รัฐบาลก้าวไกล | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ยกระดับก้าวสู่ความสำเร็จไปอีกขั้นตอน “รัฐบาลก้าวไกล” เมื่อ 8 พรรคการเมือง ดีเดย์วันเวลา ณ วันเดียวกับวันที่ “คสช.” ทำการรัฐประหาร-ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ครบรอบ 9 ปีพอดิบพอดี จรดปากการ่วมลงนามเซ็น “เอ็มโอยู” ดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่โรงแรมคอนราด

นับหนึ่งด้วย “วาระร่วม” ของการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 8 พรรค ยึดนโยบายเป็นตัวตั้ง ด้วยอุดมการณ์ที่สอดคล้องกันในภาพรวม ไม่ยึดตำแหน่ง หรือกระทรวงเป็นจุดหมายสำคัญ การเป็นรัฐบาลผสม จำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วม

สำหรับ “เอ็มโอยูร่วม 8 พรรค” มีวาระสำคัญทั้งฝ่ายบริหาร-และนิติบัญญัติ ร่วมลงนามด้วยกันมี 23 ประการด้วยกัน

1.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ไม่บังคับ 3.ผลักดันการปฏิรูปราชการ ตำรวจ-กองทัพ-กระบวนการยุติธรรม 4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ 5.กระจายอำนาจทั้งภารกิจและงบประมาณ

6.สร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 7.แก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น โดยการสร้างวัฒนธรรมโปร่งใส 8.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำกิน 10.ยกเลิกการผูกขาดการค้า

11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ 12.ปรับปรุงโรงสร้างการผลิตไฟฟ้า 13.ใช้งบประมาณฐานศูนย์ 14.สร้างระบบสวัสดิการประชาชน 15.แก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน

16.นำกัญชาไปอยู่ในบัญชียาเสพติด 17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย 18.แก้ไขกฎหมายประมง 19.ยกระดับสิทธิแรงงาน 20.ปฏิรูประบบการศึกษา 21.ยกระดับสาธารณสุข 22.แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ 23.รักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับมหาอำนาจ

“เอ็มโอยู” 23 ข้อที่ 8 พรรคร่วมลงนาม โดยภาพรวม ครบทุกรส ตาม “หลักธรรมาภิบาล” คือยึดแนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องเที่ยงธรรม ทั้งหลักนิติธรรม-คุณธรรม ความโปร่งใส เต็มรูปแบบ ออกมาค่อนข้างเวิร์กมาก

ที่ทำเอาคอการเมืองพากันหายใจโล่ง กะบังลมทำงานปกติ ไม่ต้อง “สะอึก” มากที่สุด คือ “เอ็มโอยู” ไม่มีทั้งประเด็น “การนิรโทษกรรม-การแก้ไขมาตรา 112”

ซึ่ง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายว่า “เป็นวาระเฉพาะของแต่ละพรรค เมื่อก้าวไกลยืนยันจะเป็นนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ก็จะเป็นวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกล”

ต้องยอมรับว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง ในการพลิกเกมให้ร้ายกลายเป็นดี ตัวแปรไม่เฉพาะเอ็มโอยู 23 ข้อออกมาดูดี ยังมีวาระสำคัญคือ ช่วงที่ “นายพิธา” แถลงเกริ่นนำก่อนลงนามถึงภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า

“ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”

เมื่อวาระร่วมของ 8 พรรคการเมือง ปลอดจากเผือกร้อน หลังร่วมลงนามเท่ากับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ฝันใกล้เป็นจริง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่แค่มือเอื้อม “ความไม่เที่ยง” จากวุฒิสมาชิกน่าจะเกิดความแปรปรวนมากพอสมควร

60-70 เสียง ที่จะมาช่วยสมทบ ยกมือสนับสนุนร่วมกับ 313 เสียงจาก 8 พรรคร่วม เพื่อก้าวข้าม 376 เสียง จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีความเป็นไปได้สูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ดูทิศทางลม “พิธา” จะออกไปในแนวปลอดภัย “ส.ว.สายกลาง-สายบิ๊กจิ๋ว” อาจจะมาช่วยเติบเต็ม ฝ่าทางตันไปสู่ความสำเร็จได้ก็จริง แต่ยังมีอีกด่านช้าง กับปมถือ หุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ที่ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ไปยื่นร้องไว้ที่ กกต. ว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) กำหนดไว้หรือไม่

นักกฎหมาย-ผู้สันทัดกรณีหลายสำนัก คาดหมายกันในทิศทางเดียวกันว่า กกต.น่าจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง “ปล่อยผี” เพื่อให้เข้าเกณฑ์รับรองร้อยละ 95 ก่อน ภายในกรอบ 60 วัน ตามไทม์ไลน์วันที่ 13 กรกฎาคม แล้วจึงพิจารณาปมถือหุ้นสื่อ ตามกระบวนการการร้องเรียนหมวดคุณสมบัติของผู้สมัคร หากเข้าข่าย กกต.ต้องส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อถอดถอนออกจากการเป็น ส.ส.

กรณีที่ว่า ขั้นตอนน่าจะพิจารณาเร่งด่วนกว่ารายอื่นๆ เนื่องจากผู้ถูกร้องเรียนคือ “นายพิธา” มีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อาจจะรู้หมู่รู้จ่า ก่อนประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม

ทีนี้ต้องตามไปดู หาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เกิดสะดุดขาตัวเองหกล้ม กับปมถือหุ้นสื่อที่ชื่อไอทีวี พรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาล คอเลสเตอรอลรับประทาน ช่องทางเกิดภาวะอุดตันตามไปด้วย เพราะส่งรายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” เข้าประกวดเพียงคนเดียว

พรรคร่วมที่จับมือกัน 8 พรรค ก็ล้วนแต่ปลาซิว ปลาสร้อย ไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 5 คือต่ำกว่า 25 ที่นั่ง ล็อกกระดานปิดตาย หมดสิทธิ์เสนอชื่อ “แคนดิเดต” ขึ้นไปชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้

มีเพียง “พรรคเพื่อไทย” เจ้าเดียวที่มีสิทธิ์พลิกข้ามสายขึ้นมานั่งเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าได้ เพราะส่งเข้าประกวด บัญชีชื่อถึง 3 คน คือ “แพทองธาร ชินวัตร-เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ” ขั้วประชาธิปไตย ยึดมั่นฐานจาก 8 พรรคการเมืองกลุ่มเดิม จำนวน 313 เสียง ให้การสนับสนุน

เชื่อแน่ว่า ดราม่าว่าด้วย 376 เสียง หรือปมถือหุ้นไอทีวี ขั้วอำนาจเก่าก็มีความหวัง อยากจะกลับมาเกิดใหม่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตของพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะเหลือน้อย ถึงน้อยมาก แต่น่าจะได้รับสัญญาณอะไรจากใครบางอย่าง บางคน

คงเห็นแสงสว่างส่องไกลโพ้นที่ปลายอุโมงค์ ริบหรี่ในค่ำคืนอันมืดมิด แต่ “บิ๊กตู่” ดูเหมือนยังไม่ยอมตีหมองถอดใจเร็ว เพราะรวมไทยสร้างชาติมี ส.ส.เข้าเกณฑ์ ลงเอยตามกฎ 36 ที่นั่ง หากอีกฝั่งโดนยึดกระบี่ สามารถตีตั๋วเข้าชิงดำได้อีกครั้ง

สรุป ตราบใดที่ดนตรียังบรรเลง “บิ๊กตู่” ยังร้องเพลง และเต้นรำต่อไป