คณะทหารหนุ่ม (40) | การถ่ายอำนาจการเมืองจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นพล.อ.เปรม

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

“ผู้อพยพลี้ภัยอินโดจีน” โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ บันทึกข้อมูลผู้อพยพกัมพูชาไว้ว่า สามารถแบ่งได้เป็น 3 พวกคือ

พวกแรก ได้แก่ ชาวกัมพูชาที่หลบหนีระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2518 โดยมีจำนวนสูงสุดในปี 2521 จำนวน 15,173 คน ต่อมาได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 จนหมดสิ้น

พวกที่ 2 ได้แก่ ชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้ามาหลังจากที่เวียดนามยึดกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2522 โดยหลบหนีเข้ามาประมาณแสนคน ส่วนใหญ่ได้เดินทางไปประเทศที่ 3 แล้ว

พวกที่ 3 ได้แก่ ชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้ามาอาศัยในบริเวณชายแดนไทยเมื่อทหารเวียดนามได้ทำการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านครั้งใหญ่ในปลายปี 2527 มีจำนวนราว 370,000 คน

 

ปัญหามนุษยธรรม

ปลายปี พ.ศ.2521 เมื่อเวียดนามยกทัพมารุกรานเขมรแดงจนเกิดปรากฏการณ์อพยพหนีภัยครั้งใหญ่ของชาวกัมพูชานั้น รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังไม่มีมติรับผู้อพยพชาวกัมพูชา หากแต่สภากาชาดไทยที่มีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นองค์สภานายิกา แสดงความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ชาวกัมพูชาจำนวนมากอพยพหนีตายข้ามชายแดนเข้ามาบริเวณบ้านเขาล้าน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จนเกินความสามารถของจังหวัด และเนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดรับผู้อพยพ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดจึงมีหนังสือขอความช่วยเหลือมายัง ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ เลขาธิการสภากาชาดไทย

ความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งให้เร่งระดมสรรพกำลังของสภากาชาดไทยนำสิ่งของพระราชทานลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพทันที และในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ลงพื้นที่บ้านเขาล้านและทรงมีรับสั่งกับข้าราชการในท้องที่ให้สร้างที่พักรองรับผู้อพยพที่เจ็บป่วย

รวมทั้งทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สภากาชาดไทยที่บ้านเขาล้านอย่างเร่งด่วนภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ค่ายนวมินทราชินี (ทหารเสือราชินี) จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปช่วยเหลือผู้อพยพที่ อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี อีกด้วย

มีเรื่องเล่าจากความทรงจำของท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปรากฏในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล มีความตอนหนึ่งว่า

ข่าวชาวกัมพูชาลอยเรืออยู่กลางทะเลนอกชายฝั่ง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งให้คุณหญิงมนัสนิตย์เร่งประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยด่วน แต่นายกรัฐมนตรีกลับบอกจะนำเรื่องเข้า ครม.ในวาระต่อไป คุณหญิงจึงโทรศัพท์ไปยังแม่ทัพเรือก็ได้รับการยืนยันว่า

“รัฐบาลมีจุดยืนเช่นนี้ ท่านสั่งให้ออกเรือไปรับเขมรอพยพไม่ได้ เว้นแต่คุณหญิงจะอยู่บนเรือ”

ตลอดปี พ.ศ.2522 ขณะที่ “ภัยจากนอกประเทศ” ณ ชายแดนด้านตะวันออกส่งสัญญาณอันตรายมากยิ่งขึ้น ชาวกัมพูชาทะลักหนีข้ามพรมแดนตะวันออกเข้าสู่ไทยมากยิ่งขึ้น โดยมีทหารเวียดนามเหนือไล่ติดตามกดดันจนมาประชิดชายแดนไทย

การเมืองภายในประเทศของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ยิ่งยุ่งยากและไร้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คณะทหารหนุ่มเข้าสภา

22 เมษายน พ.ศ.2522 มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อปลายปี พ.ศ.2521 และวันเดียวกันนี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่หลังการยึดอำนาจเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2521 ก็ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 225 คน

มีสมาชิกคณะทหารหนุ่มซึ่ง ณ บัดนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ จปร.7 เท่านั้น รวมอยู่ด้วยถึง 18 คน ซึ่งส่วนใหญ่เติบโตขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับผู้บังคับการกรม หรือรองผู้บังคับการกรม ทำให้มีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้น ดังมีรายนามตามลำดับอักษรดังนี้

พ.ท.จำลอง ศรีเมือง พ.อ.ชาญบุญ เพ็ญตระกูล พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ พ.อ.ทวีวิทย์ นิยมเสน พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี พ.อ.บวร งามเกษม พ.ท.บุญยัง บูชา พ.อ.บุญศักดิ์โพธิ์เจริญ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.ปรีดี รามสูตร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พ.ท.มนูญ รูปขจร พ.อ.วรวิทย์ วิบูลย์ศิลป์ พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา พ.ท.สกรรจ์ มิตรเกษม พ.ท.สาครกิจ วิริยะ พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ และ พ.ท.ม.ร.ว.อดุลเดช จักรพันธุ์

การมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่มทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีความมั่นใจในฐานอำนาจของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

 

รัฐบาล “เกรียงศักดิ์ 2”

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องลงแข่งขันในนามของ “กลุ่มพรรค”

“กลุ่มพรรคกิจสังคม” ได้รับเลือกตั้ง 82 เสียง กลุ่มพรรคชาติไทย 38 เสียง กลุ่มพรรคประชากรไทย 32 เสียง กลุ่มพรรคเสรีธรรม 22 เสียง และผู้สมัครอิสระ 55 เสียง รวมจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 301 เสียง

ทุกกลุ่มพรรคต่างตระหนักดีว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะอยู่ในอำนาจเป็นเวลา 4 ปีตามบทเฉพาะกาล ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีความมั่นใจฐานเสียง ส.ว.ที่ตนแต่งตั้งในวุฒิสภา จึงเห็นว่า รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยตนยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องได้เสียง ส.ส.จากการเลือกตั้งเกินครึ่ง แต่รวมกันสองสภาเกินครึ่งก็พอเพียงแล้ว จึงไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

การไม่ให้ความสำคัญกับนักการเมืองจากการเลือกตั้งของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มพรรคกิจสังคมที่ได้จำนวน ส.ส.ถึง 82 เสียงมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรค

เมื่อประกาศจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มพรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มากที่สุด 4 อันดับแรกไม่มีกลุ่มใดได้เข้าร่วมรัฐบาลเลย

ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคณะรัฐบาลใหม่ที่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ได้อำนาจยาก
แต่รักษาอำนาจยากกว่า

พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ ยุทธการยึดเมือง” โดย พ.ท.รณชัย ศรีสุวนันท์ บันทึกปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองของรัฐสภาในยุคเกรียงศักดิ์ 2 ไว้ดังนี้

“ในช่วงปลายปี 2522 ต่อ 2523 นั่นเอง ได้มีกระแสต้านต่อรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลได้ประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์การขึ้นค่าน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนั้น มีรัฐมนตรีบางนายที่ทางกลุ่มทหารหนุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสม และทางกลุ่มได้เคยเสนอผ่านตัวประสานงานขอให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ”

“การเดินเกมจะเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลก็เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ได้มีการเดินหมากกันอย่างแยบยลในการที่จะถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่ใช่ด้วยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร แต่เป็นไปตามกฎหมายโดยทางรัฐสภา”

“และเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการกระทำจากกลุ่มทหารหนุ่มแต่เพียงกลุ่มเดียว”