เกษียร เตชะพีระ : “มองร่างรัฐธรรมนูญมีชัยลึกๆ”

เกษียร เตชะพีระ
( ภาพคุณมีชัยแถลงข่าวเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติจากข่าวสดออนไลน์)

หลังจากมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน อย่างยาวๆ โดยเชื่อมโยงมันเข้ากับแนวโน้มความพยายามเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy) ในการเมืองไทยรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อตอนที่แล้ว

มาตอนนี้ผมอยากมองร่างรัฐธรรมนูญมีชัยอย่างลึกๆ บ้างโดยเชื่อมโยงแนวคิดเบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญเข้ากับความคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ในการแถลงข่าวเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติของคุณมีชัยเมื่อวันที่ 30 มีนาคมศกนี้ ท่านได้ตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญไว้ตอนหนึ่งว่า :

“สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะไม่ได้พูดว่าประชาชนเป็นใหญ่ แต่เรามุ่งหมายให้เกิดการทัดเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพ โดยเรายึดไปตามหลักของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่การมุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ”” (อ้างจาก “มีชัยชู รธน. ปชต. แบบ “พุทธทาส”, ข่าวสดออนไลน์, 30 มี.ค. 2559 http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNak13TURNMU9RPT0%3D§ionid=TURNd01RPT0%3D&day=TWpBeE5pMHdNeTB6TUE9PQ%3D%3D)

มีหลักฐานปรากฏให้สืบสาวรากเหง้าที่มาแห่งความคิด “ประชาธิปไตย” ของคุณมีชัยย้อนรอยถอยหลังกลับไปถึงพุทธทาสภิกขุหรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ, พ.ศ.2449-2536) อยู่บ้าง ดังบันทึกคลิปวิดีโอที่พุทธทาสภิกขุให้สัมภาษณ์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เรื่องนี้ไว้

(ภาพพุทธทาสภิกขุให้สัมภาษณ์เจิมศักดิ์ปิ่นทองจาก www.youtube.com/watch?v=w9UT1YXRrPY & ) (ภาพพุทธทาสภิกขุให้สัมภาษณ์เจิมศักดิ์ปิ่นทองจาก www.youtube.com/watch?v=w9UT1YXRrPY & )

มีเนื้อความว่า :

“(พุทธทาสภิกขุ) ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ มันก็ทำเพื่อประชาชน โดยประชาชน นี่เราต้องเอาประโยชน์ที่ถูกต้องของประชาชนทั้งหมดแหละเป็นใหญ่ สังคมนิยมก็เหมือนกัน ไม่ใช่เห็นแก่สังคม แต่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคม จึงจะเป็นสังคมนิยม…

“(เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวเสริมแทรกขึ้น) ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่โดยประชาชน…

“(พุทธทาสภิกขุ ต่อ) โดยคนอื่นก็ได้ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็ม อย่างนั้นจึงจะเป็นประชาธิปไตย ไอ้ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ของประชาชน โดยประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด” (www.youtube.com/watch?v=w9UT1YXRrPY)

หากวางความคิดประชาธิปไตยของพุทธทาสภิกขุและคุณมีชัยทาบลงไปในธรรมเนียมแนวคิดประชาธิปไตยสากล ก็จะพบว่ามันรับทอดเอานิยามประชาธิปไตยที่โด่งดังของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐอเมริกามาแล้วลดลัดตัดทอนลง

กล่าวคือ ลินคอล์นได้กล่าวปิดท้ายคำปราศรัยเปิดสุสานแห่งชาติ ณ เมืองเก็ตติสเบอร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อรำลึกถึงทหารทั้งฝ่ายสหรัฐ (United States of America หรือฝ่ายเหนือ) และฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederated States of America หรือฝ่ายใต้) ที่บาดเจ็บล้มตายสูญหายในสนามรบดุเดือดครั้งใหญ่ของสงครามกลางเมือง ณ ที่แห่งนั้นไปกว่า 60,000 คน ว่า :

“…and that government of the people, by the people, for the people, shall not perish from the earth.”

“…และการปกครองของประชาชน, โดยประชาชน, เพื่อประชาชน จักไม่สูญสลายไปจากโลก”

ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น, 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1863

(www.abrahamlincolnonline.org/lincoln/speeches/gettysburg.htm)

จะเห็นได้ว่านิยามประชาธิปไตยของลินคอล์นที่ว่า [การปกครองของประชาชน, โดยประชาชน, เพื่อประชาชน] ดังกล่าวพอตกมาถึงเมืองไทยในมือท่านพุทธทาสภิกขุและคุณมีชัย ก็ถูกตีความใหม่โดยตัดทอนหลัก “โดยประชาชน” (by the people) ออกเสีย, เหลือเพียง -> “เพื่อ (ประโยชน์ของ) ประชาชน” (for the people) เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะประชาชน “บ้าบอก็ได้” “เห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด” ประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงไม่ควรให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง โดยลำพังตัวประชาชนเอง แต่กลับกลายเป็นการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน “โดยคนอื่นก็ได้” แทน

ซึ่งก็สอดคล้องลงตัวกันพอดีกับแนวคิดการเมืองของเทคโนแครตและผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เป็นเจ้าภาพการจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติของคุณมีชัยและคณะนี้ขึ้นมา

ดังที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ TDRI ช่วยอรรถาธิบายความแตกต่างระหว่างนโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. กับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ไว้ตอนหนึ่งว่า :

“สำหรับ นโยบายประชารัฐ ความมุ่งหวังของกรอบนโยบาย คือการปิดจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมดังกล่าว โดยตัวสาระสำคัญของนโยบายประชารัฐ จะอยู่ที่การใช้อำนาจของรัฐ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ นโยบายประชารัฐ จึงมิได้มุ่งเน้นที่การสร้างความนิยมชมชอบของประชาชนในระยะสั้นเป็นหลัก เพราะนโยบายที่ประชาชนให้ความนิยมชมชอบ อาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้ และไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อีกด้วย ขอเพียงแค่ผลประโยชน์ของการดำเนินนโยบายให้ตกอยู่กับประชาชนก็พอ”

“นโยบายประชารัฐ แตกต่างจากนโยบายประชานิยมอย่างไร? และประชาชนจะได้อะไร?”

(http://tdri.or.th/tdri-insight/nonarit20160107/)

การเน้น “เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” ก็ดี, การ “ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่” ก็ดี, การ “ปิดจุดอ่อนของนโยบายประชานิยม… ที่ประชาชนให้ความนิยมชมชอบ อาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้” ก็ดี ล้วนสอดคล้องต้องกันกับความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุและคุณมีชัย เป๊ะๆๆ ทีเดียว

คือเน้นการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ใช่โดยประชาชน เพราะประชาชนอาจบ้าบอก็ได้ เห็นแก่ตัวก็ได้ หลงนิยมชมชอบประชานิยมก็ได้นั่นเอง

และก็ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนอันตรายของประชาธิปไตยโดยประชาชนไว้ล่าสุดว่า :

“ประชาชน เดี๋ยวผมจะถามคุณให้ดูนะ ผมจะถามไอ้ข้างนอก (ทำเนียบฯ) ไอ้ที่ตัดหญ้ามันรู้เรื่องไหม คุณจะมาพูดคำว่าประชาชนกับผมนักเลย ชาวนารู้เรื่องสักกี่คน เขาหากินงกๆ ทุกวัน เพราะไอ้…ทำให้เขายากจนอยู่ทุกวันนี้ เขารู้เรื่องไหม นั่นล่ะประชาชนที่เขาอ้างกันแล้วทำไมจนอยู่เล่า ทำไมไม่ทำให้เขา พูดประชาชนอยู่ได้ สักกี่คนที่สนใจรัฐธรรมนูญ ตอบมาดิ”

(12 เมษายน 2559, อ้างใน www.astvmanager.com/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000043090, ดูคลิปวิดีโอได้ที่ www.youtube.com/watch?v=UN6OXHbCtoE)

ก็เพราะในสายตาชนชั้นนำไทยหลากหลายวงการ ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า, นักร่างรัฐธรรมนูญ, เทคโนแครต, ผู้นำทหาร-การเมือง รวมเลยไปถึงศิลปินประชาธิปไตย@กปปส.&กวางจูนั้น (https://www.youtube.com/watch?v=7RGsMUnyifc) ประชาชนไทยบ้าบอก็ได้, เห็นแก่ตัวก็ได้, ชอบประชานิยม, ไม่รู้เรื่อง, ขายสิทธิ์ขายเสียง ฯลฯ นี่เอง ประชาชนจึงยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “โดยประชาชน”

จำเป็นอยู่เองที่ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ต้องถูกออกแบบมาในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่โดยคนอื่น ซึ่งเป็นคนดีกว่า มีความรู้มากกว่า ไม่บ้าบอ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ชอบประชานิยม ไม่ขายสิทธิ์ขายเสียงอย่างประชาชน

ด้วยความคิดชี้นำเช่นที่กล่าวมาข้างตนตามลำดับนี้แหละ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติจึงได้ออกแบบประชาธิปไตยมาในลักษณะไทยๆ ที่เพื่อประชาชน แต่ไม่ใช่โดยตัวประชาชนเอง หากโดย “พวกท่าน”

ตรงกับที่ “กวีไพร่” สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยสรุปไว้เป็นคำกลอนอย่างกระชับจับใจว่า :

“ประชาธิปไตยแบบไทยไทย กูคนดีต้องเป็นใหญ่อยู่เหนือกว่า

พวกมึงดีไม่พอรอเวลา เพราะคนเกิดมาไม่เท่ากัน”