) รัฐไทใหญ่ และรัฐสุดท้ายที่เข้ามาเอี่ยวคือ ล้านช้าง โดยมีราชสำนักล้านนาเป็นเดิมพัน

หรือตามที่อาจารย์สมฤทธิ์ ได้กล่าวไว้ว่า การเมืองในล้านนาเป็นการผลัดเปลี่ยนอำนาจกันระหว่าง คนจากลุ่มน้ำของ และลุ่มน้ำคง (แม่โขง กับสาละวิน) อยู่ตลอดเวลา

 

อาจมีการทำคุณไสยที่เมืองน้อย?

ยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดี รายงานผลการศึกษาเมืองน้อยว่า ได้พบเจดีย์ทรงระฆังล้านนาที่ร่วมสมัยกับยุคพระเจ้าติโลกราชถึงยุคพระเมืองเกษเกล้า สะท้อนว่า เมืองน้อยเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา ไม่ใช่ไทใหญ่ เพราะไม่พบศิลปะแบบไทใหญ่

ซากอาคารที่พบยังมีซุ้มประตูโขง ศาลาบาตร อุโบสถ วิหาร ส่วนหลักฐานใต้ชั้นดิน พบไหบรรจุกระดูก ช้อนสำริด ขันสำริด เหล็กยึดวิหาร พระพุทธรูปแกะจากหินฝีมือไม่สวยงามเท่าสกุลช่างเชียงใหม่ รูปพระสาวกบนฐานพระวิหารที่ถูกไฟความร้อนสูงเผาทำลาย

นอกจากนี้ ได้ค้นพบลูกปัดเจาะรู เงินเจียงที่ถูกใช้งานจริง งาช้าง หม้อ โกศ ซึ่งทำด้วยเทคนิคที่มีข้อจำกัดมาก แสดงว่าทำในเตาเมืองน้อยเอง แต่ในขณะเดียวกันก็พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อิฐจารึกอักษรฝักขาม ฯลฯ หลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดคือพระธำมรงค์เนื้อสำริดกะไหล่ทอง 2 วง ที่ขุดได้ที่ลานประทักษิณ เยื้องแนวกำแพงแก้ว

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้วการฝังสิ่งของมีค่าตอนสร้างวัด มักฝังตรงกลางวิหาร บริเวณที่สายตาพระเจ้า (พระพุทธรูป) มองต่ำลงมา

การพบพระธำมรงค์ 2 วง ในจุดที่ไม่ควรจะอยู่เช่นนั้น คือลานประทักษิณใกล้กำแพง หากไม่มีการย้ายมาภายหลัง ก็อาจเป็นการจงใจทำไสยศาสตร์ให้เกิดอาถรรพณ์ก็เป็นได้ ภาษาล้านนาเรียกการฝังเช่นนี้ว่า “กงผาลี” มาจากคำว่า กรุงพาลี ใช้เรียกการฝังวัตถุบางอย่างให้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าสถานที่

ขนาดถูกเนรเทศมาอยู่ไกลลิบโลกถึงเมืองน้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่วายได้พบหลักฐานทางโบราณคดี ที่มีวี่แววส่อถึงการทำคุณไสยใส่เจ้านายระดับสูงองค์ใดองค์หนึ่ง ไม่แน่ใจว่าผู้ถูกคุณไสยจะเป็น ท้าวบุญเรือง พระยอดเชียงราย หรือพระเมืองเกษเกล้า

เรื่องไสยศาสตร์จะจริงเท็จอย่างไร คงต้องศึกษากันต่อไป

อาจารย์ภูเดช กล่าวว่า หลังหมดยุคพระเมืองเกษเกล้าแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเนรเทศใครไปไว้ที่เมืองน้อยอีกเลย ล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า 200 กว่าปี จะเอากษัตริย์ไปไว้ที่พม่าเลย คือพระเมกุฏิถูกจับประหารชีวิตที่พม่า

ส่วนยุคที่ล้านนาเป็นประเทศราชของสยาม สยามใช้วิธีนำตัวเจ้านายของล้านนาไปสำเร็จโทษที่กรุงเทพฯ เช่นกัน

ไม่น่าเชื่อจริงๆ “เมืองน้อย” เมืองเล็กๆ ที่ผู้คนเกือบลืมเลือน แค่ลองแง้มๆ เปิดเมืองดูเพื่อค้นหาว่ามีเรื่องราวอะไรบ้างที่ถูกซุกซ่อน กลับได้พบภาพการเมืองฉากใหญ่ ที่ฉายชัดถึงปมขัดแย้งแย่งชิงราชบัลลังก์ถึง 3 ครั้ง ซ้ำยังเป็นประวัติศาสตร์ล้านนาที่ไม่อาจบันทึกได้ในตำราเรียน