ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ยก “ศูนย์เรียนรู้บ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย”เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ยก “ศูนย์เรียนรู้บ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย” เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมุ่งขยายผลขับเคลื่อนในทุกอำเภอ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (13 พ.ค. 66) นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จังหวัดร้อยเอ็ดให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยพร้อมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมเป็นประธานสักขีพยาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้ดำเนินการขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านโพนฮาด หมู่ที่ 12  ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนทั้ง 20 อำเภอ ๆ ละ 1 ตำบล รวม 20 ตำบล ด้วยการใช้กระบวนการพัฒนาให้ตำบลเข้มแข็ง เริ่มจากกระบวนการพัฒนาผู้นำชุมชน ประกอบด้วย ผู้นำที่เป็นทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำกลุ่มองค์กร ปราชญ์ชาวบ้าน ให้มีศักยภาพ มีความสามารถ เป็นผู้นำจิตอาสา  เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำเป็นแบบอย่าง ให้ประชาชนในชุมชนได้เห็นและทำตาม เช่น การปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่งคงด้านอาหาร การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม

“สำหรับชุมชนบ้านโพนฮาด หมู่ที่ 12 ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย มีจุดเริ่มต้นจากปราชญ์ชาวบ้าน คือ 1) คุณพ่อแสวง มะโนลัย ได้ริเริ่มทำเกษตรผสมผสานจนเป็นศูนย์เรียนรู้ และมีการขยายผลไปทุกครัวเรือน และ 2) นางหอมจันทร์ บุญครอง แพทย์ประจำตำบลดงครั่งน้อย ทำโคกหนองนา 3 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ชุมชนดงครั่งน้อย ปลูกผักรอบบริเวณหนองฮาดเนื้อที่ 19 ไร่ ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณสองข้างทางตามพระราชดำริ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ปลูกบริเวณหัวไร่ปลายนา ทุกครัวเรือน มีการแปรรูปจากผัก แปรรูปจากข้าวหอมมะลิ ฯลฯ ทำให้สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้ถัวเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาทต่อครัวเรือน และบางครัวเรือนมีรายได้ 20,000 – 30,000 บาทต่อเดือน  นอกจากการปลูกผักสวนครัวแล้ว ยังมีการทำถังขยะเปียก การทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการแบ่งปันในชุมชน การจัดสวัสดิการ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกันในชุมชน และทุก ๆ ด้าน ส่งผลให้ชุมชนโพนฮาดมีความเข้มแข็ง” นายทรงพลฯ กล่าวในช่วงต้น

นายทรงพล ใจกริ่ม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้นำโมเดลการพัฒนาบ้านโพนฮาด หมู่ที่ 12 ตำบลดงครั่งน้อยซึ่งเป็น “หมู่บ้านต้นแบบ” ขยายผลไปทุกหมู่บ้านในตำบล และขยายผลไปทุกอำเภอ และทุกตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินการขับเคลื่อนตามเกณฑ์ชี้วัดตำบลเข้มแข็งของกรมการพัฒนาชุมชน โดยบูรณาการการทำงานกับ 7 ภาคีเครือข่ายประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน มีการจัดทำคลิปประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และมีการติดตามผลการดำเนินงาน ทั้งระดับจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และระดับอำเภอโดยนายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอตามเกณฑ์ชี้วัด ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งถ้าทุกชุมชนมีความเข้มแข็งแล้ว จะทำให้ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป