‘พระพุทธบาทสตรีทอาร์ต’ โครงการต้นแบบ การกระจายอำนาจปกครองไปสู่ท้องถิ่น

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

www.facebook.com/saraburipeople2022

 

‘พระพุทธบาทสตรีทอาร์ต’

โครงการต้นแบบ

การกระจายอำนาจปกครองไปสู่ท้องถิ่น

 

ทิศทางการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงเมืองในศตวรรษที่ 21 มีแนวโน้มที่บทบาทของภาคประชาชนจะยกระดับขึ้น

จากเดิมที่เป็นผู้ตามและคอยรับการพัฒนามาจากข้างบน

เปลี่ยนมาเป็นประชาชนผลักดันและร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน สังคม เมือง และประเทศ มาตั้งแต่ต้น

ทิศทางเช่นนี้ไมได้ปรากฏให้เห็นแต่เพียงที่ใดที่หนึ่ง แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านการแพร่กระจายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุคใหม่ที่ทำให้เสียงของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ได้ง่าย

ความต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาท้องถิ่นใหมู่ประชาชนนี้มีมาช้านานแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองมากนักในยุคอะนาล็อก

จนกระทั่งเกิดเครื่องมือหรืออุปสรณ์การสื่อสารต่างๆ ในยุคดิจิทัล ซึ่งหมายรวมไปถึงโซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่นต่างๆ อันทำให้ผู้คนสามารถรวมตัวกันได้ง่ายดายและรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก

ผลที่ตามมาก็คือเกิดการผลักดันโครงการต่างๆ จากภาคประชาชนขึ้น

ทำให้มองเห็นทิศทางที่เป็นไปได้ในอนาคตว่าภายภาคหน้าภาคประชาชนจะขยับขึ้นมาเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนา เสียมากกว่าที่จะเป็นภาครัฐล้วนๆ แบบในอดีต

ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “พระพุทธบาทสตรีทอาร์ต” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน และประชาชนจำนวนมากในการสร้างงานศิลปะบนผนังกำแพงตามจุดต่างๆ 14 จุดทั่วเมืองพระพุทธบาท จ.สระบุรี เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ 400 ปี พระพุทธบาท สระบุรี ในปี พ.ศ.2567 โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองครั้งสำคัญทั้งในระหว่างกระบวนการทำงานและผลงานที่ออกมา

ในฐานะที่ผมเองเป็นคนริเริ่มโครงการนี้และพยายามผลักดันให้สำเร็จตามแผน จึงขอแบ่งปันประสบการณ์นี้คร่าวๆ ในฐานะที่เป็นการทำงานจริง “นอกห้องเรียนรัฐศาสตร์” ซึ่งน่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อนักเรียนรัฐศาสตร์ ตลอดจนผู้สนใจการพัฒนาจากท้องถิ่นต่อไป

แนวคิดของโครงการนี้มีที่มาจากหลากหลายมิติ ตัวอย่างเช่น ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งในที่นี้เกี่ยวข้องกับการคมนาคมด้วย นั่นคือพระพุทธบาทเป็นทางผ่านของเมืองลพบุรีและเมืองสระบุรี เมื่อขับรถบนเส้นทางถนนพหลโยธิน คนที่มาจากลพบุรีจะต้องผ่านพระพุทธบาทเสียก่อน

เช่นเดียวกับคนที่มาจากสระบุรีต้องผ่านพระพุทธบาทก่อนไปลพบุรีเช่นกัน

แต่การที่ระยะทางระหว่างสองจังหวัดนี้ห่างกันเพียง 40-50 กิโลเมตรเท่านั้น

ดังนั้น รถราที่สัญจรผ่านมาจึงไม่มีความจำเป็นต้องหยุดแวะพักที่พระพุทธบาทเลย

พอขยับมาที่เส้นทางรถไฟ เดิมทีพระพุทธบาทเคยเป็นสถานีรถไฟปลายทางของทางรถไฟเล็กที่มาจาก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่เส้นทางนี้ล่มสลายไปตั้งแต่สมัยที่ถนนพหลโยธินตัดผ่านมาถึง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ความรุ่งโรจน์และล่มสลายของทางรถไฟเล็กสายพระพุทธบาท” https://www.matichonweekly.com/column/article_647996)

เมื่อทางรถไฟสายนั้นถึงกาลอวสาน พื้นที่ตลอดแนวทางรถไฟก็เลยพลอยซบเซาไปด้วย ส่วนในอนาคต รัฐบาลมีแผนการที่จะสร้างทางรถไฟความเร็วสูงอย่างน้อย 2 สาย คือสายอีสานไปสู่หนองคาย และสายเหนือไปสู่เชียงใหม่

ซึ่งผลของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงตามเส้นทางนี้จะทำให้เกิดความเจริญเติบโตขึ้นอย่างมากในเมืองที่มีสถานีอยู่ อีกทั้งยังทำให้การทำงาน เรียนหนังสือ ประกอบธุรกิจต่างๆ ของผู้คนในเมืองที่มีสถานีได้รับความสะดวกสบายขึ้นอย่างมาก อันนำมาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สระบุรีซึ่งเป็นสถานีหนึ่งในเส้นทางสู่ภาคอีสาน กับลพบุรีอันเป็นสถานีหนึ่งในเส้นทางไปสู่ภาคเหนือ ย่อมได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้ไปเต็มๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองมาที่เมืองรอบข้าง พระพุทธบาทซึ่งอยู่ตั้งตรงกลางระหว่างลพบุรีกับสระบุรีกลับถูกโดดเดี่ยวและหลุดออกจากการคมนาคมดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์อนาคตได้ไม่ยากว่าในวันข้างหน้าพระพุทธบาทจะเติบโตอย่างเชื่องช้า อาจหดเล็กลง หรือไม่ก็เท่าเดิม

ในขณะที่เมืองที่อยู่ขนาบข้างอย่างลพบุรีกับสระบุรีจะโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

ผลที่ตามมาก็คือจำนวนประชากรในพระพุทธบาทอาจลดลง หรือคงเหลือแต่ผู้สูงวัยเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่คนหนุ่มสาวและวัยทำงานจะออกจากเมืองเพื่อไปเรียนหนังสือ หางานทำ แสวงหาชีวิตกับโอกาสที่ดีกว่า

และเป็นไปได้ว่าจะไม่หวนกลับมาอาศัยอยู่ในเมืองเป็นการถาวรอีกเลย

หรือหากพิจารณาในมิติอื่น อย่างเช่น ในเชิงการท่องเที่ยว พระพุทธบาทที่มีรอยพระพุทธบาทเป็นปูชนียสถานสำคัญที่ดึงดูดทั้งผู้จาริกแสวงบุญและนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามามากมายในสมัยก่อน

แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมักโฉบแวะเข้ามาเพื่อสักการบูชาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ก่อนเดินทางต่อไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป

เมื่อน้อยคนจะหยุดแวะหรือพักค้าง เมืองจึงแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรในเชิงเศรษฐกิจเลย แม้มีรายได้เข้ามาอยู่บ้างก็ตาม

เผอิญว่าในช่วงล็อกดาวน์โควิดที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสกลับมาอยู่บ้านที่พระพุทธบาทเป็นหลัก เลยได้สร้างเพจ “ฅน หระ รี – Saraburi People” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของข่าวสารข้อมูลในถิ่นฐานบ้านเกิด

ซึ่งต่อมาก็พบว่ามีผู้คนที่มีศักยภาพและจิตสำนึกที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงเริ่มชักชวนแต่ละคนเข้ามาทำโครงการร่วมกัน

โดยหันมาจับกิจกรรมทางศิลปะก่อน เพราะเห็นว่ามีความโดดเด่นและมีนัยหลายอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจได้

จนท้ายที่สุดเกิดเป็นโครงการพระพุทธบาทสตรีทอาร์ตขึ้นมา ด้วยการดึงจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยที่ปกติแล้วจะอยู่แต่ภายในโบสถ์วิหารให้ออกมาโลดแล่นไปทั่วทั้งเมือง ผ่านการแปลงรูปลักษณ์ให้กลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ผสมผสานจิตรกรรมไทยเข้ากับกราฟิตี้สมัยใหม่

โครงการนี้เคยยื่นของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

แต่นั่นมิอาจยุติความใฝ่ฝันและความปรารถนาอันแรงกล้าในการพัฒนาครั้งนี้ได้

ทุกวันนี้โครงการที่มีจุดเริ่มต้นที่งบประมาณ 0 บาท ดำเนินมาได้จนถึงวันนี้จากความร่วมมือกันทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ

เช่น เทศบาลเมืองพระพุทธบาท สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี คณะครุศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน คือ กลุ่มฅน-หระ-รี ที่ผมตั้งขึ้นมาเพื่อทำโครงการพัฒนาเมืองรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ ภายใต้ชุดโครงการใหญ่ที่ชื่อว่า “Saraburi Rising” อันมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน หรืออุปถัมภ์อยู่ในด้านต่างๆ อีกมากมาย เช่น อำเภอพระพุทธบาท มูลนิธิอาทรประชานาถของพระราชวิสุทธิประชานาถ หรือหลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ เป็นต้น

เมื่อถึงจุดสิ้นสุดโครงการในเดือนสิงหาคม 2566 ทุกคนที่เข้ามาในเมืองพระพุทธบาทจะได้เห็นงานศิลปะตามผนังกำแพงทั่วทั้งเมืองผูกโยงกันเป็นแผนที่ขนาดใหญ่ ถักร้อยเข้าด้วยกันแทนความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในเมือง

ไม่ต่างอะไรกับการผสมสีที่มีความแตกต่างหลากหลายและไม่มีราคามากมาย ให้กลายมาเป็นภาพวาดเดียวกันอันสวยสดงดงามและมีมูลค่าขึ้นมาได้

ทั้งนี้ ทางโครงการได้ผ่านการทำงานมาหลายรอบแล้ว รอบต่อไปในวันที่ 3-5 มิถุนายน 2566 จะมีศิลปินกว่า 50 ชีวิตเข้ามาในพื้นที่เพื่อรวมตัวทำงานศิลปะอย่างพร้อมเพรียงกัน ในภารกิจเนรมิตภาพวาดขึ้น 10 จุดทั่วทั้งเมือง

โดยประกอบไปด้วยทีมศิลปินจากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายศิลปะจากลพบุรี และกลุ่มมหาลัยแก่งคอย เข้ามาร่วมทำงานกับศิลปินท้องถิ่นของพระพุทธบาท

ผู้ที่สนใจสามารถแวะมาเยี่ยมเยียน ชมการทำงาน หรือให้กำลังใจได้ในโซนหลัก 3 โซนคือ

1) ตลาดนิคมสร้างตนเอง

2) ตลาดใน

และ 3) โรงพยาบาลพระพุทธบาท หรือหากต้องการสมทบทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ ของโครงการโดยตรงก็สามารถบริจาคได้ที่บัญชีธนาคารออมสิน สาขาพระพุทธบาท ชื่อบัญชี “400 ปี พระพุทธบาท สระบุรี” เลขที่ 020417018114 ตามกำลังศรัทธา หรือบริจาคสีและอุปกรณ์ในการทำงานวาดภาพได้ทางข้อความในเพจ “ฅน หระ รี – Saraburi People” www.facebook.com/saraburipeople2022 หรือโทร. 09-0987-8296 (กฤต) และ 09-8764-0272 (เมย์)

หากมองผิวเผิน โครงการพระพุทธบาทสตรีทอาร์ตก็เป็นกิจกรรมทางศิลปะทั่วไป ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็น

แต่เนื้อแท้แล้วโครงการนี้มีเจตนารมณ์ว่าต้องการเป็นต้นแบบของการกระจายอำนาจปกครองไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งปกติมักมุ่งเน้นแก้กฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปลดล็อกอำนาจปกครองให้แก่ชุมชนแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังขาดการสร้างรากฐานของท้องถิ่นให้มีศักยภาพเข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น และมีความพร้อมในการปกครองดูแลตนเองอย่างเต็มที่ไปด้วย

การทำโครงการในลักษณะนี้ลึกๆ แล้วจึงนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นด้วยตัวของประชาชนเองให้มีรูปแบบและมาตรฐานที่ทัดเทียมกับระดับชาติหรือนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้การประเมินความสำเร็จของโครงการที่แท้จริงจึงไม่ใช่ภาพวาดทางศิลปะที่ปรากฏออกมาให้เห็นเท่านั้น

แต่คือการสร้างตัวแบบของการพัฒนาที่จะเป็นรากฐานของการเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนในสังคมประชาธิปไตยให้เป็นที่ปรากฏต่อไปในอนาคต

ตรงนี้ต่างหากคือนวัตกรรมของการพัฒนาสังคมและกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นที่เป็นของใหม่แบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน