ความพ่ายแพ้ ของฝ่ายขวาจัด

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ความพ่ายแพ้

ของฝ่ายขวาจัด

 

“ลัทธิอนุรักษนิยมมักจะช่วยอนุรักษ์ในสิ่งที่ผิดๆ ส่วนลัทธิเสรีนิยมมักจะช่วยผ่อนคลายหลักการเดิมๆ”

T. S. Eliot (1888-1965)

 

การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในสังคมไทย และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศ การต่อสู้เช่นนี้นำไปสู่การนิยามความเป็น “ซ้าย-ขวา” ในการเมืองไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การจำแนกเช่นนี้มีบริบทของเวลาและสถานการณ์เป็นปัจจัยสำคัญด้วย มิใช่เกิดขึ้นโดยอยู่นอกเหนือจากปัจจัยสภาวะแวดล้อม

กล่าวคือ การกำหนดเช่นนี้เป็นผลจากทั้งในเรื่องของปัจจัยภายนอกและภายในของสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

 

ความเปลี่ยนแปลง

ในยุคสงครามเย็น ความเป็น “ฝ่ายซ้าย” อาจมีนัยถึงกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองในแบบพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น “ฝ่ายขวา” จึงมีความหมายกว้างครอบคลุมไปทั้งที่เป็นพวกเสรีนิยม และพวกอนุรักษนิยม เพราะชุดความคิดทางการเมืองของสองกลุ่มนี้อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีรายละเอียดในการจำแนกมากกว่านี้ หรืออาจกล่าวในทางอุดมการณ์ได้ว่า “สเปกตรัม” ของชุดความคิดทางการเมืองอาจมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันไป แต่โดยพื้นฐานทางความคิดแล้ว อาจจำแนกได้อย่างหยาบๆ เช่นที่กล่าวในข้างต้น

แต่หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น และการสิ้นพลังของ “ลัทธิมาร์กซ์” ซึ่งเห็นได้จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พร้อมกับการปรับตัวของจีน ที่มีการนำเอาลัทธิทุนนิยมมาใช้ภายใต้การควบคุมของรัฐ (พรรคคอมมิวนิสต์)

ภาวะเช่นนี้ทำให้ “บริบททางการเมือง” ของความเป็นซ้าย-ขวาในแบบเดิม เป็นสิ่งที่นำมาใช้ไม่ได้ เพราะความเป็นซ้ายในแบบเดิมได้เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับที่ความเป็นขวาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นผลอย่างสำคัญจากการเมืองโลก ที่แต่เดิมของยุคสงครามเย็นเป็นการปะทะทางอุดมการณ์ระหว่าง “เสรีนิยม vs คอมมิวนิสต์” แต่เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องสิ้นพลังลงนั้น ระบอบการปกครองของจีนที่แม้จะมีการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในแบบเดิม และยังความเป็นระบอบอำนาจนิยมไว้

เช่นที่รัสเซียซึ่งสืบทอดต่อจากสหภาพโซเวียต แม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในความเป็น “ยุคหลังโซเวียต” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หากนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบไฮบริด” หรือเป็นการเมืองแบบพันทางที่ยังคงความเป็นระบอบอำนาจนิยมไว้ได้ต่อไป

ภาวะเช่นนี้ทำให้การต่อสู้ของชุดความคิดทางการเมืองในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องระหว่าง “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม” หรือเป็นเรื่องของ “ประชาธิปไตย vs อำนาจนิยม”

ดังนั้น ในสถานการณ์ใหม่ ฝ่ายขวาจึงกลายเป็นพวกอำนาจนิยม และฝ่ายซ้ายดูจะกลายเป็นพวกประชาธิปไตยเสรีนิยมไปโดยปริยาย

 

บริบทไทย

การจำแนกฝ่ายทางการเมืองดังที่กล่าวอาจนำมาปรับใช้กับการเมืองไทย แน่นอนว่าฝ่ายขวาในบริบทการเมืองไทยปัจจุบันฝ่ายอำนาจนิยม เห็นได้ชัดจากทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร และการปกครองของระบอบทหาร

หรืออาจจะมองในอีกมุมหนึ่งว่า กลุ่มอำนาจนิยมในบริบทการเมืองไทยก็คือ ปีกขวาสุดของฝ่ายอนุรักษนิยมนั่นเอง

ในขณะที่ฝ่ายซ้ายมีท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตย และระบอบการปกครองที่เป็นเสรีนิยม แต่ในความเป็นจริงของชุดความคิดทางการเมืองนั้น ความเป็นอนุรักษนิยม และความเป็นเสรีนิยม มีสเปกตรัมเป็นความเข้มข้นที่จำแนกได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม การจัดเช่นนี้เป็นการจำแนกในแบบที่หยาบที่สุดของความเป็น “ซ้าย-ขวา” ก็เพื่อให้เห็นการแยกคนออกเป็น 2 ฝ่ายในการเมืองไทย ซึ่งการเมืองในหลายประเทศก็ใช้วิธีจำแนกเช่นนี้ เพื่อให้เกิดความง่ายในการมองจุดยืนของพรรคการเมืองในแต่ละฝ่าย

เส้นแบ่งของเวลาในการเมืองไทยที่อาจจะนำมาจัดกลุ่มคน โดยมองผ่านความขัดแย้งในการเมืองไทยในช่วงปี 2548 รัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยเหตุการณ์การเมืองจนถึงรัฐประหาร 2557 นั้น จะเห็นถึงการแยกคนในสังคมออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน คือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งการจำแนกที่ไม่ซับซ้อนคือ ฝ่ายขวาโดยเฉพาะปีกขวาจัดไม่นิยมประชาธิปไตย และยังแสดงการต่อต้านอย่างชัดเจนด้วย

ถ้าเป็นการเมืองแบบเก่า ฝ่ายขวาจัดพร้อมทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งต่อการรัฐประหาร แต่เมื่อต้องเข้าสู่การเมืองแบบเปิดแล้ว ฝ่ายขวาเหล่านี้พร้อมจะเป็นกองเชียร์ที่เข้มแข็งให้แก่ผู้นำรัฐประหารเดิม เพราะการมองประชาธิปไตยด้วยทัศนคติเชิงลบ และเชื่อมั่นในความสามารถของผู้นำทหาร อีกทั้งต้องการให้พรรคทหารได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ท่ามกลางความขัดแย้งในการเมืองไทยในปี 2548 สังคมถูกแบ่งออกเป็นค่ายทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยมี “สงครามสีเสื้อ” เป็นภาพแทน จนอาจกล่าวได้ว่า “แดงเป็นซ้าย เหลืองเป็นขวา”

แน่นอนว่า ฝ่ายขวาสนับสนุนการรัฐประหาร 2549 แต่แล้วการยึดอำนาจถูกมองว่า “เสียของ” เนื่องจากพรรคการเมืองที่ถูกโค่นล้มด้วยการยึดอำนาจในครั้งนั้น ชนะการเลือกตั้ง และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งอย่างที่พวกเขาคาดไม่ถึง

อาการ “เสียของ” ในทางการเมือง เป็นจุดสำคัญที่ทำให้บรรดาฝ่ายขวาจัด ซึ่งไม่ตอบรับในเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย และการเมืองในระบบรัฐสภา ตัดสินใจกลับไปสู่การทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า รัฐประหารครั้งนี้มีการเตรียมการมาล่วงหน้าทั้งในทางการเมืองและการทหาร มีการเชื่อมต่อระหว่างแกนนำในการประท้วงกับผู้นำทหารอย่างใกล้ชิด

พร้อมกับมีการสร้างเครือข่ายมวลชนสาย “รัฐประหารนิยม” ให้เกิดในวงกว้างของสังคมไทย

เราคงต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2557 มีกระบวนการคิดและการเตรียมการมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ก่อนที่การตัดสินใจสุดท้ายจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 22 พฤษภาคม กล่าวคือ ผู้นำทหารที่เข้าร่วมก่อการ และกลุ่มผู้นำสายขวาจัดที่เปิดการเคลื่อนไหวบนถนน ภายใต้สัญลักษณ์ “ธงชาติและนกหวีด” นั้น มั่นใจในชัยชนะของพวกเขาอย่างไม่มีข้อสงสัย…

การเตรียมการทุกอย่างพร้อมหมด ม็อบบนถนนเปิดการเคลื่อนไหวสร้างกระแสจน “สุกงอม” รอเพียงการประกาศยึดอำนาจอย่างเป็นทางการเท่านั้น

การสร้างกระแสต่อต้านประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหาร อีกทั้งมีการเตรียมการสำหรับการเมืองหลังการยึดอำนาจเป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐประหาร 2557 จะไม่หวนสู่ภาวะ “เสียของ” เช่นหลังรัฐประหาร 2549

ผู้นำรัฐประหารที่ผนึกกำลังเข้าร่วมกับกลุ่มขวาจัดในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ ผู้นำพลเรือนปีกขวาในสายต่างๆ โดยมีความสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งในยุคปัจจุบันอาจต้องเรียกว่า “โอลิการ์กไทย” ทั้งยังมีองค์กรอิสระทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญอีกด้วย การกำเนิดของรัฐบาลทหาร 2557 จึงเป็นความพร้อมอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ “เสียของ” ในทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การเตรียมการเช่นนี้ช่วยให้ระบอบรัฐประหารดำเนินไปได้อย่างดี และปูทางไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งมีนาคม 2562 อันเป็นการตอกย้ำว่า รัฐประหาร 2557 ไม่ “เสียของ” อย่างแน่นอน เพราะเมื่อเลือกตั้งแล้ว ผู้นำรัฐประหารคนเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการจัดตั้ง “พรรคทหาร” เช่นอดีตผู้นำรัฐประหารไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอมในยุคก่อน

แต่การอยู่ในอำนาจภายใต้เงื่อนไขของระบบรัฐสภา ที่แม้อำนาจหลายส่วนยังอยู่ในมือของผู้นำรัฐประหารเดิม แต่กระบวนการของระบบรัฐสภาไม่ใช่การเมืองแบบ “เบ็ดเสร็จ” ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร

 

จากเลือกตั้ง 2562 สู่เลือกตั้ง 2566

การเมืองในระบบรัฐสภาหลังเลือกตั้ง 2562 มีพลวัตในตัวเอง แม้ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” จะสร้างความเป็น “ระบอบไฮบริด” ให้เกิดในการเมืองไทย แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะควบคุมทุกอย่างได้ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะผลของปัจจัย 3 ประการหลัก คือบทบาทของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของมวลชนหลายภาคส่วนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล และบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองทางการเมืองต่างจากฝ่ายรัฐและกลุ่มชนชั้นนำ

บทบาททั้ง 3 ส่วนเช่นนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยการมาของโลกโซเชียลและสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังถูกท้าทายอย่างมากจาก “ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ชุดที่ใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบันคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และยังถูกท้าทายซ้ำจาก “ปัญหาความมั่นคงทางทหาร” ชุดที่รุนแรงที่สุดของโลกยุคปัจจุบันคือ วิกฤตการณ์สงครามยูเครน และการกำเนิดของ “สงครามเย็นใหม่” ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตสืบเนื่องตามมาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร ค่าครองชีพ และการขยายตัวของความยากจน

แต่ดูเหมือนว่าในสายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคมแล้ว รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งของผู้นำรัฐประหารดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก โดยเฉพาะการจัดการทางเศรษฐกิจ ที่แม้จะมีการผลักดันโครงการประชานิยมขนาดใหญ่หลายโครงการในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ก็ดูจะไม่สามารถผูกใจคนได้มากอย่างที่หวัง

ข้อวิจารณ์ถึง “9 ปีแห่งความยากจน” และ “การเอื้ออาทรต่อทุนใหญ่” เช่น ปัญหาพลังงานเป็นประเด็นที่คนมีความเห็นร่วมกันอย่างมาก และสะท้อนในอีกมุมหนึ่งว่า รัฐบาลปีกขวาอ่อนพลังลง จนต้องพยายาม “ก่อกระแสขวาจัด” ให้ได้

ฉะนั้น หากพิจารณาตัวเลขจากผลโพล จะเห็นได้ว่าสัดส่วนเสียงที่พรรคฝ่ายค้านได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ่งสำรวจ ยิ่งเห็นถึงสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ในทางตรงข้าม การเพิ่มเช่นนี้มีนัยถึงการลดลงของพรรคฝ่ายขวา โดยเฉพาะพรรค พปชร. และพรรค รทสช. โพลชี้ให้เห็นว่า พรรคทหารและผู้นำทหารขายไม่ออก!

ผลโพลชี้ชัดว่า 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 นั้น เป็นอาการ “เสียของ” อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ตามที่ฝ่ายขวาจัดต้องการ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับกระแสประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากขึ้น

ดังนั้น หากมองกระแสการเมืองในโพลและพิจารณาจากผลการเลือกตั้ง 2566 จะเป็นคำตอบในตัวเองว่า รัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยที่จะสร้างชัยชนะได้อย่างมั่นคง… ทำอีกก็ “เสียของ” อีก และโพลรวมถึงผลของการเลือกตั้งส่งสัญญาณชัดเจนอีกว่า ฝ่ายขวาจัดอยู่ในอาการถดถอย จนอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาแพ้ประชามติ

แต่ก็ไม่ได้บอกว่า พวกเขาหมดพลัง จนก่อกระแสเคลื่อนไหวอีกไม่ได้!