รหัสนัยไทย-เมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…พรรคก้าวไกลโปรชาติตะวันตกและพวกเขาจะช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้าย…เราต้องเฝ้าดูชายแดนและได้ข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขา ขบวนการของพวกเขาและกิจกรรมของพวกเขา…”

รองพลเอก อาวุโส โซ วิน (Soe Win) เมียนมา

 

นี่เป็นคำโปรยคำกล่าวของ รองพลเอกอาวุโส โซวิน นายพลที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 2 ของประเทศเมียนมา ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Irrawaddy 22 พฤษภาคม 20231

นี่แสดงอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ กล่าวได้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อการเมืองไทย

รัฐบาลทหารเมียนมามีแหล่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเมืองและภายในกองทัพไทย ในกรณีนโยบายของพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้รับชัยชนะการเลือกตั้งไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา น่าสนใจ รัฐบาลทหารเมียนมาเขามีคำแถลงของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรื่องเกี่ยวกับเมียนมาเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมาอีกด้วย

ผมได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ของผมหลายคน พวกเขามีความเห็นต่อปฏิกิริยาของนายพลเมียนมาท่านนี้ว่า “…คงช่วยทหารไทย ไม่ก็เกรงว่าจะเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ในเมียนมา…”

ผมเห็นด้วยกับความเห็นของเพื่อนๆ แล้วก็คิดต่อไป นายพลผู้ทรงอำนาจสูงสุดอันดับ 2 ของเมียนมา รัฐเผด็จการที่ปกครองเมียนมาอยู่นี้ หวาดกลัวอะไรกับคำกล่าวในการหาเสียงและนโยบายแรกๆ ของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เราควรดูกันในรายละเอียดอาจทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น

 

ไทย-เมียนมาในมุมของพรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วิจารณ์ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเรื่องนโยบายของประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมา ที่รัฐบาลเมียนมาโจมตีด้วยอาวุธต่อพลเรือน รวมทั้งทิ้งระเบิดหมู่บ้าน โรงเรียน สถานพยาบาล รวมทั้งกองกำลังกลุ่มต่อต้าน

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Irrawaddy พิธาได้กล่าวว่า

“…เราต้องผลักดันไปข้างหน้าให้ 5 ข้อฉันทามติของอาเซียนต่อเมียนมาบรรลุเป็นจริง… อาเซียนได้เสนอฉันทามติ 5 ข้อต่อเมียนมาเมื่อปี 2021 แต่เมียนมาไม่ได้สนใจแผนงานและฉันทามติ 5 ข้อนี้ โดยยังเข่นฆ่าพลเรือนเมียนมาต่อไป…” พิธากล่าวว่า

“…เราจะเริ่มต้นเดินทางเพื่อมนุษยธรรม โดยเฉพาะกฎหมายเมียนมา (Myanmar Act) ที่ผ่านรัฐสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา เราสามารถเริ่มต้นทำงานกับชุมชนนานาชาติ เพื่อให้แน่ใจว่า เรามีสิทธิกดดันและจูงใจให้ประชาชนเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของพวกเขา (ภายในเมียนมา-ขยายความโดยผู้เขียน)…”

Myanmar Act อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาสนับสนุนไม่ใช่อาวุธต่อกองกำลังต่อต้านในเมียนมา

ความคิดและแผนงานผลักดันฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนสอดคล้องกันเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนเมียนมา โดยเฉพาะผู้คนที่สูญเสียชีวิต ครอบครัวและบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนโมคา (Macha)

พิธาได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของไทยและชุมชนนานาชาติ เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่คนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคา โดยจัดลำดับความสำคัญอันดับแรกแก่คนที่ต้องการรับความช่วยเหลือ

เขาเสนอว่า นี่อยู่ในแนวทางนโยบายต่างประเทศใหม่ของไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้ง

พิธาอธิบายเป็นนโยบายต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา2 ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา จะรวมทุกฝ่าย ทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เน้นพิจารณาด้านความมั่นคงมนุษย์ รวมทั้งมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ

สิ่งเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติด้วยมุมมองเพื่อความสำเร็จของสันติภาพโดยส่วนรวม และเพื่อความรุ่งเรืองของไทย เมียนมา อาเซียนและนอกเหนือไปกว่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังพูดถึงแผนการกลุ่มภูมิภาค (Regional bloc) เมื่อเขาได้พบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจาก World Economic Forum – WEF เน้นให้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกลปรับบทบาทของไทยมีบทบาทในอาเซียนและทำงานเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในเมียนมา

พิธาและทีมงานของพรรคก้าวไกล เสนอให้มีการจัดประชุม World Economic Forum ที่ไทยด้วย

 

ทหารเมียนมากลัวอะไร

ควรกล่าวก่อนว่า ผู้นำทหารเมียนมาควบคุมเมียนมาแทบทุกๆ ด้าน ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ด้วยทำทุกวิถีทางให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องถูกยุบ เช่น มีระเบียบว่าพรรคการเมืองจดทะเบียนไม่ทัน ไม่มีสาขามากพอตามระเบียบ ก็จะถูกยุบพรรค โดยที่รัฐบาลทหารเมียนมาห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกรูปแบบ จับแกนนำฝ่ายค้านคนสำคัญเข้าคุก ควบคุมกองทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือมากมาย ปิดหนังสือพิมพ์และสื่อทุกชนิดรวมทั้งสื่อออนไลน์ทั้งหมด

แต่หลังการทำรัฐประหาร ด้วยสังคมเมียนมาเปลี่ยนไปแล้ว คนเมียนมาเริ่มลืมตาอ้าปาก ทำมาหากิน และคนเมียนมาต่อสู้ทุกรูปแบบทั้งการประท้วงตามท้องถนน หยุดงานประท้วง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านโลกออนไลน์

ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้นำทหารเมียนมาจึงยังปกครองเมียนมาไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธทั่วประเทศ

เสียงคำรามของรองพลเอกอาวุโส โซ วิน น่าสนใจ ข้อมูลจาก Bertil Lintner นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเมียนมาที่ทำงานศึกษาเมียนมามายาวนานให้ข้อมูลนายพลโซ วิน ว่า3 เพราะตัวเขาเป็นอันตรายยิ่งกว่า ผู้นำทหารและตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย (Min Aung Hlain)

มีข้อสงสัยในเรื่องความสามารถและความชำนาญด้านการทหารในตัวเขา ต่างจากผู้นำทหารก่อนหน้าเขา

เหนืออื่นใด เขาเป็นคนไม่มีบารมี และทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวต่อสาธารณะ หรือออกทีวี เขามีอาการประหม่าและไม่แน่ใจในตัวเอง

หากว่าจะมีนายพลเข้ามาแทนที่ เมียนมาจะได้บางคนที่แข็งกร้าวยิ่งกว่า เช่น รองนายพลอาวุโส โซ วิน คนนี้

นายพลอาวุโสท่านนี้บ่อยครั้งดำเนินงานด้านต่างประเทศอย่างแข็งกร้าว รวมทั้งทำลายล้างด้วยการโจมตีทางอากาศ ทำลายฐานที่มั่นที่ถูกค้นพบของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทั้งในหมู่บ้านและในเมือง

ทหารอาจจะโดดเดี่ยวมากขึ้นจากสาธารณะกว่าแต่ก่อน และกลายเป็นสถาบันที่ถูกเกลียดชังมากที่สุดของประเทศ

ผมเลยสงสัยว่า ผู้นำทหารเมียนมามีอำนาจมากขนาดนี้ พวกเขาไม่เคยกลัวแรงกดดันใดๆ จากนานาชาติเลยหรือ

แล้วผู้นำทหารเมียนมากลัวอะไรกับรัฐบาลใหม่ของไทย

 

ทหารเมียนมาชื่นชม
การทูตเงียบงัน (Quiet Diplomacy) ของไทย

ผู้นำทหารเมียนมากลัวอะไรกับเด็กอย่างพิธาและพลพรรคในก้าวไกล

เป็นความจริง พิธาและพรรคก้าวไกลยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

เป็นความจริงที่พิธาและพรรคก้าวไกลยังเดินงานการเมืองเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองให้กับตัวพวกเขาเอง พวกเขาแห่แหนขบวนรถไปขอบคุณประชาชนในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ทำ แต่ทำชั่วประเดี๋ยวเดียวก็เลิกไป

พิธาและกลุ่มของเขาเดินทางพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ที่น่าสนใจพิธาเดินงานด้านการต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะเรื่องวิกฤตการณ์ในเมียนมาควบคู่กับงานด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคกับ WEF

ถึงแม้พิธาจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคก้าวไกลก็ยังคงผลักดันเรื่อง นโยบายต่างประเทศของไทยในแง่มุมใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเมียนมา

แน่นอนพรรคก้าวไกลจะก้าวขึ้นมาโดดเด่นในระดับภูมิภาคด้วยมิติใหม่ทั้งด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงมนุษย์และบูรณาการทางเศรษฐกิจภูมิภาค

ผู้นำทหารเมียนมาซึ่งไม่สนใจแรงกดดันจากภายนอกไม่ว่าจากสหรัฐอเมริกา อาเซียน โดยเฉพาะไทย

เกือบทศวรรษนโยบาย การทูตเงียบงันของไทย สร้างความพึงพอใจแก่ผู้นำทหารเมียนมามาก เด็กเล็ก คนแก่ ผู้หญิงเมียนมาหนีตายมาฝั่งไทยมากมายและสร้างภาระให้กับไทยเหมือนกับที่เกิดกับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จนกระทั่งดำเนินการฉันทามติ 5 ข้อ ให้ผู้นำทหารเมียนมายุติการใช้กำลังฆ่าประชาชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

อย่างน้อย ข้อเสนอใหม่ของนักการเมืองรุ่นใหม่ของไทยจะเพิ่มน้ำหนักแรงกดดันจากนานาชาติโดยเฉพาะอาเซียน ดังนั้น นิยายทฤษฎีสมคบคิดกับสหรัฐอเมริกาจึงกลับมาหลอกหลอนผู้นำทหารเมียนมา

กลัวทั้งผีและความจริง ว่างั้น


1“Myanmar Junta Alerts Troops After Move Forward Party’s Statement” The Irrawaddy 22 May 2023.

2https://twitter.com/Pita_MFP/status/1660253710856110080 24 May 24, 2023

3Bertil Lintner, “Uprisings in Myanmar-Then and Now”, The Irrawaddy 8 May 2023.