โลกหมุนเร็ว เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/ศึกษาเกียวโต เพื่ออยุธยา

โลกหมุนเร็ว

เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ศึกษาเกียวโต เพื่ออยุธยา

อยุธยาเป็นเมืองหลวงเก่าที่มีชีวิต เช่นเดียวกับเกียวโต

ยังคงเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำการค้า ควบคู่กันไปกับการเป็นเมืองมรดกโลก

เมื่อเข้าไปเดินในอยุธยา กลิ่นอายความเป็นอดีตราชธานียังมีอยู่เต็มเปี่ยม แม้จะเป็นสิ่งปรักหักพัง แต่ความยิ่งใหญ่นั้นยังรู้สึกได้ ลัดเลาะไปซอกมุมใดก็เห็นวัดเห็นวังอยู่ที่โน่นที่นี่

เกาะเมืองอยุธยาถูกสงวนไว้เป็นมรดกโลก ไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารสูงมาบดบังทัศนียภาพของสิ่งก่อสร้างที่มีมาแต่อดีต

อยุธยามีเนื้อที่ 2557 ตร.ก.ม. เขตที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ประกอบด้วย พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วิหารพระมงคลบพิตร

ต่อมาได้ประกาศเพิ่มเติมอีกให้ครอบคลุมโบราณสถานที่อยู่รอบนอกเกาะได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม วัดพุทไธสวรรค์ วัดพนัญเชิง หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น

นอกเหนือจากภาพลักษณ์ของการเป็น “กรุงเก่า” เราคงแปลกใจถ้ารู้ว่าอยุธยาถูกนับให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นที่ 3 ของประเทศ ที่นี่มีนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญถึง 6 นิคมรายรอบ อย่างนิคมอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่อย่างโรงงานผลิตรถยนต์

และนี่คือความเหมือนระหว่างอยุธยา และเกียวโต

เมืองเก่ากับเมืองใหม่อยู่ด้วยกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่

การบริหารให้ปัจจุบันและอดีตอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนไม่ใช่เรื่องง่าย เกียวโตมีภูเขาล้อมรอบ มีเมืองใหญ่อยู่ตรงกลาง

ความต่างของอยุธยาและเกียวโตอยู่ตรงที่เกียวโตมีการบริหารจัดการภูมิทัศน์และธรรมชาติควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเมืองเก่าและโบราณสถานที่อยู่ในนั้น แต่อยุธยาของเราไม่ได้นึกถึงเรื่องของภูมิทัศน์

การบริหารจัดการให้มีภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มมิติ เพิ่มมุมมอง เพิ่มที่ว่าง ที่เกียวโตทำนั้นต้องทำถึงขนาดขอซื้อที่ของประชาชนเพื่อมาทำพื้นที่ว่างให้เมืองสวยงามขึ้น

ทุกซอกทุกมุมของเกียวโตจึงสวยงาม มีความกลมกลืน

เกียวโตมีแผนงานด้านภูมิทัศน์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติภูมิทัศน์ (Landscape Act) ซึ่งมี 4 เสาหลักด้วยกัน คือ การสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ รักษาความเป็นเมืองในแอ่ง ปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและบริเวณที่อยู่ริมน้ำ

การสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ที่ทำให้เกิดความกลมกลืนระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่ การสร้างภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยพื้นที่อันหลากหลายที่มีเอกลักษณ์ การสร้างภูมิทัศน์ที่ทำให้เมืองมีพลังและชีวิตชีวา

การมีภูมิทัศน์ที่งดงามสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกียวโต ดึงดูดให้มีผู้มาเยือน ดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มโอกาสการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว การสะสมความรู้ และอุตสาหกรรมพื้นบ้าน

นอกจากนี้ เมืองเกียวโตด้วยการนำของนายกเทศมนตรียังส่งเสริมแนวคิดที่ว่า ภูมิทัศน์ของเกียวโตคือสมบัติของทุกคน

การพัฒนาสำนึกเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาทุกอย่าง เพราะว่าทุกคนมีส่วนได้เสียกับเมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงาม เนื่องจากมันมอบศักยภาพในการทำมาหากินทำให้มีการอยู่ดีกินดี และเหนือสิ่งอื่นใดคือความภาคภูมิใจที่ได้มอบมรดกให้กับคนรุ่นหลัง

ถ้าหากคนอยุธยาเข้าใจความสำคัญของภูมิทัศน์ว่าสร้างทั้งความสวยงามน่าภาคภูมิใจและโอกาสในการทำมาหากิน ก็จะยินดีให้ความร่วมมือหากภาครัฐจะตื่นจากหลับและให้ความสนใจกับภูมิทัศน์

ทำไมจึงต้องเน้นให้ภาครัฐเป็นผู้นำ

ก็เพื่อความมีระเบียบและกลมกลืนนั่นเอง

นึกถึงภาพชุมชนในซอยของท่านสำหรับท่านที่ยังอยู่ในซอย เจ้าบ้านแต่ละท่านอยากให้ซอยสวย บางท่านนำกระถางต้นไม้ดอกไม้ที่เหลือๆ จากในบ้านมาตั้งหน้าบ้าน บางท่านแขวนไว้บนกำแพง ปล่อยให้เหี่ยวเฉาระเกะระกะ แต่กำแพงบ้านเป็นตะไคร่จับกระดำกระด่าง

รัฐต้องออกพระราชบัญญัติภูมิทัศน์ให้อยุธยา แล้วเริ่มร่างแผนแม่บท วางวัตถุประสงค์ และแผนงานที่มีกรอบเวลาการทำงาน รัฐสามารถดึงเอกชนที่เป็นผู้เชียวชาญเข้ามาร่วมร่างแผน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสวน

เมื่อสรรค์สร้างชุบชีวิตภูมิทัศน์ให้สวยงามแล้ว มันก็จะเป็นของคนอยุธยาทุกคน โอกาสในการสร้างรายได้จะเพิ่มขึ้น คนอยุธยาต้องได้รับการแนะนำให้รู้จักการสร้างมูลค่าด้วยมุมมองของสุนทรียะ ปลูกฝังรุ่นลูกหลานให้รักและรู้คุณค่าของอยุธยา ให้ความร่วมมือด้านการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนของตนเองให้กลมกลืน ส่งเสริมภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองมรดกโลก

คนอยุธยาจะลุกขึ้นมาร่วมมือกันทั้งหมดนี้ก็เมื่อรู้สึกมีความปลอดภัยว่าต่อแต่นี้ไปน้ำจะไม่ท่วมอยุธยา