33 ปี ชีวิตสีกากี (22) | ประสบการณ์ฝึกปืนเก่าสมัยสงครามโลก ยังไม่ทันยิง…กระสุนลั่นไปแล้ว

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ความเป็นนักเรียนใหม่สิ้นสุดลงหลังจากฝึกกันมาอย่างหนักหน่วง

และนักเรียนใหม่จะเปลี่ยนการแต่งกายจากเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว มาเป็นชุดศึกษาซึ่งเป็นชุดเชิ้ตคอพับสีกากี แขนสั้น ปักป้ายชื่อบนผ้าสีขาวเหนือกระเป๋าด้านซ้ายมือ คอปกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ติดอาร์มเครื่องหมายเงิน ตราโรงเรียนนายร้อยตำรวจ บนอินทรธนู ทั้ง 2 ข้างจะติดเครื่องหมายเงิน คือ เครื่องหมายตัวอักษร ร อยู่บนหมายเลขไทย ๑, ตัว ร หมายถึงกองร้อย ส่วนหมายเลข คือ กองร้อยที่ 1 หรือชั้นปีที่ 1

หากใครได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าตอน ซึ่งมีอยู่ 6 ตอน จะมีเครื่องหมายมงกุฎ ไม่มีรัศมี ประดับอยู่เหนือตัว ร ทั้ง 2 ด้าน

เครื่องหมายหัวหน้าตอน จะคล้ายกับเครื่องหมายผู้ช่วยผู้บังคับหมวด และหัวหน้านักเรียน

ที่ต่างกัน คือเครื่องหมายผู้ช่วยผู้บังคับหมวด และหัวหน้านักเรียน จะเป็นมงกุฎมีรัศมี และประดับเหนือตัว ร และสวมหมวกมีสายรัดคางเป็นสีกองร้อยคาดบนกะบังหมวก

เมื่อเข้ามาเรียนในช่วงแรกมีการแต่งตั้งหัวหน้าตอนของกองร้อยที่ 1 ตามลำดับหมวด ดังนี้

หัวหน้าตอน หมวดที่ 1 นรต.พิทยา ศิริรักษ์

หัวหน้าตอน หมวดที่ 2 นรต.จัตุพันธ์ วรรณภักษ์

หัวหน้าตอน หมวดที่ 3 นรต.สุพจน์ อาวุโสสกุล

หัวหน้าตอน หมวดที่ 4 นรต.พร้อมพันธ์ อุตมัง

หัวหน้าตอน หมวดที่ 5 นรต.ปณิธาน สันติเพชร

หัวหน้าตอน หมวดที่ 6 นรต.ชาติพงษ์ วามะสิงห์

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกประธานรุ่น นรต.35

ประธานรุ่น 35 คือ นรต.ทศเทพ นิวาศะบุตร เป็นบุตรของนายทหารอากาศ ตำแหน่งเจ้ากรมการบินพลเรือน

เหรัญญิก คือ นรต.พรหมธร ภาคอัต เป็นบุตรนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่

สำหรับทศเทพ รับราชการก้าวหน้าด้วยความรวดเร็ว จนเติบโตเป็นรองผู้บังคับการ แต่ชีวิตหักเห ได้ลาออกจากราชการ และไปทำงานกับเอกชน จนล่าสุดได้ใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ ปวารณาว่าจะอยู่จนตลอดชีวิต

ทศเทพเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยสมกับความเป็นสุภาพบุรุษแห่งสามพรานอย่างแท้จริง เมื่ออยู่ชั้นปีที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ

ส่วนพรหมธร ก็เช่นกันไม่แตกต่างจากทศเทพ และรับราชการก้าวหน้า จนเป็นพลตำรวจเอก

 

นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 ได้เปลี่ยนมาแต่งชุดศึกษาพร้อมๆ กับแต่งชุดเล็ก คือ แต่งเครื่องแบบชุดปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี ผูกไท้ดำ เมื่อเดินทางออกนอกโรงเรียน ทางโรงเรียนอนุญาตให้มีการจัดงานฉลองเครื่องแบบด้วย

โดยพิธีฉลองเครื่องแบบ จัดให้มีการฉายภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องสิงห์รถบรรทุก หรือ คอนวอย ที่โรงภาพยนตร์แมคเคนนา พร้อมกับมีการแสดงดนตรีคณะแกรนด์เอ็กซ์ ที่กรุงเทพฯ และได้แต่งเครื่องแบบเหมือนๆ กับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2, 3 และ 4

และยังมีพิธีสวมแหวนรุ่นของ นรต. และมอบกระบี่สั้น ในวันตำรวจ คือวันที่ 13 ตุลาคม 2521 สำหรับใช้ประกอบชุดปกติขาว หรือชุดคอแบะ

เมื่อการสอบเทอมแรกผ่านพ้นไป นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 จะต้องใช้เวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-21 พฤศจิกายน 2521 ไปทำการฝึกภาคสนาม หลักสูตรชัยยะขั้นพื้นฐาน (นรต.) ที่กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร 3 ค่ายสุรนารายณ์ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา

และเป็นครั้งแรกที่ในชีวิตของผมได้มาเหยียบแดนดินถิ่นอีสาน นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 ทุกคนได้เดินทางไปกราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม หรือย่าโม ของชาวโคราชและชาวไทย

 

หลังจากนั้นก็มีพิธีรับน้องเข้าค่าย อย่างสมน้ำสมเนื้อว่า ชาวสามพรานแข็งแกร่งแค่ไหน ผลคือแค่สะบักสะบอมไปตามๆ กัน ทั้งฝึกทั้งเรียนในชั้นเรียน โดยครูฝึกที่เชี่ยวชาญทางด้านอาวุธต่างๆ เรียนรู้การใช้อาวุธ ระเบิด การวางระเบิด ด้วยวิธีดัดแปลง

และหลังจากที่เมื่อครั้งเป็นนักเรียนใหม่ได้ถือปืน ปลยบ.88 ท่าเฉียงอาวุธ ทั้งเช้ายันค่ำ ยามค่ำคืนเมื่อเข้ายาม ก็มีอาวุธประจำกายอยู่เคียงข้าง คราวนี้จะได้ใช้กระสุนจริง ยิงปืน ปลยบ.88 เสียที

ซึ่งการยิงนั้น แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาวุธปืนชนิดนี้ มีความแม่นยำมากเพียงใด และเสียงปืนก็ดังข่มขวัญข้าศึกได้ดีนัก

มีการฝึกยิงปืนชนิดต่างๆ มากมาย ซึ่งเมื่อก่อนนั้นศึกษาเรียนรู้แต่ในตอนเรียน การได้สัมผัสและฝึกยิงทำให้เกิดประสบการณ์สร้างความมั่นใจขึ้นไปเรื่อยๆ รวมทั้งการได้ยิงด้วยกระสุนจริง ในการยิงปืน M16, HK 33, ปืนนาโต้, M79, ปืนลูกซอง, ปืนคาร์บิน, ปืนกลมือ 02 หรือบางทีเรียกว่า ปกม.02 เป็นปืนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอันตรายมาก

อันตรายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าปืนนี้มีประสิทธิภาพที่น่ากลัว

แต่อันตรายเพราะความเก่าและเสื่อมประสิทธิภาพ คือ เมื่อบรรจุกระสุนเสร็จ ปลดห้ามไก ยังไม่ทันยิงเลย ลูกกระสุนลั่นออกไปแล้ว

หรือบางครั้งเหนี่ยวไกทีเดียวกระสุนก็พุ่งออกไป พอเอานิ้วออกจากไก ปืนก็ยังไม่ยอมหยุด มันก็ยิงของมันเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันหยุดของมันเอง หรือยิงจนกระสุนปืนหมดถึงจะหยุด และเป็นลักษณะแบบนี้หลายกระบอก ความอันตรายของปืนเป็นอย่างนี้

ครูฝึกได้นำไปฝึกการขว้างด้วยลูกระเบิดจริง ให้เห็นกำลังแขนสามารถขว้างให้ถูกวิธีได้ไกลและตรงเป้าหมายแค่ไหน และทราบกำลังทำลายล้างของระเบิดที่ขว้าง หลายคนผิดพลาดในการฝึก ได้รับบาดเจ็บจนนิ้วมือฉีกเพราะสะเก็ดระเบิด

ใช้เวลาเรียนและฝึกมาครบ 3 สัปดาห์ สัปดาห์สุดท้าย ครูฝึกได้นำนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 เข้าไปเรียนรู้การรบแบบกองโจรในป่าที่ อ.ปักธงชัย

สภาพพื้นที่ที่เข้าไปทำการฝึกเป็นป่าท่ามกลางภูเขาที่สลับซับซ้อน และครูฝึกบอกว่า พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายเข้ามาแทรกซึม

พวกเราได้เรียนการไต่หน้าผา การโรยตัว การข้ามหุบเขา การวางกับระเบิด การลาดตระเวน เรียนการเดินแผนที่ในป่า กำหนดจุดให้เดินไปให้เจอ หากเดินไปถูกต้องตามทิศทางที่กำหนด จะมีข้าวกลางวันให้

ถ้าใครเดินแผนที่ผิด หาไม่เจอจุดที่กำหนด ก็อดข้าวกลางวัน

ฝึกการยิงปืนกลในเวลากลางคืน การดำรงชีพในป่า และทำให้ทราบสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งคนท้องถิ่น

ขณะที่ทำการฝึกเวลานั้น อากาศหนาวเย็นมาก เพราะเป็นฤดูหนาวของเดือนพฤศจิกายน 2521 ยิ่งขณะที่อยู่บนภูเขาสูง อากาศจะหนาวเย็นยะเยือก

เมื่อจบหลักสูตร ก็กลับมาสามพรานศึกษาต่อ

 

กลับถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปรากฏว่า ผมมีอาการเป็นไข้ และคิดว่าเป็นไข้ธรรมดา ไม่กี่วันคงจะหายเป็นปกติ

แต่ไม่เป็นตามที่ผมคาดคิดเอาไว้ ผมมีอาการไข้และปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปทั่ว

ในช่วงบ่ายกำลังเรียนในตอนเรียน ผมมีอาการหนาวจนสั่นสะท้าน จึงตัดสินใจขออนุญาตไปพบหมอที่กองแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการ

หมอได้ถามอาการ แล้ววัดปรอท หมอบอกว่า ผมเป็นไข้มาลาเรีย ผมได้ยินก็ตกใจ และถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคงจะถูกยุงก้นปล่องกัดโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ผมไปฝึกในป่าที่ อ.ปักธงไชย จ.นครราชสีมา ถือเป็นของฝากจากการฝึกภาคครั้งแรกของผม

หมอจึงสั่งให้นอนพักที่กองแพทย์ วันรุ่งขึ้นได้ส่งตัวผมไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตำรวจ

ผลการตรวจปรากฏว่าพบเชื้อมาลาเรียจริงๆ และส่งตัวผมกลับมารักษาต่อที่กองแพทย์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

อาการในขณะนั้น กินอะไรแทบจะไม่ได้เลย ปากขมไปหมด และถ่ายออกมาก็เป็นสีดำๆ รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปทั่ว แทบจะทำอะไรไม่ได้

การติดเชื้อมาลาเรีย เป็นช่วงเวลาที่ทรมานตัวมากๆ ทีเดียว และอาการแบบนี้ที่เรียกว่า ไข้ป่า ใครเป็นขึ้นมาในพื้นที่ป่าที่ทุรกันดาร รักษาไม่ทันก็อาจเสียชีวิต

ผมรักษาตัวที่กองแพทย์ นานถึง 6 วันอาการไข้จึงทุเลาลง เมื่อไข้มาลาเรียหายสนิทแล้ว จึงได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กองร้อยที่ 1 เป็นครั้งเดียวที่ผมไปนอนกองแพทย์ตลอดเวลา 4 ปีที่อยู่สามพราน และไม่อยากจะไปอยู่เลยแม้จะสบายกว่าที่กองร้อยก็ตาม

กลับมาพบผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ซึ่งขณะนี้กำลังคร่ำเคร่งเตรียมตัวสอบเทอมสุดท้าย และเลือกสถานีตำรวจเพื่อฝึกงานตามหลักสูตรอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจบการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อที่จะเป็นนายตำรวจต่อไป

ดังนั้น ระเบียบวินัย ความเคร่งครัด ตามกฎระเบียบยังคงเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เพียงแต่การทำโทษนั้นได้เพลาลงมาอย่างเห็นได้ชัด นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 เริ่มได้นอนเป็นปกติมากขึ้น เว้นเสียแต่ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดลุกขึ้นมาตรวจดูในยามดึก บางคนซุ่มซ่าม ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถูกถูโรงเดี่ยวไป

ส่วนการทำโทษรวมนั้นมีน้อยครั้ง บรรยากาศความเป็นพี่เป็นน้องมีมากขึ้น จนเริ่มรู้สึกอาลัยต่อรุ่นพี่ ที่จะต้องจบออกไปและอาจจะไม่ได้พบเจอกันอีกเลย

ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกยินดีกับรุ่นพี่ที่จะสำเร็จการศึกษา ได้ติดดาวบนบ่า

ในความทรงจำของผม ผมยังจำได้ว่า ขณะนั้นผมได้เข้ายามที่ตึกเรียนใหม่ ยังเห็นและได้ยิน นรต.ปัญญา มาเม่น ซึ่งเป็นหัวหน้าตอนและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้งของนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 32 ท่องตำรา ตะโกนเสียงดังมาก

ช่วงเวลานั้น ซึ่งชั้นปีที่ 4 ใกล้จะสอบเทอมสุดท้ายเต็มที มักจะเดินกลับจากไปดูตำรับตำราที่ตึกเรียนใหม่ ผ่านมาหลังกองร้อยที่ 1 เพื่อไปรับประทานอาหารที่ตึกโภชนาคาร

พวกรุ่นพี่ปี 4 มักจะสั่งให้กองร้อยที่ 1 อวยพรพี่หน่อยสิ เอาตะโกนขึ้นพร้อมๆ กัน…ขอให้พี่ๆ โชคดี ขอให้พี่ๆ สอบได้…

วันเวลาไม่เคยรอใคร แล้ววาระแห่งการจากลาสถาบันแห่งนี้ก็มาถึง รุ่นพี่ชั้นปีที่ 4 สอบเทอมสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางไปฝึกงานที่สถานีตำรวจ ตามที่แต่ละคนได้เลือกเอาไว้ ห้วงระยะเวลานี้จึงมีทั้งยินดีและอาลัยที่จะต้องจากไป ทั้งอารมณ์ความรู้สึก จึงเข้ากับเพลงประจำสถาบันเสียจริงๆ

ราตรีสุดท้าย ใจรอนๆ จำใจจร ขอลาไปก่อน เจ้าเอย

ลาก่อน สามพราน

ลาก่อน สามพราน

ลาก่อน สามพราน

ที่รัก เอย…