จิตร ภูมิศักดิ์ ตรวจสอบหลักฐาน พบเมืองอโยธยา เก่ากว่าสุโขทัย

“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” เป็นตำนาน “เพิ่งสร้าง” สมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ไม่นานนี้ โดยไม่มีหลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีรองรับสนับสนุน แต่ถูกยัดเยียดครอบงำให้เชื่ออย่างเชื่องๆ ถ้าไม่เชื่อต้องถูกใส่ร้ายเป็น “คอมมิวนิสต์” (สมัยสงครามเย็น) มีโอกาสติดคุกถูก “ขังลืม”

นักโบราณคดีไทยปฏิเสธตำนานอย่างหัวชนฝา แล้วไม่ยอมรับพระราชพงศาวดารเหนือซึ่งมีเรื่องเล่ากำเนิดเมืองอโยธยาว่าเหลวไหล แต่ยอมรับตำนานใหม่ “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก” อย่างศิโรราบ

อโยธยาเป็นศูนย์กลางใหม่ของละโว้ เมื่อเรือน พ.ศ.1600 พบข้อความในพงศาวดารเหนือ ซึ่งเรียบเรียงสมัยอยุธยาในแผ่นดินพระนารายณ์ฯ (โดยประมาณ) ประกอบด้วยตำนานปนกันหลายเรื่อง

ตำนาน คือเรื่องราวความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์แบบหนึ่งที่เรียบเรียงจากเรื่องเล่าในความทรงจำของผู้คนในสังคมที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร “เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก” ดังนั้น ถ้าใช้งานต้องมีการตรวจสอบและประเมินค่าของตำนานเป็นเรื่องๆ ไป ไม่เชื่อทั้งหมด แต่ไม่ทิ้งทั้งหมด

 

อโยธยา โดย จิตร ภูมิศักดิ์

เมืองอโยธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา) มีแล้วตั้งแต่ พ.ศ.1599 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบอกไว้ในหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ.2547 หน้า 61-74) เท่ากับเมืองอโยธยาเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัยมากกว่า 100 ปี (ดังนั้น สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกไม่ได้)

จิตร ภูมิศักดิ์ บอกอีกว่ามอญกับพม่าเรียกอโยธยาอย่างรวมๆ ว่า “ออระซา” เป็นพวกขอม (ซึ่งในคำของมอญและพม่าเรียก กรอม, คฺยวน) จะคัดอย่างสรุปรวมๆ มาดังนี้

พงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) ฉบับพิมพ์ภาษามอญที่ปากลัด พ.ศ.2453 (สุธรรมวดีราชวงศ์) ในตอนต้น มีกล่าวถึงพวก กรอม (โกฺรํ) ยกทัพไปตีกรุงสุธรรมวดีในสมัยพระเจ้าอุทินนะ พ.ศ.1599. กรอมยกกำลังไปมาก, พระเจ้าอุทินนะต้องส่งทูตไปขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์พะม่ากรุงอริมันทนะปุระ. พงศาวดารเล่าเรื่องสงครามไว้ยืดยาว, ลงท้ายพวกกรอมก็พ่ายกลับไป.

พงศาวดารพะม่าฉบับหอแก้ว (หมันนันยาซะวิน) ซึ่งเป็นเอกสารของฝ่ายพะม่า มีจดเรื่องเดียวกันนี้ไว้ในรัชกาลพระเจ้าอโนรทา แต่ไม่ระบุศักราช. พงศาวดารจดว่าในสมัยพระเจ้าอโนรทา มีพวกคฺยวนยกทัพไปตีเมืองพะโค (มอญ) พะม่ายกทัพไปช่วยป้องกันเมือง และจับเป็นแม่ทัพคฺยวนไว้ได้สี่คน คือ : ออกพระราน, ออกพระแร, ออกพระโบน และออกพระแปก. พงศาวดารตอนนี้ถึงจะไม่จดศักราช ก็รู้ชัดว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่พงศาวดารมอญจดไว้ เพราะพระเจ้าอุทินนะของมอญนั้นเป็นกษัตริย์ร่วมสมัยกับพระเจ้าอโนรทาของพะม่า, และ พ.ศ.1599 นั้นก็อยู่ในกลางรัชกาลพระเจ้าอโนรทา.

ศิลาจารึกพะม่า ยืนยันว่าเป็นเรื่องแน่นอน. ตามพงศาวดารพะม่าและมอญ

จารึกพะม่า ณ สักกาลัมปะเจดีย์ มีตอนหนึ่งกล่าวว่า :

“ศักราช 418 (พ.ศ.1599) พระเจ้าสิริตริปวรธัมมราชาธิปติโนรตา (พระเจ้าอโนรทา) กลับจากทำสงครามกับพวกทหารคฺยวม แล้วได้ทรงสร้างคูหเจดีย์ขึ้น”

เป็นประมวลได้ชัดเจนว่า ใน พ.ศ.1599 มีกองทัพกรอม/คฺยวม/คฺยวน ยกไปตีเมืองสะเทิมของมอญสมัยพระเจ้าอุทินนะ และพระเจ้าอโนรทาแห่งพุกามยกทัพมาช่วยป้องกันเมือง.

พวก กรอม/คฺยวม/คฺยวน นี้จะเป็นใคร, ข้อนี้ถกเถียงกันมาก.

แต่คำตอบก็มีอยู่ในพงศารดารพะม่าฉบับหอแก้วนั้นเอง. พงศาวดารพะม่าฉบับหอแก้วมีจดอาณาเขตประเทศพะม่าสมัยพระเจ้าอโนรทาไว้ว่า ทางทิศตะวันออกจรดแดนประเทศปิงกะ, ทางตะวันออกเฉียงใต้จรดแดนประเทศของชาวคฺยวน หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า อรอซะ. อีกแห่งหนึ่งจดเขตประเทศ ใน พ.ศ.1632 เมื่อครั้งพระเจ้าอลองชัยสุระ (อลองสิตู) ประสูติ ว่าทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดเขตประเทศของชาวคฺยวน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า อโยชะ.

ประเทศทางตะวันออกที่เรียกว่า ปิงกะ นั้นคือ พิงคะ, เป็นชื่อแบบบาลีของแม่น้ำปิงหรือพิง (แม่น้ำพิงนั้น ไทยพายัพออกเสียง ปิง, และ พิงคะ ออกเสียง ปิงกะ), ประเทศปิงกะจึงได้แก่บ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำปิงในยุคนั้น.

ส่วนประเทศของชาวคฺยวนทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบอกไว้ว่ามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อรอซะ/อโยชะ นั้นแน่นอน หมายถึง อโยชชะ อันเป็นรูปบาลีของชื่ออโยธยา ซึ่งเราได้พบเรียกในตำนานภาษาบาลีของไทยอยู่บ่อยๆ,

ในจารึกภาษาบาลีบนลานทองซึ่งพบในปรางค์มหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี จารึกในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏว่าใช้คำ อโยชชะ. และยังมีบางตำนานใช้ว่า อโยชฌิยา อีกด้วย. คำที่พะม่าเขียน อรอซะ นั้นก็มีค่าเท่ากับ อโยชะ ที่เขียนไว้อีกแห่งหนึ่งนั่นเอง, ทั้งนี้เพราะพะม่าออกเสียง ร เป็น ย

เมื่อเช่นนี้ กรอม/คฺยวม/คฺยวน ที่ยกไปตีเมืองสะเทิมใน พ.ศ.1599 ก็คือ ขอมจากแคว้นอโยธยา นั่นเอง.

[จากหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547)

เมืองอโยธยามีแล้วตั้งแต่ พ.ศ.1599 พบข้อความหลักฐานในหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547)

สมเด็จฯ ยกย่องตำนาน แต่นักโบราณคดีไทยรังเกียจ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างพงศาวดารเหนือและตำนานโยนก ว่าอโนรทากษัตริย์เมืองพุกามตีได้เมืองลพบุรี (คือละโว้) และเมืองทวารวดี (คือนครปฐม)

“เมื่อ พ.ศ.1600 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชกษัตริย์ซึ่งครองประเทศพม่าตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองพุกาม เจริญอานุภาพปราบปรามประเทศรามัญไว้ในอำนาจ แล้วขยายอาณาเขตเข้าถึงประเทศลานนา (คือจังหวัดทางพายัพบัดนี้) ลงมาถึงเมืองลพบุรี และเมืองทวารวดี”

นักโบราณคดีไทยเชื่อถือจดจำเรื่องราวตอนนี้เป็นคัมภีร์สำคัญไม่เสื่อมคลายตั้งแต่บัดนั้น (พ.ศ.2469) จนบัดนี้ (พ.ศ.2566)

ครั้นเรื่องเมืองอโยธยาที่มีมากในพงศาวดารเหนือ นักโบราณคดีไทยกลับปฏิเสธและด้อยค่าเมืองอโยธยา แสดงถึงความไม่อยู่กับร่องกับรอยและลักษณะ “สองมาตรฐาน” เป็นอันตรายต่อวิชาการ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหลักฐานอโยธยาทั้งเมืองที่กำลังจะถูกทำลายด้วย “ไฮสปีด เทรน” รถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ