ไม่เชื่อมั่นอำนาจตัวเอง

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

เป็นความน่าสนใจอย่างยิ่ง หลังจากนักการเมือง พรรคการเมืองถูกถล่มเละ ว่าเป็นต้นตอของทุกปัญหาในประเทศ แทบจะเรียกได้ว่าไม่ว่าจะเกิดความยุ่งยาก ยุ่งเหยิง วิกฤต หรือความติดขัดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม สถานการณ์ได้ส่งผลให้คำตอบอยู่ที่เป็น “ผลพวงจากการกระทำของนักการเมืองในอดีต” ทั้งสิ้น

ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่แค่บุคคลบางกลุ่ม บางฝ่ายที่โยนความผิดใส่นักการเมือง แต่ประชาชนที่ดูเหมือนจะชัดเจนขึ้นทุกทีว่าเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่เห็นด้วยว่าทุกปัญหาของประเทศนี้เกิดจากความเลวร้ายของนักการเมือง

คล้ายกับว่าผลประชามติที่ทำให้ “รัฐธรรมนูญ” ถูกมองว่าเป็นฉบับที่ลดบทบาทนักการเมืองมากที่สุด และคำถามพ่วงที่ให้บทบาทกับผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากที่สุดผ่านฉลุยด้วยเสียงเห็นด้วยล้นหลาม

และหลายคนออกมาชี้ว่าเป็นเพราะประชาชนหมดศรัทธาต่อนักการเมือง หันมาศรัทธากับกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่า

กลายเป็นข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับอย่างไร้ข้อถกเถียงเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น ความน่าสนใจที่เกริ่นไว้ คือ เมื่อสถาบันพระปกเกล้า อันเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการปกครอบระบอบประชาธิปไตย โดยใช้งบประมาณของรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ทำการสำรวจเรื่องที่ว่าด้วย “ความเชื่อมั่นของประชาชน” แล้วผลออกมาว่า ร้อยละ 85.8 เชื่อมั่นในทหาร ร้อยละ 84.6. เชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 76.2 เชื่อมั่นในรัฐบาล/คณะรัฐมนตรี ร้อยละ 68.8 เชื่อมั่นในผู้ว่าราชการจังหวัด ร้อยละ 63.8 เชื่อมั่นในสมาชิกสภาท้องถิ่น ร้อยละ 55.3 เชื่อในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร้อยละ 52.4 เชื่อมั่นในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

สำหรับพรรคการเมือง ในภาพรวมประชาชนร้อยละ 39.7 เท่านั้นที่เชื่อมั่น และเมื่อแยกเป็นพรรค เพื่อไทยเหลือคนที่เชื่อมั่นอยู่เพียงร้อยละ 35.5

ขณะที่ประชาธิปัตย์อยู่ที่ร้อยละ 34.2

สถาบันพระปกเกล้าเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือสูง เพราะเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการระดับนำของประเทศ ดังนั้น ผลสำรวจชิ้นนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการชี้ทิศทาลทางการเมืองของประเทศ

หากติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้อย่างใกล้ชิด จะพบว่าบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างจะตกเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกของนักการเมืองจากการแต่งตั้ง

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอที่เป็นประเด็นหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะมากำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง สถาบันการเมือง และการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่เกิดจากการจุดประเด็น หรือกำหนดเกมโดยนักการเมืองจากการแต่งตั้ง ขณะที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งถูกผลักให้เป็นฝ่ายตั้งรับ

และจะว่าไปหลายเรื่องราวเป็นการตั้งรับอย่างทุลักทุเล เพราะกระแสโดยทั่วไปดูจะเห็นดีเห็นงามไปกับนักการเมืองจากการแต่งตั้ง

เป็นทิศทางการเมืองที่คล้ายกับว่าประชาชนส่วนใหญ่ ยอมที่จะให้อำนาจที่เคยเป็นของตัวเองในการเลือกคนเข้าไปทำงานบริหารจัดการประเทศต่อคนกลุ่มหนึ่งไป โดยยอมที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจนั้น

เป็นทิศทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ

จะพัฒนาไปสู่จุดใด จะสรุปอย่างไร นับเป็นเรื่องชวนติดตามยิ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่โกลาหลขึ้นเรื่อยๆ