ความเชื่อเรื่อง “เสามงคล” ของชาวล้านนา

เสัาม฿ง฿ค

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เสามงกน”

แปลว่า เสามงคล

เสา คือโครงสร้างหลักในการรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาหรือโครงสร้างพื้น สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างด้วยไม้ในล้านนาจะเริ่มก่อสร้างโดยการปักเสาลงดินหรือตั้งเสาบนตอม่อ

เสามงคล เป็นชื่อเรียกเสาต้นแรกที่ตั้งหรือปักขึ้น แล้วยึดประกอบกับเสาต้นที่สองที่สามต่อเนื่องกันไป เสามงคลนี้มีความสำคัญเป็น “เสาเอก” ตามที่รู้จักกันในสังคมไทย บางท้องที่เรียกว่า “เสาขวัญ” เสาที่ตั้งถัดไปจากเสาเอกเป็นต้นที่สองล้านนาเรียกว่า “เสานาง” ภาคกลางรู้จักอีกชื่อว่า “เสาโท”

หลังจากที่ปราชญ์ชุมชนได้ช่วยเลือกบริเวณจะสร้างเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สำคัญ โดยใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษที่สะสมความรู้จนเชี่ยวชาญและสั่งสอนสืบต่อกันมาหลายช่วงอายุ บางแห่งมีการบันทึกองค์ความรู้ในรูปแบบจารลงใบลานหรือเขียนลงปั๊บ (หนังสือ) ความรู้และจารีตในการเตรียมก่อสร้างอาคาร

มีพิธีกรรมเสี่ยงทายเลือกที่ตั้งอาคารโดยพิจารณาจากคุณลักษณะดิน เช่น สัณฐาน สี กลิ่น รส และความชื้น การเสี่ยงทายอาจแตกต่างกันบ้างตามท้องที่ เช่น การขุดโพรงดินเพื่อทดสอบการกักเก็บไข่ ใบไม้ ฯลฯ

ช่วงข้ามวันข้ามคืน พิธีกรรมที่สำคัญมากคือการตั้งเสามงคล ชะตาเกิดของเจ้าของเรือนหรืออาคารจะถูกนำมาพิจารณาในการประกอบพิธีกรรมการลงเสาเอก ชะตาเกิดของคนจะเกี่ยวข้องกับดวงดาวซึ่งสัมพันธ์กับธาตุทั้งสี่ ช่วงเวลาเกิดและเดือนปีก็เป็นส่วนประกอบในดวงชะตา

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับพญานาคเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนที่นำมาพิจารณาความเหมาะสมในการเลือกวัน เวลา และข้อปฏิบัติในการลงเสามงคล

ทิศเป็นอีกสิ่งที่สำคัญในการจัดเรียงตั้งแนวเสาอาคาร ซึ่งระบบการวางผังเสาอาคารจะสอดคล้องไปกับทิศทางการหันหน้าอาคาร หน้าเรือนในล้านนาให้ความสำคัญกับทิศใต้

รองลงมาคือทิศเหนือ ส่วนอาคารทางพุทธศาสนาที่มาภายหลังศาสนาผีเดิม ได้ให้ความสำคัญต่อการหันหน้าอาคารไปทางทิศตะวันออกเป็นอันดับแรก แต่มีข้อยกเว้นของการหันหน้าอาคารหลักทางพุทธศาสนาที่หันไปทางทางสัญจรหลัก เช่น แม่น้ำ หรือถนน

เสัาม฿ง฿คฯล์ได้แก่ต้นฯซ้ายฯฯสุด
เสามงคลได้แก่ต้นซ้ายสุด
เสามงคลเป็นเสาต้นแรกในสุดของห้องนอน ตำแหน่งหัวนอนพ่อเรือน
ถัดมาเสาต้นที่สองเป็นเสานาง ตำแหน่งหัวนอนแม่เรือน

พิธีกรรมตั้งเสามงคล เป็นการบอกกล่าวขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น เช่น แม่พระธรณี รุกขเทวดา พญานาค และเจ้าที่ รวมทั้งการสักการะและขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกปักคุ้มครองและช่วยให้มีความเป็นอยู่และชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ในล้านนาพิธีกรรมการตั้งเสาเอกอาคารมีการผสมผสานความเชื่อศาสนาผี พราหมณ์ และพุทธเข้าด้วยกัน มีการไหว้ผีเจ้าที่ ผีป่าเขาและแหล่งน้ำ

หลังจากนั้นจะทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ (พิธีบูชาพระอินทร์ เทวดาผู้เป็นใหญ่ทั้งสี่ทิศ และแม่พระธรณี) จากนั้นในยุคหลังนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์

เสามงคลมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเจ้าเรือนที่เป็นผู้นำครอบครัวเป็นอย่างมาก แสดงถึงสถานะของผู้นำและการทำหน้าที่ และทรงไว้ซึ่งผู้ที่ต้องเป็นที่เคารพเชื่อฟังสูงสุดของสมาชิกในครอบครัว

เสามงคลยังเป็นที่อัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาสิงสถิต นิยมทำห้องบูชาบนเสามงคลหรือสร้างหิ้งระหว่างเสามงคลและเสานาง เสามงคลกำหนดเป็นทิศหัวนอนเจ้าบ้าน ทางด้านซ้ายของเจ้าบ้านเป็นที่นอนของภรรยาซึ่งหันหัวตรงกับเสานาง

ด้วยเสามงคลเป็นเสาต้นแรกและอยู่ในห้องนอนส่วนที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดของเจ้าเรือนคืออยู่มุมด้านในสุดของห้อง

เสามงคลจึงเปรียบเป็นที่อยู่ของขวัญเขาเจ้าเรือนเช่นกัน •