เวลาธุรกิจอิทธิพลไทย (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อันเนื่องมาจากธุรกิจใหญ่ทรงอิทธิพล หรือเรียก “ขาใหญ่” กับความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ในช่วงที่ผ่านๆ มา

“ชิ้นส่วน” ต่างๆ นั้น พอจะประกอบเป็นรูปเป็นร่างค่อนข้างชัดเจน อาจเป็นภาพหนึ่งซึ่งสะท้อนพัฒนาการสังคมธุรกิจไทย จากปรากฏการณ์ธุรกิจใหญ่ มีพื้นที่และโอกาสพิเศษ บางคนอาจจะเรียกว่า อยู่ใน Comfort zone

จนมาถึงกระแสและปฏิกิริยาซึ่งแรงขึ้น ว่าด้วยการปรับโครงสร้าง ปรับสมดุลทางสังคม

 

โมเดล “ประชารัฐ”

แนวความคิด “ประชารัฐ” ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง พัฒนาเป็นแผนการ ดูเป็นจริงเป็นจังช่วง 3 ปีเต็ม ถือเป็นผลผลิตรัฐบาลเผด็จการทหาร ผลพวงมาจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด (ปี 2557) ภาพนั้นเชื่อมโยง “สานพลังประชารัฐ” องค์กรจัดตั้ง เคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เมื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้สามารถข้ามผ่านจากกาลเวลา จากการเมืองระบบเปิดสู่ระบบปิดอย่างเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (19 สิงหาคม 2558-14 กรกฎาคม 2563)

เวลานั้น สื่อญี่ปุ่น Nikkei ถึงกับตีความปาฐกถาสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในช่วงเพิ่งขึ้นคุมนโยบายเศรษฐกิจ ที่เน้น “จะให้ความสำคัญกับคนจน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)” ว่าเป็นการกลับมาของนโยบายเศรษฐกิจยุคทักษิณ ชินวัตร (“Return to Thaksinomics” Nikkei Asian Review, August 28, 2015)

ในที่สุด ภาพแท้จริงกระจ่าง ผ่านโครงสร้าง “สานพลังประชารัฐ” แม้อาจเชื่อมโยงและสะท้อนบทเรียน ย้อนรอยเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว กับโมเดล คณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน (กรอ.) สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (2523- 2531) ยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ว่าด้วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ ร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแห่งรัฐ

แต่ “…เมื่อมองผ่าน ‘สายสัมพันธ์’ สะท้อนความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยุค กรอ.เชื่อมโยงกับองค์กรลักษณะ ‘ตัวแทน’ ภาคเอกชนที่ก่อตั้งขึ้น ในรูปสภา หรือสมาคม ขณะที่โครงสร้างสานพลังประชารัฐ มุ่งสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่…” ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ (ปี 2561) ความสัมพันธ์นั้นขยายไปมากกว่าที่คิด ถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2562 ที่มาพร้อมกับยุทธศาสตร์ 20 ปี

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกัน เมื่อแปลงร่างกลายพันธุ์มาเป็นพรรคพลังประชารัฐ ก่อตั้งขึ้น (12 เมษายน 2561) เป็นไปตามแผนสืบทอดอำนาจต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ศูนย์กลางกรุงเทพฯ

บางปรากฏการณ์ซึ่งมีมิติสัมพันธ์กัน ว่าด้วย “ขาใหญ่” กับแผนการทางธุรกิจ เพื่อพลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ ครั้งสำคัญ อยู่ในช่วงเวลาสำคัญ คาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ (การชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ปี 2556) ตามมาด้วยการรัฐประหาร และผลพวง เป็นบริบทเดียวกันที่กล่าวไว้

ปี 2556 กลุ่มสยามพิวรรธน์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ใหม่ (ภายใต้ร่างเก่า) เปิดโฉมอย่างน่าเกรงขาม ด้วยแผนการผนึกพลัง “สยามเซ็นตอร์ สยามดิสคัฟเวรี่ และสยามพารากอน” แล้วประกาศความร่วมมือครั้งใหญ่กับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เปิดโครงการใหญ่ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาแบบผสม (Mix-used) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนยกระดับกรุงเทพฯ เทียบเคียงกับเมืองใหญ่ริมน้ำในระดับโลก

จากนั้น ดีล ดุสิตธานี-เซ็นทรัล มีขึ้นตามมา (ต้นปี 2560)โครงการใหญ่คล้ายๆ กัน ณ หัวถนนสีลม ใจกลางย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ เป็นเรื่องตื่นเต้นเมื่อเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ซึ่งทับซ้อนกันบางระดับร่วมมือกันได้ และโครงการใหญ่กว่านั้นตามมาติดๆ (ปี 2560 เช่นกัน) กลุ่มทีซีซี เปิดโครงการ One Bangkok บนที่ดินกว่า 100 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่าแสนล้านบาท พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) เช่นกัน

“ในภาพที่ใหญ่ขึ้น อาจตีความได้ว่ากรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้น… สะท้อนสถานการณ์ใหม่ ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม” ผมเคยว่าไว้ (บางตอนจาก “บางปรากฏการณ์ในกรุงเทพฯ สะท้อนพลวัตที่มีพลังอย่างล้นเหลือ” มติชนสุดสัปดาห์ เมษายน 2560) เทียบเคียง 1-2 ทศวรรษก่อนหน้า โดยเฉพาะในภาวะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจถูกสั่นคลอนอย่างหนัก “…หลังวิกฤตการณ์ปี 2540 พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้นๆ…ระบบเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทไทย กำลังพัฒนาไปอย่างซับซ้อน และมีแรงดึงดูดมากกว่าครั้งใดๆ”

และอีกครั้ง กรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ กินเวลาเกือบครึ่งปี (กลางปี 2554-ถึงต้นปี 2555)

 

เข้าตลาดหุ้น

ช่วงเวลานั้นน่าสนใจยิ่ง เมื่อเครือข่ายธุรกิจใหญ่ เดินแผนทำนองเดียวกันอย่างคึกคัก เป็นปรากฏการณ์มองโลกในแง่ดี จากปลายปี 2561 ช่วงรัฐบาลทหารกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (24 มีนาคม 2562) แล้วตามมาด้วยรัฐบาลใหม่ต่อเนื่องอำนาจเดิม (กรกฎาคม 2562)

เรื่องราวตื่นเต้นเป็นลำดับ เริ่มต้นขึ้นเมื่อธุรกิจครอบครัวกว่าศตวรรษ ตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น เปิดฉากโดยตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ OSP โดยการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) มีมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2561

อีกกรณีหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลอย่างครอบคลุม-เครือทีซีซี เปิดฉากด้วยแผนการเข้าตลาดหุ้นเป็นกรณีครึกโครม บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( ตุลาคม2562) ด้วยแผนการเดินหน้าอย่างรวดเร็วทันใจ ขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) สามารถระดมเงินจากสาธารณะชนได้ 48,000 ล้านบาท

AWC-ธุรกิจซึ่งถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ด้วยเครือโรงแรมนับสิบแห่งและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งกิจการค้าปลีก รูปแบบต่าง ๆ และธุรกิจอาคารสำนักงานอีกนับ 10 แห่งเช่นกัน

ตามมาอย่างกระชั้น ทั้งในฐานะธุรกิจซึ่งเป็นคู่แข่งกัน และเครือข่ายธุรกิจคล้ายๆ กัน บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต่อเนื่องกัน (พฤศจิกายน 25/62) กิจการซึ่งขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปี

ต่อเนื่องมาจาก บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเกิดขึ้นก่อนหน้าเพียง 5 ปี (2557) และเป็นที่รู้กันว่า ปรากฏการณ์ สิงห์ เอสเตทในปี 2557 คือการตัดสินใจครั้งสำคัญในแผนการแตกแขนงธุรกิจ ในช่วงเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งยึดมั่นธุรกิจดั้งเดิม ภายใต้ธุรกิจครอบคัวตระกูลภิรมย์ภักดีมายาวนานก่อนหน้านั้น

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ผู้นำค้าปลีกไทย ภายใต้ธุรกิจครอบครัว ตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กว่า 7 ทศวรรษ นำธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดเข้าตลาดหุ้น (กุมภาพันธ์ 2563)

อีกกรณีไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ กิจการในเครือขายธุรกิจเก่าแก่ เดินหน้าเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นราว 4 ทศวรรษ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ในฐานะธุรกิจหลัก หนึ่งในสามของเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างครบถ้วน เมื่อปลายปี 2563

เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง เมื่อธุรกิจใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์สังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยแผนการเป็นขบวนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เลยก็ว่าได้ •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com