ปรากฏการณ์ ‘หยวน’ แซง ‘ดอลลาร์’ บนเวทีการค้าโลก

ไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2023 การทำธุรกรรมการเงินข้ามแดนด้วยเงินสกุล “หยวน” เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 550,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 48% ขณะที่ “ดอลลาร์” ลดลงมาอยู่ที่ 46%

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างมากของรัฐบาลจีน ในการผลักดันให้ “หยวน” ให้ยกระดับเป็นสกุลเงินสากล ผ่านการส่งเสริมการใช้ “หยวน” บนเวทีการค้าโลก

ในปี ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา อัตราการใช้ “เงินหยวน” เพื่อการชำระสินค้าและบริการโดยตรงระหว่างจีนกับต่างประเทศสูงถึง 42 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 50% เปอร์เซ็นต์

โดยในปัจจุบัน 80 กว่าประเทศทั่วโลกกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินตราต่างประเทศเป็นสกุล “เงินหยวน” มากขึ้น

ซึ่งในปี ค.ศ.2022 ต่างชาติมีการถือสินทรัพย์หุ้น และหุ้นกู้ที่เป็นหน่วย “เงินหยวน” สูงถึง 96 ล้านล้านหยวน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “อาร์เจนตินา” ประกาศจะชำระค่าสินค้านำเข้าจากจีน เป็น “เงินหยวน” แทน “ดอลลาร์” มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.2023 นี้

ก่อนหน้านี้ “บราซิล” ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับ “จีน” ในการใช้สกุล “เงินหยวน” ในการทำธุรกรรมกันโดยตรงแทนการใช้ “ดอลลาร์”

การยกระดับการใช้สกุลเงินหยวนของ 2 ชาติยักษ์ใหญ่ใน “อเมริกาใต้” ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน และชาติอื่นๆ ในภูมิภาคในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

 

บทความนี้เรามาลองวิเคราะห์กัน ว่านอกจากปัจจัยที่สหรัฐอเมริกา ใช้ “ดอลลาร์” เป็นอาวุธในการไล่อายัดสินทรัพย์ประเทศอื่นๆ ตามอำเภอใจ ที่เราจะพบเห็นประเทศ และภูมิภาคต่างๆ หันหลังให้ “ดอลลาร์” มากขึ้นเรื่อยๆ

จากความไม่ไว้วางใจสหรัฐ และตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองหาระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิมแล้ว เหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์ “หยวน” แซง “ดอลลาร์” บนเวทีการค้าโลก

การที่ “จีน” สามารถรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างยอดเยี่ยม สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีรายจ่ายขาดดุล จากระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจนแตะเพดาน รวมถึงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนจนสุดขั้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” มีอัตราการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก “จีน” มีมาตรการบริหารจัดการภาวะขาดดุลทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำคือ ประมาณ 60% ของ GDP อีกทั้ง “จีน” ยังมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้ “หยวน” มีการแข็งค่ามากขึ้นในระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายรักษาตำแหน่งฐานผู้ผลิตในตลาดโลก เพื่อยกระดับสู่ “ศูนย์กลางการค้าโลก” ด้วยเป้าหมายการก้าวเข้าสู่การเป็น New Value Chain บนเวทีการค้าโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของ “เงินหยวนดิจิตอล” ที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนช่วยให้ “เงินหยวน” แข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลของธนาคารกลางทั่วโลก ที่ดูเหมือนว่าหลายชาติทำความเข้าใจเทคโนโลยีสกุลเงินดิจิทัลล่าช้าไปมาก

ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน “สกุลเงินดิจิทัล”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ไปแล้ว

 

ปัจจุบัน “จีน” ใช้ CBDC (Central Bank Digital Currency) ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ “จีน” ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดบทบาทการกำกับดูแลจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ

โดย “จีน” ได้นำ “เงินหยวนดิจิทัล” มาใช้จริงตั้งแต่เดือนเมษายนปี ค.ศ.2020 นำร่องใน 4 เมืองหลัก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารกลางทดสอบคุณภาพของระบบ และขยายไปยัง 28 เมืองใหญ่ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ.2020

จากเป้าหมาย ให้มีการใช้ “เงินดิจิทัล” อย่างแพร่หลายในประเทศ ช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.2023 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ หาก “จีน” สามารถตีตลาดสกุลเงินดิจิทัล และตอบสนองต่อความต้องการในการใช้เงินดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จะทำให้ “จีน” เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าแรกของโลก

ความดึงดูดของสกุลเงินดิจิทัล CBDC อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อ “ค่าเงินหยวน” ที่จะเพิ่มมากขึ้น และขยับเข้าใกล้การเป็น “สกุลเงินสำรอง” ทั่วโลก

ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัลจะมุ่งเน้นไปที่เสถียรภาพของมูลค่าสกุลเงิน ซึ่งออกโดยธนาคารกลาง ที่สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ และซื้อขายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความถูกต้องมากกว่าการใช้เงินสด

ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว CBDC จะช่วยเพิ่มความสามารถของรัฐบาลในการป้องกัน และตรวจสอบการฉ้อโกง รวมถึงอาชญากรรมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลระหว่างประเทศได้ทันที

เป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมการระดมทุนจากภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาและบรรดาชาติพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี ที่ได้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้รัฐบาลจีนพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา “จีน” ได้เปิดตัวพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับการเพิ่มบทบาทของ “เงินหยวน” ในตลาดทุนทั่วโลก ที่จะส่งให้ “จีน” มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง

นำไปสู่การกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในตลาดได้เพิ่มมากขึ้น

ประกอบการโครงการ One Belt One Road หรือ BRI (The Belt and Road Initiative) ที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญในการถือครอง “เงินหยวน” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านโครงการ BRI

จะเห็นได้ว่า “นโยบายหยวนครองโลก” เป็นการท้าทายประเทศมหาอำนาจอื่นๆ นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ใหม่ ในเวทีการเมืองระดับสากล

เพราะหากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ก็จะเกิดความต้องการสินค้าของ “จีน” เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

จากการวิเคราะห์ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า “จีน” กำลังเร่งส่งเสริมการใช้ “เงินหยวน” ในวงกว้าง ทั้งการเปิดตลาดตราสารหนี้ในประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และการออกใบกำกับสินค้าโดยใช้สกุล “เงินหยวน” หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการทำการค้าโดยใช้ “เงินหยวน”

ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มการใช้ “สกุลเงินหยวน” ในภูมิภาค และทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกๆ ที่มีการแปลงสกุลเงินในประเทศให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

 

บทสรุปของบทความก็คือ ขนาดของเศรษฐกิจ และนโยบายการค้าใหม่ของจีน ส่งผลให้ปริมาณการใช้สกุลเงิน “หยวน” บนเวทีการค้าโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ผู้สันทัดกรณีทางเศรษฐศาสตร์ต่างพากันการคาดการณ์ว่า “ค่าเงินหยวน” จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายมาเป็น “สกุลเงินสำรองชั้นนำ” ของโลกเร็วกว่าที่คาดไว้

อ่านถึงตรงนี้แล้ว แฟนมติชนสุดสัปดาห์ คงเห็นว่า นี่ไม่ใช่การกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด